Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ก้อ ณฐพล Life + Soul=Music

Posted By Plook Magazine | 06 มิ.ย. 59
1,697 Views

  Favorite

เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก ภาพ: จารุวิทย์ ปิยะนาวิน และกัลยาณี แนวเล็ก


 ก้อ ณฐพล 
 Life + Soul=Music 


ก้อ ณฐพล


บนเส้นทางดนตรีทั้งในฐานะคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง สร้างความสุขในโลกแห่งเสียงเพลงด้วยบทบาทของมือเบส นักร้อง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ หรือ Arranger อีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากการพูดคุยกับ ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการเดินทางทำตามสิ่งที่รักด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจและใส่ใจในการสร้างสรรค์ผลงานคือสิ่งสำคัญในการสร้างคุณค่าในบทเพลง


ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นวงการดนตรี
เริ่มต้นน่าจะเป็นปี 1997หรือ1998 ประมาณนี้ครับ กลับมาเมืองไทยครั้งแรกหลังจากที่เรียนจบทางด้านดนตรีที่บอสตัน แม่บอกว่าอ่านหนังสือพิมพ์เห็นวงโมเดิร์นด็อกประกาศรับมือเบสอยู่ ซึ่งพอดีผมรู้จักกับพี่โต้ง P.O.P (มณเฑียร แก้วกำเนิด) ตอนนั้นเขาทำงานอยู่ที่เบเกอรี่มิวสิก ก็เลยบอกพี่โต้งว่าผมอยากเข้าไปลองออดิชันดู งานแรกที่ทำคือมือเบส วงโมเดิร์นด็อก แล้วก็ทัวร์ร่วมกันมาปีหนึ่งครับ
 

อะไรที่ทำให้เราทำได้ดีในสายดนตรี
จริง ๆ รู้ตัวมาตั้งแต่ประมาณป.4 เลยด้วยซ้ำว่าเราอยากจะทำงานเพลง อยากอยู่ในวงการเพลง ซึ่งผมบอกมาตลอดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีหรือว่าเป็นคำสาปกันแน่ แต่ว่าการที่รู้ตัวเร็วขนาดนั้นว่าเราอยากจะทำงานเพลง ทำให้รู้สึกว่าจะทำยังไงถึงจะทำอาชีพนี้ได้ แล้วต้องเตรียมตัวยังไง รู้สึกว่าค่อย ๆ ทำมาตลอด ลองค่อย ๆ ฝึกพัฒนาตัวเองมาเรื่อย ๆ ครับ ตอนเด็ก ๆ เวลาที่เราสังเกตตัวเองคือทุกครั้งที่คุณแม่ให้ค่าขนมมาเราก็จะเก็บค่าขนมของเราไว้เพื่อที่จะไปซื้อเทป ยุคนั้นมีเทปปลอมขายอยู่ ก็ฟังเทปคาสเซ็ทม้วนละประมาณสามสิบบาท ก็จะเก็บเงินอยู่แบบนี้ทุกเดือนเพื่อที่จะไปซื้อเทปให้ได้เดือนละม้วน แล้วก็ชอบฟังเพลงมาก ในขณะเดียวกันตอนที่ผมเรียนอยู่ในห้องเรียน ก็รู้ตัวเองเลยว่ามองไปที่กระดานดำแทนที่จะตั้งใจเรียน แต่หัวเรานี่ฝันอยู่ว่าเราเป็นนักดนตรีอยู่กับวงเพื่อน ๆ นะ เล่นกีตาร์อยู่บนเวที
 

ก้อ ณฐพล


ในฐานะนักดนตรีได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ผมจบ Music Production Engineering คือการทำงานในห้องอัด แต่ว่าการที่เราค่อย ๆ ทำฝั่งโน้นทีฝั่งนี้ทีทีละอย่าง เช่น นักดนตรี ออกไปทัวร์กับวงโมเดิร์นด็อก ซึ่งถือว่าเป็นวงที่ดังที่สุดแล้ว หลังจากนั้นก็ค่อยมีโอกาสได้กลายเป็นนักดนตรีในสตูดิโอ ได้บันทึกเสียงในสตูดิโอ หลังจากนั้นพวกพี่ ๆ ก็เปิดโอกาสให้เป็นโปรดิวเซอร์ เริ่มแต่งเพลง เริ่มมีวงของตัวเอง ออกอัลบั้ม เพราะฉะนั้นการทำงานในแต่ละด้าน ทำให้เรามองเห็นภาพกว้างขึ้น คือในการทำเพลงมันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ต้องมีนักดนตรีที่ดี มีคนแต่งเพลงที่ดี ต้องมีคนที่เรียบเรียงดนตรีเป็น คนที่ผสมเสียงมิกซ์ ขั้นตอนต่าง ๆ เป็นขั้นตอนที่สำคัญ การที่ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสในขั้นตอนแต่ละอย่าง มันก็ทำให้เราเข้าใจและมองเห็นภาพต่าง ๆ เหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น
 

เวลาที่แต่งเพลงส่วนใหญ่จะแต่งเนื้อหรือทำนองก่อน
เริ่มจากทำนองก่อนหมายถึงว่าเมโลดี้ กับคอร์ดมารวมกัน แล้วหลังจากนั้นทำนองที่เราแต่ง มันจะเป็นตัวบอกเองว่า เนื้อเพลงมันควรจะเป็นเกี่ยวกับอะไรหรืออารมณ์ไหน แต่ละเพลงใช้เวลาต่างกันมากเลย เพลงที่เร็วที่สุด อาจจะห้านาทีก็มี หรือบางทีกินข้าวอยู่เพลงก็ลอยเข้ามาในหัวเองก็เสร็จ บางเพลงใช้เวลาเป็นเดือนก็มีเพราะว่าแต่งแล้วก็ยังไม่ดีสักที ปรับไปเรื่อย ๆ ก็มีเหมือนกันครับ
 

เทคนิคพิเศษในการแต่งเพลง
การที่ผมได้ทำงานร่วมกับพี่โต้งและพี่นภ พรชำนิ ทำให้ผมเห็นว่าแต่งเพลงกันยังไง เราก็เอาเทคนิคของพี่สองคนนี้มาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เราทำ เรียกได้ว่าเป็นอาจารย์ในการแต่งเพลงของผม ขณะเดียวกันได้มีโอกาสแต่งเพลงกับพี่บอย โกสิยพงษ์ หลายครั้งมาก แล้วสิ่งที่ผมเห็นพี่บอยก็ถือเป็นอาจารย์ของผมคนหนึ่ง ซึ่งผมได้ซึมซับเทคนิค วิธีการจากพี่บอยเยอะเหมือนกัน แล้วก็มีศิลปินหลาย ๆ คนที่ผมชื่นชอบโดยเฉพาะศิลปินชาวฝรั่ง วิธีการเรียนรู้ของผมคือ แกะเพลงแล้วนำกลับมาวิเคราะห์ว่าเราชอบเพลงนี้เพราะอะไร อะไรที่ทำให้เราชอบเพลงนี้ จริง ๆ ไม่ได้มีเทคนิคอะไรพิเศษ นอกจากนี้ปัจจุบันแต่งเพลงเป็นสิ่งที่ผมทำอัตโนมัติ เหมือนกับแปรงฟัน หยิบแปรงสีฟันขึ้นมาปุ๊บก็เริ่มแปรงฟันได้เลย เดี๋ยวนี้เราก็ไปนั่งที่เปียโนเอากีตาร์มาจับ เราก็เริ่มแต่งเพลงมันก็ค่อย ๆ ไหลออกมาตามธรรมชาติของมันแต่ว่าก่อนที่มันจะออกมาเป็นแบบนั้นได้ ก็ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างที่ผมบอก
 

ก้อ ณฐพล


การเลือกใช้ภาษาในเนื้อเพลง
ก็เป็นตัวของเรา เราพูดยังไงในชีวิตประจำวันก็ใช้วิธีแบบนั้น สื่อสารกับคนแบบนั้น ผมรู้สึกว่าหลาย ๆ ครั้งถ้าเราไปหยิบเอาภาษาที่มันฟังดูแปลก ๆ หรือเท่ก็จะรู้สึกว่าเวลาเราร้องจะรู้สึกเขิน มันไม่ใช่ตัวเรา เวลาที่ผมเห็นพี่บอยแต่งเนื้อเพลงมหัศจรรย์มาก ก็ถามพี่บอยว่ามีเทคนิคอะไร พี่บอยก็จะสอนมาว่า วิธีการฝึกในการแต่งเพลงทำยังไง ผมก็จะทำแบบนั้น แล้วอีกวิธีที่ผมทำก็คือ เวลาที่ว่างในตอนเช้าผมจะจับปากกาแล้วก็เขียนเลย เขียนอะไรก็ได้ที่ออกมาจากหัวเรา เดี๋ยวก็จะค่อย ๆ ออกมาเอง เขียนมันก็จะลื่นขึ้นเรื่อย ๆ ภาษาต่าง ๆ ที่ออกมาจากปากกาของเรามันก็เป็นสิ่งที่ธรรมชาติ ในทุกอาชีพผมว่าฝึกสังเกตคนที่เก่งกว่าเรา ในด้านของการใช้ภาษาแต่งเพลง ใช้ภาษายังไง ทำยังไง อย่างผมมีเพื่อนที่สนิทแต่งเพลงเก่งที่สุดของเมืองไทยคือ บอย (ตรัย ภูมิรัตน) ผมก็จะสังเกตเวลาที่เขาแต่งเนื้อเพลง เขาทำยังไง ใช้ภาษาอะไร นำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กลับมาย่อยในแบบของเราแหมือนกัน ส่วนมากเวลาที่แต่งทำนองมันจะมีอารมณ์อะไรบางอย่างอยู่แล้ว ซึ่งอารมณ์นั้นเป็นตัวบอกผมว่าควรจะเขียนเพลงนี้เกี่ยวกับอะไร วัตถุดิบในการแต่งเพลง ผมว่าก็ในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าเราไม่เคยเห็น ไม่สังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นในปัจจุบัน ก็ไม่มีทางเอาสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมาเขียนได้ครับ เพราะฉะนั้นต้องเป็นคนช่างสังเกต เอาสิ่งที่เราเห็นเก็บเอาไว้มาแต่งเพลง
 

ก้าวแรกในการโปรดิวซ์เพลง
ศิลปินคนแรกที่ผมโปรดิวซ์ให้ แต่ในนาม P.O.P นะ ก็คือน้องโหน่ง (พิมพ์ลักษณ์ กมลเพชร) ซึ่งตอนนั้นเป็นศิลปินใหม่ของ เบเกอรี่มิวสิก หลังจากนั้นก็มีคนขอให้ผมโปรดิวซ์เรื่อย ๆ เริ่มจากคุณโตน วงโซฟา และก็มาเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่อาจจะเรียกว่าโชคดีก็ว่าได้นะ ผมรู้สึกว่าไม่กล้าเดินไปขอผมโปรดิวซ์หน่อยนะ เราก็กลัวว่าจะไปยุ่งกับเขา ทุกคนที่ผมมีโอกาสได้โปรดิวซ์เป็นพี่น้องที่เรารู้จักกันอยู่แล้วหรือไม่ก็เป็นศิลปินที่ผมชื่นชอบอยู่แล้วครับ

การโปรดิวซ์เพลงของแต่ละคน จริง ๆ มีสองด้านนะ ในการทำโปรดิวเซอร์ให้กับใครอย่างแรกคือ ในด้านของความเป็นคน ในความที่เราเป็นพี่เป็นน้องกันเพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งเราต้องเทคแคร์หรือดูแลศิลปินคนนั้นให้ดี ให้เขามีชีวิตที่ดี ให้เขามีความสุขกับการที่ได้มีโอกาสมาทำงานด้วยกัน อีกด้านหนึ่งก็คือเวลาที่เราจะโปรดิวซ์ใครเราต้องเริ่มต้นจากเป็นคนฟังที่ดี ต้องรู้ว่าศิลปินคนนั้นต้องการอะไร เขาอยากจะได้ผลงานแบบไหน ไม่ใช่ว่าเราเห็นอันนี้ดียัดใส่เขาเลย เราต้องหาวิธีว่าทำยังไงถึงจะผลิตผลงานที่ดีที่สุดออกมาเพื่อเขา หรือให้เรารู้สึกว่าผลงานนี้เป็นผลงานของเขา แล้วเขาภูมิใจที่จะสามารถนำเพลงนี้หรืออัลบั้มนี้ออกไปให้คนฟังได้ครับ
 

ก้อ ณฐพล


อัลบั้ม The Ghost Cat
ผมทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ อัลบั้มนี้ใช้เวลานานมากประมาณห้าปี เพราะว่าอุปสรรคต่าง ๆ มันค่อนข้างเยอะพอสมควร จริง ๆ แล้ว มันเป็นอัลบั้มที่โดยส่วนตัวผมชอบมากครับ เราตั้งใจที่จะทำเป็นนิวเวฟหรืออินดี้ป๊อป สิ่งที่มันเป็นก็คือผลงานของ Ghost Cat เป็นเพลงที่เรียบง่ายไม่ใช่เพลงที่ฟังยาก แต่สิ่งที่เด่นของมันก็คือดีไซน์ในด้านของดนตรี ผมว่าวงนิวเวฟในเมืองไทยอาจจะยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเราอาจจะเป็นวงแรกที่นำดนตรีแบบนี้มาทำให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับตามตรงอีกหนึ่งจุดเด่น ก็คือสมาชิกแต่ละคนที่มาจากวงดนตรีมีชื่อเสียงอยู่แล้วครับ แต่ในแง่ของการมารวมตัวกันทำเพลงโปรเจ็กต์นี้ด้วยกัน แค่อยากจะมีโอกาสร่วมงานกันก็เท่านั้นเอง อยากจะรู้ว่าพวกเราห้าคนทำงานด้วยกันมันจะเป็นยังไง คือแค่คิดมันก็สนุกแล้ว พอทำออกมามันก็สนุกเคมีพวกเราเข้ากันได้ครับ
 

แนวเพลงที่อยากทำ
ผมตั้งใจว่า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผมรู้ว่าจะรีไทร์ โปรเจ็กต์สุดท้ายที่ผมจะทำก็คือเป็นเพลงบรรเลง เพราะมันท้าทายดี ผมเริ่มต้นชีวิตในวงการดนตรีฐานะนักดนตรี ผมก็อยากจะจบชีวิตในวงการดนตรี ซึ่งการทำเพลงบรรเลงในแนวแจ๊ส ฟังก์ มันเป็นรากฐานของผม ผมชอบแนวนี้มาตั้งแต่สมัยผมเรียนดนตรีแต่ว่าโอกาสที่ได้ทำไม่เอื้ออำนวย เหมือนกับเวลายังไม่ใช่สักที ผมก็คิดว่าเมื่อไหร่ที่เราจะเลิกแล้ว เราต้องทำอันนี้ให้สำเร็จก่อนไม่งั้นก็คงไม่เลิกครับ
 

แต่ละบทบาทในวงการเพลงมีความยากง่ายต่างกัน
มันจะยากหรือง่ายก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราด้วย แล้วก็อาจจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของโปรเจ็กต์ด้วย เช่น บางคนอาจจะคิดว่าการเล่นเบสเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับผมการเล่นเบสเป็นสิ่งที่ผมเอนจอยที่สุดเลย การที่ไปเป็นมือเบสรับจ้างของใครสักคน รับหน้าที่เล่นเบสอย่างเดียว นี่โอ้โหเป็นสิ่งที่ผมใฝ่ฝันมากเลย มีความสุขมากเลย แต่ปัจจุบันยังไม่มีโอกาสได้ทำแบบนั้นสักเท่าไหร่ เพราะเราก็เป็นศิลปินด้วยทำหน้าที่โน้นหน้าที่นี้ อย่างหน้าที่ของการเป็นโปรดิวเซอร์ ความยากก็คือ จะทำยังไงที่เรากับศิลปินที่เราโปรดิวซ์มาร่วมมือแล้วผลิตผลงานออกมาดีที่สุดเท่าที่มันจะดีได้ ความง่ายของมันก็คือ พอจบจากสตูดิโอแล้ว โปรดิวเซอร์ก็จบหน้าที่แล้ว ไม่จำเป็นที่ต้องไปโปรโมทเพลงต่อ หรือไปเข้าวิทยุอีกยี่สิบคลื่นแล้วเดินสายอีกสามเดือน เพราะฉะนั้นความยากมันก็อยู่ในห้องนี้เท่านั้นเอง ในแง่ของนักแต่งเพลงจะทำยังไงให้แต่งเพลงออกมาดีที่สุด แต่ว่าถ้าเรามีทักษะ มีประสบการณ์ในระดับหนึ่งแล้ว มันก็ไม่ได้ยากจนเกินไป มันไม่ได้รู้สึกว่ามานั่งเขียนใช้เวลาสามเดือนถึงจะได้เพลงมาหนึ่งเพลงก็ไม่ใช่ ทุกอย่างมาจากประสบการณ์ มาจากความสามารถ ความขยัน ความช่ำชองของเราในแต่ละหน้าที่
 

ก้อ ณฐพล


“หยุด” เพลงที่ภูมิใจ
เพลงหยุด ของ Groove Rider เป็นเพลงเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่ผมยังจำอารมณ์นั้นได้อยู่เลยนะว่า เวลาที่ผมทำเพลงหยุด เสร็จมีความรู้สึกว่าโอ้ตายได้แล้ว ตายตาหลับแล้ว เพราะรู้สึกว่าเราทำเพลงที่ภูมิใจ ชอบมากออกไปแล้ว ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำออกมาแล้วจะมีคนชอบหรือเปล่า จะดังหรือเปล่า แต่นั่นคือความรู้สึกของเราแล้วมันเป็นเพลงที่แปลกมาก เหมือนเป็นเพลงที่เราไม่ได้แต่งเองด้วยซ้ำ เป็นเพลงที่ลอยเขามาในหัวเรา แล้วมันก็ออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งมันเป็นอะไรที่ธรรมชาติมาก ก็เลยรู้สึกว่าเป็นเพลงที่สำคัญเพลงหนึ่งในชีวิตก็ว่าได้
 

เสียงเพลง ดนตรี ตัวโน้ต มีเสน่ห์ยังไงบ้าง
ชีวิตผมอยู่กับเสียงเพลงมาตลอดแทบจะ 24 ชั่วโมงเลยด้วยซ้ำ คิดว่าเราโชคดีมากที่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่กับเสียงเพลง เพราะว่าดนตรีคือชีวิตผม แล้วผมก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตผม แล้วก็เป็นสิ่งที่วิเศษมาก
 

สิ่งสำคัญในการทำเพลงแต่ละเพลงคืออะไร
สิ่งหนึ่งก็คือแรงบันดาลใจ เราทำเพลงแต่ละเพลง ถ้าเราสักแต่ว่าทำไปเพลงแต่ละเพลงก็ไม่ค่อยจะมีคุณค่าเท่าไหร่ ในฐานะคนทำมันมีคุณค่ากับผมเองแน่นอน ไม่ใช่ว่าทำเพื่อให้ได้เงินเลี้ยงชีพ แต่ว่าเพลงแต่ละเพลง มันผ่านประสบการณ์มา ผ่านการเรียนรู้ ผ่านหยาดเหงื่อ แรงงานอะไรต่าง ๆ ออกมาเป็นเพลง ๆ หนึ่ง ผมใช้เวลานานมาก ใช้ชีวิตประสบการณ์กับมันเยอะมาก เพราะฉะนั้นคุณค่าของมันสำหรับตัวผมมันมีเยอะมากทีเดียว แง่ของแรงบันดาลใจที่จะแต่งเพลงหรือที่จะทำเพลงออกมาแต่ละเพลง มันก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก่อนที่เราจะส่งไปให้คนฟังต่อ ผมจะถามตัวเองก่อนว่ามันมีคุณค่ากับผมมากแค่ไหน ถ้าดูแล้วมันไม่ค่อยมีคุณค่ากับผมก็จะไม่ค่อยปล่อยออกไป ผมรู้สึกว่าทิ้งไปดีกว่า เพลงมันมีเป็นล้าน ๆ เพลงอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีความรู้สึกโอ้โห ชอบเพลงนี้ที่เราทำที่เราแต่ง ก็จะรู้สึกว่าอย่างน้อยมันมีคุณค่ากับเรา มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนฟังได้แล้ว ไม่ว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เราจริงใจกับมัน เราก็สามารถที่จะพูดได้เต็มปากว่า เราเต็มใจที่จะมอบสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา แล้วเราคิดว่ามันดี น่าจะทำให้คนฟังมีความสุขได้ต่อไปแล้วครับ
 

ก้อ ณฐพล


หน้าที่ไหนเป็นตัวเรามากที่สุด
ผมไม่สามารถที่จะบอกได้ เพราะว่าหน้าที่แต่ละหน้าที่ผมก็เอนจอยหมด บางครั้งผมก็มีความสุขกับการแต่งเพลง บางครั้งก็มีความสุขกับการเป็นนักดนตรี บางครั้งก็มีความสุขกับการได้ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินที่เจ๋ง ๆ สักคนหนึ่งที่เราชอบมาก เพราะฉะนั้นหน้าที่แต่ละหน้าที่มันเกื้อหนุนกันและกัน คือในแง่ของการเป็นโปรดิวเซอร์ก็ทำให้เราเป็นนักดนตรีที่ดีขึ้น แง่ของการเป็นนักแต่งเพลงของเราก็ทำให้เราเป็นศิลปินที่เก่งขึ้น ความรู้สึกผมแต่ละคนก็มีความถนัดแตกต่างกันไป ผมต้องทำทุกอย่างถึงจะรู้สึกว่ามันสมบูรณ์
 

สิ่งที่อยากให้คนฟังได้จากผลงานของเรา
ง่าย ๆ เลยนะครับก็คือความสุข เราตั้งใจทำผลงานออกมาชิ้นหนึ่ง เราอยากจะมอบสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราตั้งใจ ทำแบบดีที่สุดเพื่อให้กับคนฟังเขาได้รับความสุขเหมือนกับที่เรามีความสุขกับการทำงานของเรา ผมคิดว่าอาชีพการทำเพลงมันไม่เหมือนอาชีพอื่นในแง่ที่ว่า คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่บังคับลูกหรอกว่าโตมาต้องเป็นนักดนตรีนะ โตมาต้องทำเพลงนะ ส่วนมากจะมีแต่โตมาลูกเป็นหมอเถอะ เป็นนักธุรกิจ พ่อค้า ทนายความ ไม่ได้มีใครบังคับลูกว่าต้องมาทำเพลง เราเลือกอาชีพของเราเอง เพราะเรารู้สึกว่าทำออกมาแล้วมีความสุข เพลงแต่ละเพลงที่ผมทำก็รู้สึกว่ามีความสุขในระหว่างที่ผมทำเหมือนกัน แม้ว่าแต่ละเพลงจะออกมาด้วยความยากลำบาก หรือว่าแต่ละเพลงจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม แต่พอทำเสร็จแล้วเรามีความรู้สึกว่า ภูมิใจที่ทำเพลงนี้สำเร็จ แล้วเราก็อยากให้คนฟังได้ฟังแล้วรู้สึกมีความสุข อยากให้เขาเปิดบ่อย ๆ ซึ่งไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตามขับรถไปแล้วฟังเพลงเรา แค่ให้เรารู้สึกว่ามันมีความสุข ดีจังเลยที่มีเพลงนี้ฟัง นั่นก็คือเป้าหมายของเราในการทำเพลงแล้วครับ
 

การทำเพลงในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตยังไงบ้าง
เวลาที่แตกต่างกันออกไป มันก็ทำให้เพลงแตกต่างกันออกไปครับ ในปัจจุบันทุกอย่างมันก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะมากและก็เร็วมาก ผมคิดว่าในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ศิลปินหรือคนทำเพลงทุกคนต้องปรับตัวหมด อย่างแรกก็คือเรื่องของเทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนแปลงไวมากเลย พฤติกรรมของคนฟังก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือคนฟังก็อยากจะฟังเพลง คนเราทุกคนก็ยังมีเสียงเพลงอยู่ในชีวิตอยู่ดี ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน คนอาจจะไม่ได้ฟังเทปคาสเซ็ทแล้ว คนอาจจะไม่ได้ฟังซีดีแล้ว แต่คนก็ยังมีเพลงอยู่ในโทรศัพท์มือถือของตัวเองอยู่ดีครับ
 

ก้อ ณฐพล


สำหรับวงการเพลงวัดความสำเร็จจากอะไร
มันเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนรู้สึกว่าถ้าขึ้นอันดับหนึ่งของคลื่นวิทยุนี้ก็สำเร็จแล้วก็จะต้องดังแน่ ๆ ปัจจุบันขึ้นอันดับหนึ่งของคลื่นวิทยุ ก็ยังไม่แน่ใจเรียกว่าสำเร็จได้หรือเปล่า บางทีมียอดวิวในยูทูปเป็นล้านก็ไม่แน่ใจว่าอันนี้เรียกว่าความสำเร็จหรือเปล่า บางทีไม่ได้ออกอัลบั้มใหม่เลยแต่ยังออกขายโชว์ได้เรื่อย ๆ ก็ไม่รู้อันนี้เรียกว่าประสบความสำเร็จหรือเปล่า คือมันคงต้องนิยามของแต่ละคนมากกว่าว่า สิ่งที่เรียกว่าประสบความสำเร็จมันคืออะไร มันไม่เหมือนแต่ก่อนแล้วที่โอ้โหที่ดังนะ นั่นคือประสบความสำเร็จแล้ว ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว
 

มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากทำเพลงไหม
สำหรับผมคิดว่า ทุกคนทำเพลงเองได้ที่บ้านทุกคน ไม่มีใครทำเพลงเองไม่ได้ แค่มีคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งก็ทำเพลงเองได้ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนลืมไปก็คือ เพลงมันออกมาจากใจ มันไม่ได้ออกมาจากเทคโนโลยีหรือซอร์ฟแวร์ล่าสุด เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มจากใจก่อน แล้วถึงจะไปที่ขั้นตอนการผลิตเพลง เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ นั่นแหละจะทำให้เพลงมีคุณค่า หรือว่าจะทำให้เพลง ๆ นี้ มันจะอยู่กับคนฟังหรืออยู่กับเราไปนานแสนนานตลอดชีวิต จะมีคุณค่าเราสามารถที่จะฟังมันได้บ่อยครั้งเท่าที่เราต้องการไม่มีเบื่อครับ
 

มีอะไรที่ยังไม่ได้ทำบ้าง
เยอะแยะเลยครับ ผมยังไม่เคยทำเพลงบรรเลงแจ๊ส ฟังก์ ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่อยู่ในหัวเราตลอดเวลาเลย แต่เรารู้ว่ามันยังไม่ถึงเวลา มันยังไม่ใช่เวลา หรือแม้แต่โปรเจ็กต์ The Ghost Cat เอง ก็เป็นโปรเจ็กต์ที่ผมอยากทำมานาน แต่ยังไม่มีช่วงเวลาที่ถูกต้อง ก็เพิ่งมีช่วงปีนี้แหละ เป็นช่วงที่ถูกต้อง มีโอกาสได้ทำ แต่ว่าโปรเจ็กต์อื่น ๆ ก็ยังมีอีกเยอะครับ บางครั้งเราทำงานไปเรื่อย ๆ เราก็จะมีความฝันใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก่อนเราก็เคยมีความฝัน เหมือนตอนที่ทำวง Groove Rider ก็เป็นความฝันของผมในสมัยที่เป็นนักเรียนดนตรี ผมอยากทำเพลงแนว ดิสโก้ ฟังก์ มีวงเป็นของตัวเอง มันก็กำเนิดเป็นวง Groove Rider ฝันอยากร่วมงานกับพี่บอย ตรัย ฐานะนักแต่งเพลงมันก็กำเนิดเป็นอัลบั้ม THE BOYKOR ส่วน The Ghost Cat ก็เป็นอีกความฝันหนึ่ง ความฝันที่เริ่มต้นเมื่อห้าปีที่แล้ว เราก็ต้องคิดว่าทำความฝันวันนี้ให้มันสำเร็จได้ มันก็แปรสภาพออกมาเป็นความจริงในแนว The Ghost Cat ก็คงค่อย ๆ ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็ดูว่าเรายังมีแรงที่จะทำตามความฝันในตัวเราให้กลายเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไปครับ
 

จุดนี้ถือว่ามาถึงจุดสูงสุดของคนดนตรีแล้วหรือยัง
ผมว่าตอนนี้ผมมาถึงจุดต่ำสุดแล้วนะ (ฮา) ในแง่ของความสำเร็จเราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะประสบความสำเร็จได้กว่านี้หรือเปล่า หรือว่าจะประสบความล้มเหลวกว่านี้อีกไหม แต่รู้สึกว่าเราได้ทำผลงานที่ดีที่สุดในชีวิตของเราหรือยัง ผมเคยรู้สึกว่าทำไปแล้วนะ เคยรู้สึกแบบนั้นตอนอัลบั้ม The Lift ของ Groove rider พอทำอัลบั้มหนึ่งเสร็จรู้สึกแบบนี้เสมอ นอนตายตาหลับแล้ว เราได้ทำผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้เรียบร้อยแล้ว พอทำผลงานชิ้นต่อไปมันก็ดีกว่าในความรู้สึกเรานะ ดีกว่าอัลบั้มที่แล้ว ทำอีกมันก็ดีกว่าอีก เราก็เลยเข้าใจว่าความรู้ ความสามารถของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มันไม่มีลิมิต เราสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้เรื่อย ๆ ชีวิตของเราก็คือการซ้อมและเล่นดนตรี การทำเพลงการเป็นนักแต่งเพลง การเป็นโปรดิวเซอร์ การเป็นนักแต่งเพลงก็เหมือนกัน เราเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ จนเราตาย เพราะฉะนั้นผลงานที่เราทำแต่ละผลงาน มันก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ท้าทาย แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเรายังต้องอยู่ในวงการนี้ต่อ

 

เพลงแรกที่แต่ง
แค่ได้พบเธอ เป็นเพลงของ P.O.P จริง ๆ ไม่ได้แต่งคนเดียว แต่งร่วมกับพี่นภ พรชำนิ และพี่โต้ง ในนาม P.O.P ครับ

 

“แต่ถ้าเรามีความรู้สึกโอ้โห ชอบเพลงนี้ที่เราทำที่เราแต่ง ก็จะรู้สึกว่าอย่างน้อยมันมีคุณค่ากับเรา
มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนฟังได้แล้ว”

 

ก้อ ณฐพล

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow