พระเมรุมาศเปรียบเป็นสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยรอบพระเมรุมาศปรากกฏซึ่งอาคารบุษบกน้อยใหญ่ที่รายล้อมเปรียบได้กับเขาสัตบริภัณฑ์ หรือเขาบริวารทั้ง ๗ ของยอดเขาพระสุเมรุ ตามคติพราหม์ฮินดูและพุทธได้กล่าวถึงเขาพระสุเมรุไว้ว่าเป็นดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ที่มีเทพ เทวดา และสัตว์ป่าหิมพานต์อาศัยอยู่ บริเวณรอบพระเมรุมาศจึงประกอบไปด้วยประติมากรรมรูปต่าง ๆ ที่สื่อความหมายถึงชีวิตในแดนสุขาวดี
เนื่องจากบนยอดเขาพระสุเมรุนั้นเป็นที่ตั้งแห่งสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันมีผู้ปกครองสูงสุดคือ พระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่เหนือเทวดาทั้งปวง จึงสามารถโยงเข้ากับคติเกี่ยวกับพระนามของกษัตริย์ผู้เป็น “อินทราชา” ได้ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับพระอิศวรหรือพระศิวะ หนึ่งในเทพตรีมูรติผู้สถิต ณ เขาไกรลาสตามคติ “เทวราชา” และพระวิษณุหรือพระนารายณ์ หนึ่งในเทพตรีมูรติผู้สถิต ณ เกษียรสมุทรเพื่อคอยรักษาและคุ้มครองโลกตามคติ “รามราชา” ได้อีกด้วย การที่พระบรมศพได้รับอัญเชิญมากระทำพิธีที่พระเมรุมาศจึงเปรียบได้กับเทพเจ้าที่เสด็จกลับมายังแดนสวรรค์นั่นเอง
กลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ ได้คัดลอกลวดลายศิลปกรรมมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ภาพจากสมุดจิตรกรรมภาพสมุดไทยและภาพสมุดข่อยที่เป็นภาพวาดพระราชพิธีโบราณ รวมถึงประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ที่ประดับอยู่บริเวณปราสาทพระเทพบิดรภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนำมาเป็นต้นแบบในการปั้นรูปหล่อ เทพ เทวดา สัตว์มงคลประจำทิศ สัตว์หิมพานต์ต่าง ๆ โดยปราศจากการเพิ่มเติมเสริมแต่งจินตนาการใด ๆ ขึ้นมาใหม่
ภาพไตรภูมิจากสมุดข่อยฉบับหลวง สมัยธนบุรี,
จาก https://www.dmc.tv/pages/ความรู้รอบตัว/บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก.html
มีการปั้นรูปหล่อประติมากรรมทั้งหมดกว่า ๔๒๑ รายการ ได้แก่ เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ ๑๒ องค์ เทวดานั่ง ๕๖ องค์ องค์มหาเทพ ๔ องค์ ได้แก่ พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๑ คู่ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ และสัตว์มงคลประจำทิศ ได้แก่ ช้าง ม้า โค สิงห์ ทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๑ คู่ ตลอดจนสัตว์หิมพานต์ต่าง ๆ และมีประติมากรรมประดับรอบชั้นฐานและยอดของพระเมรุมาศ
กลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่กำลังปั้นสัตว์หิมพานต์,
จาก https://www .facebook.com/ sculpturefineart/
ทวยเทพประดับพระเมรุมาศ,
จาก https://www.facebook.com/sculpturefineart/
การจัดวางประติมากรรมเพื่อประดับพระเมรุมาศได้ยึดเอาแนวคิดเรื่องคติจักรวาลเข้ามาผนวกเช่นเดียวกันกับการจัดวางผังของสถาปัตยกรรม ประติมากรรมแต่ละชิ้นนั้นจะมีความหมายเฉพาะตัว และมีการจัดวางโดยเรียงลำดับชั้นให้สอดคล้องกันกับชั้นของพระเมรุมาศ เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงสวรรค์ชั้นภูมิต่าง ๆ อันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หิมพานต์ และเหล่าเทพ เทวดาในแต่ละชั้น
• ชั้นฐาน คือ ลานพื้นอุตราวรรต เปรียบได้กับเชิงเขาพระสุเมรุ สถานที่ตั้งของป่าหิมพานต์ จึงมีสระอโนดาตจำลอง และประติมากรรมรูปสัตว์หิมพานต์
• ชั้นชาลาที่ ๑ เปรียบได้กับสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ หรือสวรรค์ชั้นแรกที่อยู่ใกล้โลกมนุษย์ และมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากที่สุด มีท้าวจตุโลกบาลคอยปกปักรักษาทิศทั้ง ๔ จึงปรากฏประติมากรรมรูปท้าวจตุโลกบาล สัตว์หิมพานต์ และเทวดาชั้นต่าง ๆ
• ชั้นชาลาที่ ๒ ปรากฏประติมากรรมรูปครุฑเป็นสำคัญ เนื่องจากครุฑเป็นสัญลักษณ์แทนพระพาหนะที่จะคอยติดตามองค์กษัตริย์ไปในทุกที่ ๆ
• ชั้นชาลาที่ ๓ เป็นคติพราหมณ์ฮินดูและพุทธที่ผสมผสานกัน โดยนำมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง ๔ องค์มาร่วมสถิต ณ ชั้นฐานเดียวกัน และมีเทวดามาเฝ้ารับเสด็จองค์กษัตริย์
• ชั้นชาลาที่ ๔ คือ ที่ตั้งพระจิตกาธาน (แท่นถวายพระเพลิงพระบรมศพ) สำหรับประดิษฐานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ