Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อุ่นนมแม่อย่างไร ให้สารอาหารอยู่ครบ

Posted By Plook Parenting | 17 ก.พ. 60
51,135 Views

  Favorite

ปัจจุบันหลังคุณแม่คลอดน้องออกมาแล้วไม่นานก็ต้องกลับไปทำงานตามปกติ ทำให้ไม่มีเวลาให้ลูกกินนมจากเต้าเท่าไหร่นัก จึงนิยมปั๊มนมแม่ใส่ถุงสต๊อก แช่เย็นไว้อย่างดี เมื่อลูกหิวก็ให้คุณพ่อ หรือคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายอุ่นนมให้ลูกกิน แต่คุณแม่รู้ไหมคะว่าหากอุ่นนมแม่ผิดวิธี สารอาหารที่ลูกควรจะได้อาจหายไปด้วย

 

เมื่อไม่นานมานี้เราเคยพูดคุยเกี่ยวกับประโยชน์และสารอาหารจากนมแม่กันไปในหัวข้อ มหัศจรรย์นมแม่ สารอาหารที่ทารกทุกคนควรได้รับ สำหรับคุณแม่ที่จำเป็นต้องปั๊มนมแม่ใส่ถุงแช่แข็งไว้ เพราะติดธุระต้องออกไปข้างนอก ต้องไปทำงาน กว่าจะกลับก็มืดค่ำ หรือมีน้ำนมมากเกินไปจนลูกกินไม่ทัน หากไม่ทราบวิธีการอุ่นนมที่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อสารอาหารในน้ำนมแม่ได้ วันนี้เราจึงนำเทคนิคการอุ่นนมแม่มาฝากค่ะ

 

เทคนิคการอุ่นนมแม่

1. ย้ายนมแม่ในถุงสต๊อกจากช่องแช่แข็งมาไว้ที่ช่องธรรมดา (ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนจะให้ลูกกินหนึ่งคืน)

2. เมื่อลูกจะกิน ให้นำถุงสต๊อกนมแม่มาทิ้งไว้นอกตู้เย็นเพื่อคลายความเย็นก่อนพักหนึ่ง

3. ระหว่างรอนมคลายความเย็น เตรียมพาชนะใส่น้ำอุ่นหรือน้ำอุณภูมิห้อง

4. หากนมแยกตัวเป็นชั้น ให้เขย่านมแม่ในถุงสต๊อกก่อน เพื่อให้น้ำนมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นค่อย ๆ ถ่ายใส่ขวด แล้วแช่ในพาชนะใส่น้ำอุ่น

5. ค่อย ๆ ป้อนให้ลูกกิน

 

ภาพ ShutterStock

 

คำแนะนำ

1. การอุ่นนมแม่

ห้ามนำนมแม่ในขวดนมอุ่นในไมโครเวฟ ที่อุ่นนมไฟฟ้า หรือในน้ำร้อนเด็ดขาด เนื่องจากวิตามินบางตัว รวมไปถึงสารภูมิคุ้มกันเซลล์เม็ดเลือดขาวอาจลดลงเพราะความร้อนได้ และอาจลวกปากลูกได้

 

2. หากลูกปฏิเสธไม่ยอมกินนม

หลายครั้งที่เด็กปฏิเสธไม่ยอมกินนมอุ่นจากขวด เพราะเคยชินกับการกินนมจากเต้า หรือเด็กอาจไม่ชอบนมอุ่น เนื่องจากมีกลิ่นหืนกว่านมจากเต้าของแม่ วิธีการแก้ปัญหาคือ ให้เด็กกินนมเย็น ๆ แทน (ความเย็นจะช่วยคงวิตามินและสารอาหารของนมแม่ไว้อย่างครบถ้วนอยู่แล้ว) นมเย็นจะช่วยลดความหืนของนม อีกทั้งยังเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่เด็กไม่เคยเจอมาก่อน อาจช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากกินนมมากขึ้น แต่หากลูกยังปฏิเสธอยู่ ลองขูดนมแช่แข็งกินเป็นไอศกรีมเลยก็ได้เช่นกัน

 

3. เลือกอุ่นนมแม่ที่สต๊อกไว้ตามลำดับ

การสต๊อกนมแม่แช่แข็งนับเป็นไอเดียที่ดีและสะดวก แต่หากทิ้งนมแม่ไว้นานเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน ฉะนั้นควรเรียงลำดับนมแม่ที่สต๊อกไว้ให้เป็นระเบียบ และเขียนวันเวลาในการสต๊อกให้ชัดเจน ถุงไหนที่สต๊อกไว้ก่อนควรหยิบมาอุ่นให้ลูกก่อน

 

4. ระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่

          - โดยทั่วไป หากปั๊มนมแม่ออกมาตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง (27-32 องศา) สารอาหารในนมแม่จะอยู่ได้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง หลังจากนั้นสารอาหารจะสลายไป

          - หากปั๊มนมแม่ใส่ถุงสต๊อกเก็บไว้ในช่องธรรมดาอุณหภูมิ 0-4 องศา จะเก็บนมแม่ไว้ได้ประมาณ 3-8 วันโดยที่สารอาหารยังไม่สูญสลายไป

          - สำหรับช่องแช่แข็งที่อุณหภูมิติดลบตั้งแต่ -4 องศาเป็นต้นไป จะเก็บนมแม่ไว้ได้ประมาณ 4-6 เดือน โดยที่สารอาหารยังไม่สูญสลายไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบและประเภทของตู้เย็นด้วย หากเป็นตู้เย็นแบบประตูเดียว (ไม่มีประตูแยกสำหรับช่องแช่แข็ง) อาจเก็บรักษานมแม่ไว้ได้เพียง 2 สัปดาห์

          - การเก็บนมแม่ในตู้แช่แข็งสำหรับเก็บนมแม่โดยเฉพาะ จะมีอุณหภูมิอยู่ที่ -19 องศา สามารถเก็บนมแม่ไว้ได้ประมาณ 6-12 เดือนโดยที่สารอาหารยังไม่สูญสลายไป

 

อย่างที่ทราบกันดีว่านมแม่มีคุณประโยชน์ต่อลูกน้อยมากมาย ควรให้ลูกดื่มนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ กะประมาณจากอายุของลูกคือ 3 ขวบ แต่คุณพ่อคุณแม่ และบุคคลใกล้ที่ช่วยดูแลลูกก็อย่าละเลยการเตรียมนมแม่เพื่อป้อนเด็กด้วยนะคะ เพราะหากทำผิดขั้นตอน อาจทำให้เด็กขาดสารอาหารที่จำเป็นได้โดยไม่รู้ตัวค่ะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow