Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นาซ่ากับเบื้องหลังการค้นพบระบบสุริยะใหม่ TRAPPIST-1

Posted By Plookpedia | 23 ก.พ. 60
21,492 Views

  Favorite

นาซ่าอาจเคยค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมามากมายนับไม่ถ้วน แต่นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดใกล้เคียงกับโลกถึง 7 ดวง ที่โคจรอยู่ในระบบของดาวฤกษ์เพียงดวงเดียวเหมือนระบบสุริยะของเรา  และระบบสุริยะใหม่นี้ยังมีดาวเคราะห์คล้ายโลกถึง 3 ดวง ที่อาจมีมนุษย์ต่างดาวอาศัยอยู่ เรามาเปิดเผยเบื้องหลังการสำรวจระบบสุริยะที่ชื่อว่า "TRAPPIST-1" ผ่านบทความนี้กัน

 

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะคืออะไร ?

คือ ดาวเคราะห์ที่โคจรล่องลอยไปในอวกาศ แต่ไม่ได้อยู่ในระบบสุริยะของเรา หรือ ดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นเป็นของตัวเอง ซึ่งในระบบสุริยะจะประกอบไปด้วยดาวฤกษ์อันเป็นดาวที่มีแสงสว่างในตัวเอง ตั้งอยู่จุดศูนย์กลาง (ดาวฤกษ์เทียบได้กับดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ)  และมีดาวเคราะห์หิน (Terrestrial Planets) หรือดาวเคราะห์ก๊าซ (Jovian Planets), ดวงจันทร์ (Moon), ดาวหาง (Comet) และดาวเคราะห์น้อย (Asteroids) โคจรอยู่โดยรอบ  

 

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ
ภาพจำลองดาวฤกษ์แต่ละดวงที่มีดาวเคราะห์โคจรอยู่โดยรอบ จาก, http://www.eso.org/public/images/eso1204a/
_______________________________________________________________________
 

นาซ่าค้นพบระบบสุริยะใหม่  TRAPPIST-1  ได้อย่างไร ?

• แรกสำรวจพบ "เดือนพฤษภาคม ปี 2016

กล้องโทรทรรศน์แทรพพิสต์ "TRAPPIST"  (Transiting Planets and PlanetIsmals Small Telescope) เป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่บนพื้นโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่หอสังเกตการณ์ซีกโลกใต้แห่งยุโรป (ESO) ณ หอดูดาวลาซียา ในประเทศชิลี ได้สำรวจพบดาวฤกษ์ที่มีแสงสลัวดวงหนึ่งชื่อ 2MASS J23062928-0502285 หรือที่เรียกว่า ดาวแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) ดาวดวงนี้เป็นดาวแคระอุณหภูมิต่ำ (Ultra-cool Dwarf) ที่มีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลก 3 ดวงโคจรอยู่โดยรอบ และอยู่ในกลุ่มดาวคนถือหม้อน้ำ (Aquarius) ห่างออกไปจากโลกของเราเป็นระยะทาง 40 ปีแสง ซึ่งการค้นพบดาวเคราะห์บริวารในครั้งนี้เกิดจากการที่นักดาราศาสตร์ได้สังเกตเห็นเงามืด อันเกิดจากการที่มีวัตถุผ่านเข้ามาบดบังแสงจากดาวฤกษ์ และนับเป็นครั้งแรกในตอนนั้นที่มีการค้นพบดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์ซึ่งเป็นดาวเเคระอุณหภูมิต่ำ

 

http://www.trappist.ulg.ac.be/cms/c_3300885/en/trappist-portail
กล้องโทรทรรศน์แทรพพิสต์ (TRAPPIST) จาก, http://www.trappist.ulg.ac.be/cms/c_3300885/en/trappist-portail

 

https://www.eso.org/public/images/eso1615a/
ภาพจำลองดาวฤกษ์ TRAPPIST และดาวเคราะห์อีก 2 ดวง จากมุมมองบนดาวเคราะห์ที่ถูกค้นพบพร้อมกัน จาก, https://www.eso.org/public/images/eso1615a/

 

ต่อมากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (HUBBLE) ได้เฝ้าสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ 2 ดวงที่อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ดวงนี้มากที่สุด แม้จะยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศใด ๆ แต่ผลสำรวจก็ได้หนุนสมมติฐานที่ว่าดาวเคราะห์ดวงที่อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์มักจะมีสภาพเป็นก้อนหิน

 

https://www.spacetelescope.org/images/hubble_in_orbit1/
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (HUBBLE) จาก, https://www.spacetelescope.org/images/hubble_in_orbit1/

 

• การค้นพบครั้งใหม่ "เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017" 

เกิดการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่อีก 4 ดวงที่โคจรรอบดาวแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) เมื่อรวมกับดาวเคราะห์ที่เคยสำรวจพบแล้ว ดาวแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) จึงมีบริวารเป็นดาวเคราะห์รวมทั้งสิ้น 7 ดวง การสำรวจครั้งนี้ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปีตเซอร์ (SPITZER) อันเป็นกล้องที่ทำการสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด และกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกตัวเดิม คือ กล้องแทรพพิสต์ "TRAPPIST"  (Transiting Planets and PlanetIsmals Small Telescope) ที่ใช้ศึกษาเรื่องการเคลื่อนที่ของดาว

 

http://www.spitzer.caltech.edu/mission/197-Store-and-Dump-Telemetry
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปีตเซอร์  (SPITZER) จาก, http://www.spitzer.caltech.edu/mission/197-Store-and-Dump-Telemetry

 

https://www.nasa.gov/
ภาพเปรียบเทียบสถานะการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ TRAPPIST-1 จาก, NASA/JPL-Caltech

 

ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเหล่านี้ ได้เกิดเป็นระบบสุริยะแห่งใหม่ที่นาซ่าได้ตั้งชื่อว่า "ระบบแทรพพิสต์-วัน" (TRAPPIST-1 SYSTEM) ตามชื่อของกล้องโทรทรรศน์แทรพพิสต์ (TRAPPIST)  

_______________________________________________________________________

 

วิธีตรวจหาดาวเคราะห์ของระบบสุริยะใหม่ TRAPPIST-1 

นักดาราศาสตร์ได้ใช้วิธีการ Transit Method หรือ วิธีการเคลื่อนผ่านหน้า ในการตรวจพบดาวเคราะห์ระบบนี้  โดยใช้การสังเกตแสงของดาวฤกษ์ที่ลดลง เมื่อมีดาวบริวารเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ดวงแม่ ซึ่งค่าความสว่างที่ลดลงนี้มีความสัมพันธ์กับขนาดของดาวเคราะห์ จึงทำให้เราทราบถึงรัศมีของดาวเคราะห์ โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปีตเซอร์นั้น (SPITZER) มีความสามารถในการตรวจวัดรังสีช่วงคลื่นอินฟราเรดจากดาวฤกษ์ได้เป็นอย่างดี และกล้องโทรทรรศน์แทรพพิสต์ (TRAPPIST) ก็ยังใช้ในการสังเกตความสว่างของดาวที่เปลี่ยนไป รวมถึงการเคลื่อนที่ของดาวอีกด้วย 

http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/1454-kepler-421b-transiting-exoplanet-longest-year
ความสัมพันธ์ระหว่างความสว่างของดาวฤกษ์ดวงหลัก (Brightness-แกนตั้ง) กับเวลา (แกนนอน) ขณะที่ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ จะพบว่าความสว่างของดาวฤกษ์ดวงหลักนั้นลดลง จาก, http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/1454-kepler-421b-transiting-exoplanet-longest-year

 

 

 

วีดีโอแสดงวิธีการ Transit Method จาก, https://www.youtube.com/user/astrocarrie

_____________________________________________________________________

 

ลักษณะของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 

 • ดาวฤกษ์แทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) 

เป็นดาวแคระอุณหภูมิต่ำ (Ultra-cool Dwarf)  ที่มีอุณหภูมิพื้นผิวราว ๆ 2,277 องศาเซลเซียส (ดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิที่ผิวสูงถึง 5,500 องศาเซลเซียส)  มันจึงมีอุณหภูมิต่ำกว่าดวงอาทิตย์เกือบครึ่งหนึ่ง และมีความสว่างน้อยกว่าดวงอาทิตย์ถึง 2,000 เท่า ดาวดวงนี้มีมวลเพียง 1 ใน 12 เท่าของดวงอาทิตย์เท่านั้น และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 ใน 8 ของดวงอาทิตย์ มันจึงมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ และใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  

 

https://exoplanets.nasa.gov/news/1343/promising-worlds-found-around-nearby-ultra-cool-dwarf-star/
ภาพเปรียบเทียบขนาดและแสงของดวงอาทิตย์กับดาว TRAPPIST-1 จาก, https://exoplanets.nasa.gov/news/1343/promising-worlds-found-around-nearby-ultra-cool-dwarf-star/

 

http://nasa.tumblr.com/
 ภาพเปรียบเทียบหากดวงอาทิตย์มีขนาดเท่ากับลูกบาสเก็ตบอล TRAPPIST-1 ก็จะมีขนาดเท่าลูกกอล์ฟ จาก, http://nasa.tumblr.com

 

• ดาวเคราะห์แทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1b / 1c / 1d / 1e / 1f / 1g / 1h)   

จากข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสำรวจมวลและความหนาแน่นโดยเฉลี่ยของดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง พบว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดนั้นมีขนาดใกล้เคียงกับโลกของเรา ในจำนวน 6 ดวงที่อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์มากกว่านั้นเป็นดาวเคราะห์หิน  และดาวอย่างน้อย 3 ดวง คือ แทรพพิสต์-วันดี (TRAPPIST-1d) แทรพพิสต์-วันอี (TRAPPIST-1e) และแทรพพิสต์-วันเอช (TRAPPIST-1h) ยังมีพื้นผิวของสสารที่เป็นของเหลวคล้ายน้ำปกคลุมอยู่ด้วย  ทั้งนี้มวลของดาวเคราะห์แทรพพิสต์-วันเอช (TRAPPIST-1h) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 7 ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นดาวเคราะห์ประเภทใด แต่นักวิทยาศาสตร์ได้คาดเดาไว้ว่ามันคงเป็นเหมือนกับลูกบอลหิมะ เนื่องจากอยู่ห่างจากดาวฤกษ์มากที่สุดนั่นเอง

NASA/JPL-Caltech
ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ TRAPPIST-1 จาก, NASA/JPL-Caltech

 

VR 3 มิติ จำลองสภาพแวดล้อมบนดาวเคราะห์ TRAPPIST-1d  จาก, https://www.youtube.com/watch?v=o2MgG6KhO1E

 

ความพิเศษของดาวเคราะห์ในระบบนี้ คือ ล้วนมีขนาดที่ใกล้เคียงกับโลกทั้งสิ้น  

 

https://www.nasa.gov/
ภาพเปรียบเทียบขนาดของดาวเคราะห์ในระบบTRAPPIST-1 กับดาวเคราะห์หินในระบบสุริยะของเรา จาก, NASA/JPL-Caltech

_______________________________________________________________________

 

สิ่งมีชีวิตนอกโลกกับดาวเคราะห์คล้ายโลก

ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง ล้วนมีขนาดและมวลที่ใกล้เคียงกันกับโลก โดยดาวเคราะห์ 3 ใน 7 ดวงนั้นน่าจะมีปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้ เมื่ออิงจากระยะทางความห่างระหว่างดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์ในระบบนี้ จะพบว่าดาวเคราะห์ดวงที่อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ในลำดับที่ 4 ถึง 6  น่าจะมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนและไม่เย็นจนเกินไป ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่น้ำสามารถคงสถานะเป็นของเหลวได้ อาณาเขตดังกล่าวในห้วงอวกาศจึงจัดว่าเป็นพื้นที่ ๆ เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Habitable Zone) จึงมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจได้พบกับสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก   หรือแม้แต่ค้นพบโลกใบใหม่ของเราในอนาคตก็เป็นได้

 

ดาวเคราะห์ที่มีขนาดและลักษณะใกล้เคียงกับโลกเช่นนี้ เรียกว่า "ดาวเคราะห์คล้ายโลก"  นับเป็นครั้งแรกที่นาซ่าสำรวจพบดาวเคราะห์ประเภทนี้หลายดวงโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงเดียวกัน  

 

https://www.nasa.gov/
ภาพแสดงพื้นที่ ๆ เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต จาก, https://www.nasa.gov/

 

 

 

 https://www.nasa.gov/
  ดาวเคราะห์ TRAPPIST-1e / 1f / 1g  อยู่ในเขตพื้นที่ ๆ เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต จาก,  http://nasa.tumblr.com

 

 

NASA/JPL-Caltech
ระยะห่างระหว่างดาวฤกษ์กับดาวเคราะห์บริวารเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสถานะของน้ำบนดาวแต่ละดวง จาก, NASA/JPL-Caltech

_______________________________________________________________________

 

วงโคจรและระยะห่างระหว่างดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 

เนื่องจากดาวฤกษ์ในระบบนี้มีมวลและขนาดที่เล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก จึงทำให้ดาวเคราะห์มีวงโคจรอยู่ในระยะที่ไม่ห่างจากดาวฤกษ์นัก โดยดาวเคราะห์แทรพพิสต์-วันเอช  (TRAPPIST-1h) ที่เราเห็นว่าอยู่ไกลที่สุด ยังมีวงโคจรที่อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ของมันมากกว่าระยะห่างระหว่างวงโคจรของดาวพุธกับดวงอาทิตย์เสียอีก  ส่วนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ก็ยังมีวงโคจรที่อยู่ใกล้กันมากกว่าวงโคจรของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา  

 

• ระยะเวลาการโคจร

ดาวเคราะห์ในระบบแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) ที่อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ที่สุดทั้ง 6 ดวง จะใช้เวลาในการโคจรรอบดาวฤกษ์ตั้งแต่ 1.5-12 วัน ส่วนดาวเคราะห์แทรพพิสต์-วันเอช (TRAPPIST-1h) ที่อยู่ไกลออกไปนั้น จะใช้เวลาประมาณ 20 วัน ในการโคจรรอบดาวฤกษ์

 
www.nasa.gov
ภาพเปรียบเทียบระยะห่างของวงโคจรระหว่างดวงดาวในระบบ TRAPPIST-1 กับระบบสุริยะ จาก, NASA/JPL-Caltech

 

• มีระยะใกล้จนมองเห็นกันได้ด้วยตาเปล่า

เนื่องจากดาวเคราะห์แต่ละดวงนั้นอยู่ใกล้กันมาก ทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่าหากเราไปยืนอยู่บนดาวเคราะห์ดวงใดดวงหนึ่ง เราจะสามารถมองเห็นพื้นผิวหรือเมฆบนชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ได้  และเห็นในขนาดที่ใหญ่กว่าการยืนมองดวงจันทร์จากบนโลกเสียอีก 

 

https://www.nasa.gov/
ภาพจำลองพื้นผิวของดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 
จาก, NASA/JPL-Caltech

 

https://www.nasa.gov/
ภาพโปสเตอร์ท่องเที่ยวดาว TRAPPIST-1e ในจินตนาการของนาซ่า ที่มองเห็นไปถึงดาวเคราะห์ข้างเคียง จาก, NASA/JPL-Caltech

 

• มีระยะใกล้กับดาวฤกษ์มาก

ดาวเคราะห์ในระบบนี้อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางมาก นักดาราศาสตร์จึงเชื่อว่าแรงดึงดูดจากดาวฤกษ์อาจทำให้ดาวเคราะห์เหล่านี้อยู่ในสภาวะ “ไทดัลล็อค” (Tidal Lock) คือ สภาวะที่ดาวฤกษ์จะดึงให้ดาวเคราะห์หันหน้าไปทางดาวฤกษ์อยู่เพียงด้านเดียวตายตัว (ลักษณะเดียวกันกับดวงจันทร์ที่หันหน้าเข้าหาโลกเพียงด้านเดียว)  ทำให้บนดาวเคราะห์เหล่านี้มีสภาพแวดล้อมที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ด้านอย่างชัดเจน คือ ด้านที่มีอุณหภูมิอบอุ่นและเป็นช่วงกลางวันโดยถาวร กับด้านที่มีอุณหภูมิเย็นเยือกและเป็นช่วงกลางคืนโดยถาวร

 

https://astronomynow.com/2016/07/19/nasas-kepler-space-telescope-confirms-100-exoplanets-during-its-k2-mission/
ภาพจำลองแสดงให้เห็นถึงสภาวะ “ไทดัลล็อค” จาก, NASA/JPL-Caltech

 

 

TRAPPIST-1 Planets Tidally Locked to Star, Have Short Orbits | Video
Most, if not all, of the 7 Earth-sized planets in the ultra cool dwarf star system may only face one way towards their sun, similar to Earth’s moon. Their orbits range from 1.94 days to about 20.

วีดีโอแสดงให้เห็นถึงสภาวะ“ไทดัลล็อค”  จาก, http://www.space.com/35782-trappist-1-planets-tidally-locked-to-star-have-short-orbits-video.html

 

___________________________________________

 

เป้าหมายการสำรวจระบบสุริยะ  TRAPPIST-1  ในอนาคต

หลังจากการค้นพบล่าสุดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปีตเซอร์ (SPITZER) กล้องโทรทรรศน์อวกาศของนาซ่าตัวอื่น ๆ ก็ยังคงเฝ้าทำการสำรวจระบบสุริยะแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) เพิ่มเติม โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (HUBBLE) จะเริ่มต้นศึกษาเรื่องการมีอยู่ของชั้นบรรยากาศ โดยสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ 4 ดวง ซึ่งรวมถึงดาวเคราะห์ที่อยู่เขตพื้นที่ ๆ เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตด้วย นอกจากนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการค้นหาดาวเคราะห์คล้ายโลกที่โคจรรอบดาวฤกษ์ ก็มุ่งศึกษาระบบแทรพพิสต์-วัน  (TRAPPIST-1) ด้วยเช่นกัน

 

 

https://astronomynow.com/2016/07/19/nasas-kepler-space-telescope-confirms-100-exoplanets-during-its-k2-mission/
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler) จาก, https://astronomynow.com/2016/07/19/nasas-kepler-space-telescope-confirms-100-exoplanets-during-its-k2-mission/

 

• อนาคตปี 2018

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb) จะถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเพื่อสำรวจหลักฐานทางเคมี ร่องรอยของน้ำ มีเทน ออกซิเจน โอโซน และองค์ประกอบอื่นในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ รวมถึงวิเคราะห์อุณหภูมิและความดันที่พื้นผิวของดาวเคราะห์อีกด้วย 

 

http://www.sciencemag.org/news/2016/02/building-james-webb-biggest-boldest-riskiest-space-telescope
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บ (James Webb)  จาก, http://www.sciencemag.org/news/2016/02/building-james-webb-biggest-boldest-riskiest-space-telescope

 

• อนาคตปี 2020 ขึ้นไป 

กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ยักษ์บนพื้นโลก 2 แห่ง คือ The European Extremely Large Telescope (E-ELT) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ทำงานในย่านความถี่ที่ตามองเห็นได้ของหอสังเกตการณ์ซีกโลกใต้แห่งยุโรป (ESO) ที่จะตั้งอยู่ที่เซอร์โรอาร์มาโซเนส ในทะเลทรายอะตากามา ทางตอนเหนือของประเทศชิลี  และ The Giant Magellan Telescope (GMT) ที่จะตั้งอยู่ที่หอดูดาวลัสกัมปานัส บนสันเขาลัสคัมปานาส ประเทศชิลี ก็จะถูกนำมาใช้ในการสำรวจต่อไปในอนาคตเช่นเดียวกัน

 

http://www.eso.org/public/images/e-elt-night-v1-cc-mz-cc
 กล้องโทรทรรศน์ The European Extremely Large Telescope จาก, http://www.eso.org/public/images/e-elt-night-v1-cc-mz-cc

 

http://www.gmto.org/wp-content/uploads/GMT-2015-Night1%20medium.jpg
กล้องโทรทรรศน์ The Giant Magellan Telescopehttp จาก, http://www.gmto.org/wp-content/uploads/GMT-2015-Night1%20medium.jpg

 

ด้วยระยะทางอันห่างไกลของดวงดาวในระบบสุริยะแห่งใหม่ TRAPPIST-1 ที่อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 40 ปีแสง หรือประมาณ 378 ล้านล้านกิโลเมตร มนุษย์เราจึงยังไม่สามารถเดินทางไปสำรวจดวงดาวเหล่านั้นได้ในเร็ววันนี้ แต่ทางนาซ่ายังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่อนาคตของมวลมนุษยชาติในการสำรวจหาโลกใหม่หรือสิ่งมีชีวิตนอกโลกต่อไป

 

แหล่งข้อมูล
TRAPPIST-1 สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560
Largest Batch of Earth-size, Habitable Zone Planets สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560
Methods of detecting extrasolar planets สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560
NASA Telescope Reveals Largest Batch of Earth-Size, Habitable-Zone Planets Around Single Star สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560
Major Discovery! 7 Earth-Size Alien Planets Circle Nearby Star สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560
Promising worlds found around nearby ultra-cool dwarf star สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560
คู่มือดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560
Earth-Size Planets: The Newest, Weirdest Generation สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
Nearby exoplanet trio new target in search for life สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
Three Potentially Habitable Worlds Found Around Nearby Ultracool Dwarf Star สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
TRAPPIST-1 สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
NASA's Hubble Telescope makes first atmospheric study of Earth-sized exoplanets สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
TRansiting Planets and PlanetIsmals Small Telescope สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
เตรียมตัวต้อนรับกล้องยักษ์รุ่นใหม่ สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow