Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พฤติกรรมถดถอย ... สัญญาณที่บอกว่าลูกกำลังมีปัญหา

Posted By Plook Parenting | 03 ก.พ. 60
18,945 Views

  Favorite

พฤติกรรมถดถอยของเด็ก (Regression) คือ การที่เด็กแสดงพฤติกรรมเป็นเด็กลงไปกว่าวัย เช่น จากที่ช่วยเหลือตัวเองได้กลายเป็นช่วยตัวเองไม่ได้ เลิกดูดนิ้วแล้วกลับมาดูดนิ้วใหม่ เอาแต่ใจตัวเอง หงุดหงิดงอแง กังวลต่อ การพลัดพรากจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ติดพ่อแม่หรือผู้ใหญ่มากขึ้น

 

ซึ่งอาการที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เด็กแสดงออกมาเพราะเกิดความคับข้องใจจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้พบเจอ ซึ่งอาจมีสาเหตุดังนี้

     • ความเจ็บป่วยทางกาย เมื่อเด็กไม่สบาย ร่างกายอ่อนแอ ทำให้ส่งผลต่อสภาพจิตใจ สิ่งที่เคยทำได้ก็จะไม่ทำเพราะรู้สึกไม่มั่นใจ ต้องให้พ่อแม่มาดูแล ทำโน่นทำนี่ให้ เอาใจใส่มากกว่าปกติ  

     • ปัญหาด้านจิตใจ (Traumatic Event, Stress, Frustation) เมื่อมีน้องคนใหม่ ลูกคนแรกมักแสดงอาการต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเขายังมีตัวตนและต้องเป็นที่หนึ่งอยู่เสมอ เช่น จากที่เคยเชื่อฟังกลายเป็นไม่ยอมฟัง ช่วยเหลือตัวเองได้ก็กลายเป็นไม่ทำ หรือทำไม่ได้เนื่องจากเด็กขาดความมั่นใจ กลัวว่าจะไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่เหมือนเดิม

     • เกิดจากโรคบางชนิด เช่น Rett Syndrome โดยเด็กจะมีพัฒนาการปกติในช่วงขวบปีแรก ต่อมาจะเริ่มพบความถดถอยทางภาษา การใช้มือและการเคลื่อนไหว เช่น จากที่พูดหรือสื่อสารได้ก็จะทำไม่ได้ มือที่เคยหยิบจับของเล่นได้ก็จะทำไม่ได้ และชอบสะบัดมือโบกไปมาอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย เคยทรงตัวและเดินได้ก็จะเริ่มเดินเซจนเดินไม่ได้ในที่สุด ซึ่งอาการเหล่านี้รวมเรียกว่า ALS: Amyotrophic Lateral Sclerosis, Duchenne Muscular Dystrophy, MPS

 

แม้เด็กวัย 1-3 ปี จะสามารถเริ่มทำความเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้บ้างแล้ว แต่บางครั้งอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กเกิดความคับข้องใจ ซึ่งเด็กยังระบายความเครียดออกมาไม่เป็น อาจทำให้เก็บกด เกิดความเครียดแบบสะสม จนนำไปสู่พฤติกรรมถดถอยได้ในที่สุด และอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็กเมื่อโตขึ้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องรีบแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของลูกโดยเร็วที่สุด

 

ภาพ ShutterStock

 

แนวทางและวิธีการแก้ปัญหา

1. พบแพทย์ ตรวจค้นโรคทางกาย

 

2. หาสาเหตุที่เกิดจากปัญหาทางจิตใจ

     • กระตุ้นให้พูดระบายความคิดและอารมณ์ 

     • เป็นที่พึ่งพิงทางใจ รับฟังปัญหา แสดงออกด้วยท่าทีเข้าใจ

     • ช่วยคิดหาทางออก หรือชมเชยเมื่อเด็กแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาด

     • หากิจกรรมผ่อนคลายทำร่วมกัน 

 

3. เพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูก

ด้วยการแสดงให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่รักเขาทั้งคำพูดและการกระทำ เช่น การโอบกอด หอมแก้มก่อนนอน การบอกรัก ให้คำชื่นชมเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดี

 

4. ลดความลำเอียงและความเหลื่อมล้ำในครอบครัว

อย่าบังคับให้พี่ยอมน้อง ด้วยเหตุผลเพราะเขาเป็นน้อง แต่ควรมีคำพูดอื่นด้วย เช่น "น้องยังทำเองไม่เป็น ถ้าลูกช่วยน้อง อีกหน่อยน้องก็จะทำเองเป็น" และไม่ควรเปรียบเทียบเด็ก ไม่ว่าจะเรื่องหน้าตา ความฉลาด  หรือพัฒนาการการเรียนรู้ เพราะเขาสามารถรับรู้ถึงการปฎิบัติที่แตกต่างกันได้ ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และขาดความมั่นใจในตัวเองได้

 

5. ระมัดระวังพฤติกรรมหรือคำพูดใด ๆ ที่ทำให้เด็กเกิดความเครียด ความกังวล หรือความเสียใจต่าง ๆ

เช่น ล้อเลียนปมด้อย หรือพูดถึงความผิด/เรื่องน่าอายของลูกต่อหน้าคนอื่น เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความเจ็บปวดทางจิตใจ ซึ่งอาจกลายเป็นปมฝังอยู่ในใจลูกไปตลอดได้

 

6. หลีกเลี่ยงการตำหนิแต่ใช้การอธิบายให้เข้าใจเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมถดถอย

เช่น ปกติเด็กสามารถกินข้าวเองได้ แต่พอมีน้อง เห็นพ่อแม่ป้อนข้าวน้องก็อยากให้มาทำให้ตัวเองบ้าง พ่อแม่ก็ไม่ควรไปดุหรือว่า แต่ส่งเสริมให้เด็กพยายามทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่คอยแนะนำและช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ พร้อมให้คำชมเชยเวลาที่เขาสามารถทำอะไรได้เอง

 

7. อย่านิ่งนอนใจเมื่อลูกมีพฤติกรรมถดถอยมากขึ้น

ควรพาเด็กไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง และได้รับแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป 


คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นพูดคุยและใส่ใจความรู้สึกของลูกอยู่เสมอ เมื่อสังเกตพบว่า ลูกเริ่มมีปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ ควรรีบแก้ไขให้ตรงจุด เพื่อให้เด็กได้ปรับความคิด และเกิดพฤติกรรมตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow