Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙

Posted By Plook Magazine | 09 พ.ย. 59
12,266 Views

  Favorite

 

 

 

 

ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙
ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙

 

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ศิลปินในสาขาต่าง ๆ ได้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้มากมาย ทั้งในรูปแบบภาพถ่าย ภาพเขียน หนังสือ บทเพลง สารคดีโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ทุกผลงานล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระองค์ท่าน ผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นพระราชจริยวัตรอันงดงามหรือพระราชกรณียกิจอันหลากหลายเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย และนี่คือส่วนหนึ่งของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้น

 

 

ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙
ภาพโดย : นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา

 

 

ภาพถ่ายของในหลวงที่ทรงหันพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์ที่มีคนพูดถึงกันอย่างมากถึงความน่ารักของทั้งสองพระองค์ อ๊อฟ-นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา ผู้ช่วยผู้อำนวยการส่วนงานกลยุทธ์ธุรกิจสื่อใหม่ พีพีทีวี คือผู้บันทึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นไว้ได้

 

 

ครั้งแรกที่มีโอกาสบันทึกภาพพระองค์ท่าน

ตอนนั้นผมทำงานที่ศูนย์ภาพเนชั่น พอดีรู้ข่าวว่าจะมีงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เราก็อยากมีโอกาสสักครั้งหนึ่งที่ได้ถ่ายภาพในหลวง จึงเข้าไปขอหัวหน้า พี่เจา-ทวีชัย เจาวัฒนา บรรณาธิการศูนย์ภาพเนชั่น แล้วตอนนั้นเขาจัดช่างภาพไว้ด้านนอกพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้ว อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ กำลังหาช่างภาพเข้าไปเพื่อบันทึกภาพประวัติศาสตร์ครั้งนี้ โดยประสานงานกับพี่เจาก็เลยได้มีโอกาสเป็นตัวแทนสื่อเข้าไปถ่ายด้านใน ซึ่งก่อนหน้าระหว่างเตรียมงานมีการสื่อสารผิดพลาดบางส่วนคือเราใส่ชุดสูทสากล แต่ช่างภาพหรือทุกคนที่อยู่ในพระราชพิธีจะต้องใส่ชุดขอเฝ้า บังเอิญมีผู้ชายคนหนึ่งใส่ชุดขอเฝ้ามาพอดี เลยติดต่อขอยืมเสื้อแต่พี่เจาใส่ไม่ได้ ทุกคนเลยให้ผมใส่เข้าไปบันทึกภาพนี้แทน
 

พอเข้าไปด้านในปุ๊ปมันรู้สึกตื่นเต้นมาก อารมณ์เบบดีใจสุด ๆ เราก็สั่นไปหมดเลย แล้วก็ลองเช็คกล้องปรากฏว่าแบตเตอรี่เหลืออยู่สองขีด เริ่มเครียด เริ่มกดดันแล้วว่าครั้งแรกทำไมต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ จนท้ายที่สุดเดินเข้าไปยืมแบตฯ พี่ช่างภาพอีกคนหนึ่ง ซึ่งพี่เขาก็มีน้ำใจมากให้แบตฯ ก้อนนั้นกับเรามา พอพระองค์ท่านเสด็จมาประทับอยู่ด้านใน ก็จะเริ่มมีพระบรมวงศานุวงศ์มาบันทึกภาพประชาชน ออกมาตรงสีหบัญชร ตรงหน้าต่างหรือว่ายืนประทับทรงทอดพระเนตรออกมาด้านนอก เราก็รู้สึกประทับใจอยากเรกคอร์ดภาพนี้ไว้ให้เป็นภาพประวัติศาสตร์ ให้ประชาชนทั่วไปได้เห็น จนพระองค์ท่านเสด็จออกมาระหว่างที่พระองค์ท่านประทับรอการถวายพระพรจากข้าราชการต่าง ๆ บังเอิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จออกมาทรงถ่ายรูป ผมก็เลยกดเรกคอร์ดไว้ จนท้ายที่สุดใกล้จะเสร็จพิธีแล้ว พระองค์ท่านก็ทรงลุกขึ้นโบกพระหัตถ์ให้กับประชาชนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จ และมีสมเด็จพระราชินีออกมาประทับอยู่ข้าง ๆ แล้วทางหนังสือพิมพ์เนชั่นก็ตีพิมพ์เป็นภาพหน้าปก เราก็เลยเฮ้ย โอเค รู้สึกดีใจที่ภาพที่เราถ่ายแล้วประชาชนคนส่วนใหญ่ชอบ
 

 

ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙
ภาพโดย : นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา

 

 

รูปถ่ายที่ประทับใจ

ทุกรูปที่มีพระองค์ครับ แต่บังเอิญว่าสำหรับงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อาจจะเป็นพระอิริยาบถที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบ ก็เลยอาจจะโดดเด่นกว่างานอื่น จริง ๆ แล้วทุกงานที่พระองค์เสด็จถือว่าเป็นความประทับใจที่สุดแล้วสำหรับผม ที่ได้มีโอกาสไปถวายงานพระองค์ท่านไม่ว่าจะเสด็จไปที่ไหนก็ตาม

 

 

"ทุกงานที่พระองค์เสด็จถือว่าเป็นความประทับใจที่สุดแล้วสำหรับผม"
 

 

พระราชกรณียกิจที่ประทับใจ

ต้องบอกว่าทุก ๆ พระราชกรณียกิจของพระองค์ทำเพื่อประชาชนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถามว่าประทับใจอันไหนมากที่สุดเลือกไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่บนวิชาชีพของเราคือรู้สึกว่าพระองค์ท่านทรงเป็นอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ ภาพถ่ายของพระองค์ท่านทุกภาพต้องบอกว่าเป็นพระอัครศิลปินด้านการถ่ายภาพที่ถือว่าเป็นต้นแบบให้กับช่างภาพทั่วไป เพราะฉะนั้นพระองค์จะทรงมีหลากหลายมุมที่ถ่ายภาพออกมา เช่น ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่เป็นภาพพระหัตถ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง 4 หรือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระองค์ขณะทรงเป่าแตรหลวง ถามว่าเพราะอะไร เพราะว่าเราอยู่ในวิชาชีพนี้ เราชอบที่จะถ่ายภาพ ฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือเราจะเดินตามแนวทางนี้ยังไง
 

หัวใจของช่างภาพ

เราเป็นสื่อมวลชน ภาพที่เราถ่ายหรือว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดออกมามันต้องถูกเผยแพร่ เพราะฉะนั้นจะถ่ายแล้วเก็บไว้ดูคนเดียวไม่ได้ สิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้สึกประทับใจก็อยากให้คนอื่นประทับใจไปกับเราด้วย หัวใจของช่างภาพคือคนที่ดูรูปคุณแล้วมีความสุข หรือมีความหมายต่อภาพภาพนั้น

 

ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙
นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา

 


น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร

ถ้าจำไม่ผิดพระองค์เคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการให้ ซึ่งอันหนึ่งผมว่าเริ่มจากตัวเราครับ พระองค์ท่านอยากให้ประชาชนทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย เราจะทำยังไงให้เราเป็นประชาชนคนไทยเต็มรูปแบบที่ดีที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งจริง ๆ ผมได้เห็นจากงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เกี่ยวข้องกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดด้วยความลืม ความไม่พร้อมของผมเอง แต่สิ่งที่ได้รับคือน้ำใจหรือว่าการให้จากพี่ช่างภาพท่านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่กล้อง หรือว่าจากหัวหน้าช่างภาพที่ให้โอกาสเรา มันทำให้เราได้ภาพนั้นออกมา ซึ่งถ้าเราไม่ได้รับสิ่งนี้ เราอาจจะไม่ได้ภาพนี้ออกมาก็ได้ เพราะฉะนั้นการให้หรือความมีน้ำใจอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมันก็ทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นครับ
 

ส่งต่อเรื่องราวของพระองค์สำหรับคนในรุ่นต่อไปยังไงบ้าง

ผมเป็นแค่ฟันเฟืองเล็ก ๆ คนหนึ่งที่อาจจะช่วยได้ คือปัจจุบันนี้ในโซเชียลมีเดียเห็นอยู่แล้วว่าทุกคนได้พูดถึงพระองค์ท่านอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าประชาชนทุกคนช่วยกันออกมาพูดถึงพระองค์ท่านในสิ่งที่พระองค์ท่านพยายามทำเพื่อประชาชนมาตลอด 70 ปี ที่พระองค์ทรงครองราชย์ และทรงทำเพื่อประเทศไทยมากขนาดไหน อันนี้ผมถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่คนรุ่นหลัง ๆ อาจจะได้ศึกษาอ่านและได้เรียนรู้ อีกสิ่งหนึ่งก็คือสำหรับตัวผมเป็นผู้บันทึกภาพพระราชกรณียกิจ ได้มีโอกาสเข้าไปถวายงานพระองค์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อยากให้คนไทยรุ่นหลัง ๆ ได้เห็นว่ารัชกาลที่ 9 ของเรา ได้ทำอะไรเพื่อประชาชนคนไทยบ้าง และมีประชาชนที่รักพระองค์มากขนาดไหนครับ

 

"อยากให้คนไทยรุ่นหลัง ๆ ได้เห็นว่ารัชกาลที่ 9 ของเรา
ได้ทำอะไรเพื่อประชาชนคนไทยบ้าง และมีประชาชนที่รักพระองค์มากขนาดไหนครับ"

 

 

ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙
ภาพเขียนโดย : อุกฤษณ์ ทองระอา

 

 

จากจิตรกรที่เริ่มจากการเขียนภาพประกอบธรรมดา จนเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะ อุกฤษณ์ ทองระอา จิตรกรเมืองชล ซึ่งผลงานส่วนใหญ่จะเป็นภาพเหมือนบุคคลสำคัญหลากหลายแขนง หนึ่งในนั้นคือภาพเหมือนของในหลวง ด้วยความใส่ใจในรายละเอียดของภาพ และการจัดวางองค์ประกอบที่ลงตัว บวกกับเสน่ห์ของสีน้ำ จึงทำให้ภาพเขียนเหล่านั้นเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง

 

ทิศทางในการเริ่มต้นเขียนภาพ

ผมถามตัวเองแล้วว่าจะใช้ชีวิตในรูปแบบไหน คำตอบคือผมจะเป็นนักเขียนภาพประกอบ เขียนภาพเหมือน ผมมุ่งมั่นที่จะทำจุดนี้ให้เป็นงานศิลปะระดับสากล ตั้งแต่่ผมเริ่มเขียนรูปจนถึงปัจจุบัน คนที่ทำงานภาพประกอบต้องทำด้วยใจรัก และผมกำลังทำในสิ่งที่ผมรัก ผมมีความสุขของผม
 

มีหลักสำหรับเลือกการเขียนภาพบุคคลอย่างไร

ผมล้อมกรอบตัวเองไว้ชัดเจนว่าเขียนแต่ภาพเหมือนบุคคล เป็นงานเรียลลิสติก เขียนแต่บุคคลสำคัญที่มีคุณูปการในแต่ละด้านของสังคมไทย


ศิลปินแต่ละคนมีความถนัดหรือความต้องการที่จะทำงานแตกต่างกัน ผมอยากจะเขียนให้กับทุกคน แต่ขอทำในลักษณะของผม ถ้าคิดอยู่ตลอดเวลาว่าทำให้เขาประทับใจหรือเปล่า ก็เท่ากับเราได้ลดความเป็นตัวเองออกไป เราจะแสดงออกทางฝีมือไม่เต็มที่

 

ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙
ภาพเขียนโดย : อุกฤษณ์ ทองระอา

 

 

ผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนในหลวง

อาชีพจิตรกรเขียนภาพเหมือนในเมืองไทย ผมคิดว่าสี่ในห้าหรือมากกว่านั้น ต้องเคยรับงานเขียนภาพในหลวง ถึงไม่มีใครจ้างก็เขียนเก็บไว้ เขียนด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง ด้วยความรักความผูกพัน ด้วยคาดคะเนแล้วว่าเขียนรูปในหลวงเก็บไว้ก็น่าจะมีโอกาสได้นำภาพไปใช้ในวาระสำคัญ ๆ

 

 

"ถึงไม่มีใครจ้างก็เขียนเก็บไว้ เขียนด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง
ด้วยความรักความผูกพัน"
 

 

ตัวผมเองก็อย่างนั้น เขียนภาพในหลวงมาไม่น้อย ทั้งเพื่อใช้ทำปฏิทิน, ภาพปกนิตยสาร, ภาพประกอบหนังสือ, หรือเขียนสำหรับผู้ว่าจ้างใช้ประดับในบ้าน อาคารสำนักงาน ห้างร้าน

 

 

ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙
อุกฤษณ์ ทองระอา

 

 

สิ่งสำคัญในการเขียนภาพเหมือนพระองค์ท่าน

ในความรู้สึกส่วนตัวของผม มันมีข้อแตกต่างระหว่างการเขียนภาพในหลวงกับภาพบุคคลทั่ว ๆ ไป ถ้าคุณนึกถึงผลงานที่เกรียงไกร ปรากฎในรูปแบบของโบสถ์ วิหาร หรือประติมากรรม ภาพเขียนของศิลปินฝั่งยุโรปที่ทำเพื่อถวายสิ่งที่เคารพบูชาสูงสุด เขาเขียนกันสุดฝีมือ เวลาเขียนรูปในหลวงคล้าย ๆ กับผมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เพราะเป็นรูปที่คนไทยให้ความเคารพรักสูงสุด ผมก็ต้องเขียนสุดฝีมือครับ

 

 

 

ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙
ตามรอยพระราชา

 

“ทำไมพระราชาเดินไปในป่าเขา” ท่อนเปิดของเพลงตามรอยพระราชา เนื้อเพลงเล่าถึงคำถามเกี่ยวกับพระราชาจากเด็กน้อย พร้อมคำตอบจากผู้ใหญ่ที่คอยบอกเล่าเรื่องราวของพระราชา หนึ่งในผลงานการประพันธ์ของ นัท-ชนะ เสวิกุล นักแต่งเพลงระดับแนวหน้าในวงการ

 

ตามรอยพระราชา

เพลงแรกที่เขียนเพื่อเทิดพระเกียรติคือเพลงตามรอยพระราชา ซึ่งพอนึกไปแล้วเราไม่อยากเขียนแค่เป็นเพลงเพลงหนึ่ง ไหน ๆ ก็ทำแล้วเราอยากทำให้ดีเพื่อเทิดพระเกียรติ เราอยากจะพูดแง่มุมที่น่าสนใจ อย่างที่พี่ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ทำจะพูดถึงมุมที่จับต้องได้ ต้นไม้ของพ่อนี่ชัดเจน ของขวัญจากก้อนดิน รูปที่มีทุกบ้าน แล้วปีนั้นผมจะเขียนมุมไหนล่ะ พอดีช่วงนั้นมันมีความขัดแย้งอยู่ ซึ่งเราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมหลาย ๆ คนไม่รักในหลวง ไม่เห็นสิ่งที่พระองค์ทรงทำหรอ ภาพทุกภาพที่เห็นมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างพระราชกรณียกิจทั้งสิ้นเลย แต่เด็กจะไม่เข้าใจนี่ได้ประเด็นหนึ่งละ ก็มาจับความว่าพี่ดี้พูดถึงพ่อไปแล้ว พูดถึงคำปฏิญาณของเราว่าจะทำต่อไปยังไง ผมคิดว่าน่าจะส่งต่อเด็ก ประกอบกับเราอยากให้เด็ก ๆ เห็นที่มาที่ไปของภาพต่าง ๆ อย่างเราทันเห็น เด็กรุ่นใหม่ ๆ เห็นรูปแต่ไม่มีใครอธิบายให้ฟัง เด็กก็จะคิดเอาแต่ใจว่าไม่เห็นลำบากอะไรเลย แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเลยเป็นที่มาว่าให้เป็นเด็กถามหลังจากดูภาพว่า ทำไมต้องอย่างนั้น ทำไมต้องอย่างนี้ ทำไมพระองค์ท่านทำแบบนี้ แล้วพี่เบิร์ดเป็นตัวแทนของพ่อ ของผู้ใหญ่อธิบายให้ฟัง
 

ท่อนที่เอาเพลงของขวัญจากก้อนดิน ต้นไม้ของพ่อ รูปที่มีทุกบ้านมาในตอนท้าย เราให้เครดิตกับคนที่แต่งเพลงนั้นคือพี่ป้อม-อภิไชย เย็นพูนสุข และพี่ดี้ แต่ว่าไม่ได้มาร่วมแต่งเพลงในเวลานั้น ที่เขียนว่าทำไมพระราชา จริง ๆ ให้ลูกสาวดูรูปแล้วให้ถามมา ถามว่าทำไมในหลวงไม่อยู่กรุงเทพฯ เลยจับมาเขียนเป็นเนื้อ ทำไมพระราชาต้องเดินลุยน้ำ ทำไมพระราชาเดินไปในป่าเขา พอเขียนจบพี่เล็ก-บุษบา ดาวเรือง ถามว่าเพลงนี้มันจะมีบทสรุปยังไง ผมก็เลยบอกว่าถ้างั้นรวมมันทุกเพลงเลยไหมพี่ แล้วพี่เล็กกับพี่ดี้ก็บอกว่าก็ไปทำมาแล้วกัน โชคดีที่ว่ามันเป็นเพลงที่อยู่ในโหมดเดียวกัน หมายถึงว่าด้วยคีย์ด้วยสเกลเดียวกันของโน้ต พอเขียนปุ๊ปมันก็เลยเป็นคำปฏิญาณตนเพราะว่าในเพลงตามรอยพระราชามันลงท้ายด้วยว่า “หนูอยากจะเป็นเด็กดีของพระราชา ต้องตั้งใจศึกษา ขยันและพอเพียง ท่านทรงเหนื่อยทรงทำเพื่อเราเรื่อยมา ถึงเวลาทำให้ท่านสุขใจ ร่วมกันสร้างความดีด้วยใจและกาย ก้าวตามรอยบาทองค์พระราชา” แล้วก็ต่อว่า “จากวันนี้สักหมื่นปีต้นไม้ที่พ่อปลูก ต้องสวยต้องงดงามและยิ่งใหญ่ บวกกันเป็นดินเดียวให้พ่อได้สุขใจ ไม่ต้องเหนื่อยเกินไปอย่างที่แล้วมา” เด็กก็จะบอกว่า “จะขอตามรอยของพ่อ” มันก็เลยสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จริง ๆ รวมแล้วคือสี่เพลง แต่ก็กลายเป็นเพลงที่สรุปความรู้สึกของเราจริง ๆ ได้ครบถ้วน มันสื่อสิ่งที่เราต้องการสื่อได้ครบถ้วน ผู้ใหญ่ไล่มาถึงเด็ก เราจะทำอะไร เราอยากทำอะไรต่อไปและเราเห็นเราสำนึกในสิ่งที่พระองค์ทรงทำอยู่
 

ความยากง่ายในการเขียนเพลงเกี่ยวกับในหลวง

สำหรับผมถ้าจะยากก็คือมุมมองที่จะเขียนลงไปในเพลง เพราะว่ามันต้องให้ดูต่างจากเพลงอื่น ๆ แต่สำหรับเรื่องอื่น ๆ มันเป็นเรื่องง่ายสำหรับผม เรื่องง่ายสำหรับใครก็ตามที่เห็นที่รู้ว่าในหลวงทำอะไรเพื่อเราอยู่ มันง่ายตรงที่ว่าเราไม่ต้องแต่งเรื่อง เราไม่ต้องคิดเองครับ แค่เขียนในสิ่งที่เรารู้สึกจริงๆ เขียนในสิ่งที่เราเห็นออกมา มันก็เลยไม่ใช่เรื่องยากครับ

 

 

"เรื่องง่ายสำหรับใครก็ตามที่เห็นที่รู้ว่าในหลวงทำอะไรเพื่อเราอยู่
มันง่ายตรงที่ว่าเราไม่ต้องแต่งเรื่อง เราไม่ต้องคิดเองครับ แค่เขียนในสิ่งที่เรารู้สึกจริง ๆ"

 

 

แต่งเพลงของพ่อมาแล้วกี่เพลง

เพลงที่เกี่ยวกับในหลวง มีอยู่ 4 เพลง คือ ตามรอยพระราชา เพลงที่สองคือเพลงที่ทำให้อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ ชื่อเพลง Royal Flora เพลงที่สามคือเพลง วิหคพลัดถิ่น จริง ๆ เพลงนี้ตั้งต้นด้วยเพลงละครอยู่กับก๋ง พูดถึงความรู้สึกก๋งผมก็เลยใส่ความรู้สึกของคนที่มาอาศัยแผ่นดินไทยแล้วสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ท่อนที่ชอบมากก็คือ “ข้าวและน้ำที่กินทุกคำจดจำสำนึกคุณ” รู้สึกว่ามันลงตัวมากและรู้สึกว่าเป็นภาษาพี่แอ๊ด คาราบาวด้วย โจทย์ของเราคือเป็นพี่แอ๊ดร้อง และก็มีท่อนที่ผมชอบ “อยากฝากกายวิหคพลัดถิ่น ใต้แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวฯ” นี่เป็นความในใจอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพลงที่สี่เพิ่งจำได้ว่าแต่ง พี่อ๊อด-ศรายุทธ สุปัญโญ โทรมาบอกนัทจำเพลงนี้ได้ไหม ชื่อเพลงรักของพ่อ เป็นเพลงที่พูดถึงภาพที่เราเห็นตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่จำความได้คือภาพเหงื่อพ่อไหลอาบแก้ม พ่อทำทุกอย่าง พ่อไม่เคยบ่นอะไรเลย พ่อแบกความฝันความหวังของเราไว้ ท่อนสุดท้ายคือเหมือนว่าเราจะทำตามถึงแม้จะรู้ว่าทำได้ไม่ถึงเสี้ยวของพระองค์ท่านก็ตาม ก็จะเป็นวาระของเราที่จะได้พูดคำสัญญาครั้งสุดท้ายกับพระองค์ท่านพอดี

 

อยากให้คนฟังได้อะไรจากเพลง

ให้ใครก็ตามที่ฟังรู้ไว้เลยว่าในหลวงรักพวกเรามากแค่ไหน เพราะว่าอย่างอื่นผมไม่ต้องไปบอกเขาหรอก ถ้าเขารู้ว่าใครสักคนรักเรา เขาจะทำอะไรที่มันควรจะทำออกมาเอง ถ้าเรารักพ่อเราก็จะทำอย่างที่พ่อเราสอน ถ้าเรารักพ่อเราก็จะรู้สึกดีกับพ่อเรา หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นบวกมันจะมาต่อเนื่องกันเอง ขอให้แค่รู้ว่าคน ๆ นี้เขารักเรามากแค่ไหน ผมดีใจมากเมื่อผู้ปกครองบอกว่าเด็ก ๆ ฟังตามรอยพระราชาแล้วอยากรู้เรื่องในหลวงเยอะขึ้น ผมรู้สึกว่านั่นแหละเป็นจุดประสงค์ที่ผมอยากให้เด็ก ๆ ได้อยากรู้อยากเห็นเรื่องในหลวงมากขึ้น แล้วพอเขารู้เห็นเขาก็จะรักในหลวง

 

พระราชกรณียกิจที่ประทับใจ

โอ้โห ทุกอย่างเลย เพราะว่าเราเคยเห็นคนอัจฉริยะด้านอาร์ต เราเห็นคนอัจฉริยะด้านวิทยาศาสตร์ แต่เราไม่เคยเห็นคนอัจฉริยะพร้อมกันสองด้านแบบนี้ แต่งเพลงแจ๊สตั้งแต่อายุ 19 แล้วฝรั่งเอาไปเล่น นี่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา ขนาดวงที่เอาไปเล่นเขายอมรับอยู่ใน hall of fame ของเขาว่าเป็นเพลงที่ดี เรื่องอาร์ตไม่ต้องพูดถึงเลยเราเห็นกันอยู่แล้ว เรื่องกีฬา เรื่องวิทยาศาสตร์ โอ้โห ผมทึ่งทุกเรื่องครับ

 

 

ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙
ชนะ เสวิกุล

 

น้อมนำพระราชดำรัสมาปรับใช้อย่างไร

ในฐานะของครูผมเอามาเกือบทุกเรื่องนะครับ เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของหญ้าแฝกที่พระองค์ท่านเคยบอกไว้ว่ามันเห็นผลช้า แต่ได้ผลดี ผมจะบอกภรรยาที่ลาออกมาเป็นครูมาทำโรงเรียนเล็ก ๆ ด้วยกันว่านี่เรากำลังปลูกหญ้าแฝกอยู่นะ เราเห็นเด็กเขาเรียนหนังสือ เขามีพัฒนาการที่ดีเราชื่นใจ แต่สิ่งที่ใช้เยอะมาก ๆ คือเรื่องความเพียรพระมหาชนก เพราะว่าผมทำเรื่องเด็กพิเศษอยู่ด้วย เป็นจิตอาสาสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังตามสถานสงเคราะห์ด้วย โดยเฉพาะเด็กพิเศษผมกำลังต่อสู้เพื่อโอกาสของเด็กพิเศษ โอกาสที่คนจะยอมรับว่าเด็กพิเศษคือเด็กปกติคนหนึ่งเรียนรู้ได้ เพียงแต่ต้องมีวิธีของเขาเอง แต่ว่าการต่อสู้เหมือนทะเล และการว่ายทะเลของผมไม่รู้เลยว่าจะไปทางไหนด้วยซ้ำ ไม่เห็นฝั่งเหมือนอยู่กลางทะเล เราไม่รู้จะไปทางไหน หลงทางไหมไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องว่าย เหนื่อยไหมเหนื่อย ท้อไหมท้อ แต่เรื่องพระมหาชนกเป็นคำสอนที่ผมยึดไว้เลยว่าต้องเริ่มด้วยความเพียรก่อน แม้กระทั่งการไปสอนเด็ก ๆ ในชั่วโมงอาร์ตของผม หรือชั่วโมงดนตรีของผม ผมก็เอาเรื่องของความเพียรไปสอน ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้มันเกิดสกิลให้ได้ เหนื่อยก็ต้องทำ พักเสร็จมาทำต่อห้ามงอแงแบบนี้เป็นต้นครับ

 

ส่งต่อเรื่องราวของพระองค์ท่าน

หนึ่งเล่าให้ฟัง สองทำให้ดู เล่าให้ฟังก็คือจะเล่าว่าพระองค์ท่านทำอะไร ครูไปเจออะไรมา พ่อไปเห็นอะไรมา ทำให้ดูก็คือว่าทำในสิ่งที่พระองค์สอนเรา เราทำให้เด็กเห็นว่ามันเกิดผลดี แล้วเด็กจะเอาไปทำต่อ อย่างเรื่องทำดี ผมทำดีเอาหน้านะ เพราะผมจะโพสต์ตลอด เพื่อให้เด็กเห็นว่าการทำความดีเป็นเรื่องธรรมดา ขนาดครูนัทยังทำเลย ทุกวันนี้สิ่งที่ไม่ธรรมดาคือความชั่ว เอ้ยเอาน่าใคร ๆ เขาก็ทำกันเรื่องธรรมดา พอมีใครทำดีนี่ดีใจกันใหญ่เลย โอ้โหตื่นเต้น เราตื่นเต้นกับสิ่งที่หาได้ยากถูกไหม ทีนี้ความดีมันหาได้ยากไง ผมไม่อยากให้ความดีมันหาได้ยาก มีคนถามผมว่าอ้าวแล้วแบบนี้มันขัดกับเรื่องปิดทองหลังพระหรือเปล่า ผมบอกไม่ใช่เพราะตอนทำผมไม่ได้เซลฟี่ว่าผมทำนะ ผมทำเพราะอยากทำ แต่พอทำเสร็จแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดี ผมก็เล่าให้เด็ก ๆ ฟังว่าครูทำแบบนี้มานะ ครูมีความสุขจังเลย เขาจะเห็นและอยากทำ เพราะทำแล้วมีคนชม เขาจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องมันก็แพร่กระจายไปเรื่อย ๆ ผมหวังว่าสักวันหนึ่งความดีจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำกัน เรื่องที่พระองค์ทรงทำกลายเป็นเรื่องธรรมดาเลยในวันนั้น ตรงที่ว่าทุกคนทำเหมือนพระองค์ โอ้โห ชีวิตประเทศไทยมันมีความสุขมาก คิดถึงว่าทุกคนไม่ทำชั่ว ทุกคนทำงานของตัวเองเต็มที่ ทุกคนแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งครูนัทไม่ได้เป็นคนทำคนแรกนะ ไม่ใช่ใครด้วยในหลวง เรารักพระองค์ท่านเพราะพระองค์ทำให้เราเห็น เรารักพระองค์ไม่ใช่เพราะเราฟังพระองค์สอนครับ

 

"เรารักพระองค์ท่านเพราะพระองค์ทำให้เราเห็น"

 

 

นี่คือบางส่วนของผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากในหลวง และมีโอกาสได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาเพื่อถ่ายทอดและส่งต่อเรื่องราวของพระองค์ท่านให้คงอยู่ตลอดไป แม้หลายคนจะไม่มีโอกาสเช่นนี้ แต่เราทุกคนก็สามารถสานต่อพระราชปณิธานในด้านต่าง ๆ ของพระองค์ท่านได้ เพียงน้อมนำพระราชจริยวัตรและพระบรมราโชวาทของพระองค์ไปปรับใช้และส่งต่อแนวคิดจากลูกสู่หลาน ให้สมกับที่ครั้งหนึ่ง #ฉันเกิดในรัชกาลที่๙

 

เรื่อง : กัลยาณี แนวเล็ก

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow