Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คำพูดต้องห้าม ยามปลอบใจคน

Posted By HUEdream | 31 ม.ค. 60
17,807 Views

  Favorite

หลายครั้งหลายครา เวลาที่คนใกล้ตัวเราเศร้าเสียใจหรือมีปัญหา เรามักปลอบใจพวกเขาด้วยวิธีต่าง ๆ นานา ซึ่งประโยคหวังดีของเราอาจจะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจก็ได้ วันนี้เราเลยยกตัวอย่างคำพูดที่ไม่ควรเอ่ยออกมาเวลาปลอบใจคนและประโยคที่แนะนำให้เอาไปปรับใช้ เพื่อที่จะได้เป็นถนอมน้ำใจเพื่อน ๆ ที่มาขอรับคำปรึกษาจากเราค่ะ

 

 

 

“อย่าคิดมาก”

ในเวลาที่คนใกล้ตัวกำลังเศร้า พยายามอย่าปลอบใจด้วยคำว่า “อย่า” เพราะให้ความรู้สึกเหมือนบังคบเขามากกว่าปลอบใจค่ะ แค่เพียงนั่งฟังหรือโอบกอดเพื่อสร้างกำลังใจให้เพื่อน หรือลองชวนเขาไปทำกิจกรรมดี ๆ เพื่อนำพาเขาออกจากความทุกข์ค่ะ

 

“ความผิดของเธอนั่นแหละ”

หลายครั้งที่คุณคาดเดาสถานการณ์ได้ล่วงหน้า ว่าเพื่อนตัวดีนี่แหละคือคนผิดจนเกิดเรื่องทำให้ต้องมานั่งปรึกษาคุณแบบนี้ แต่เจ้าตัวก็คงรับรู้ถึงความผิดนี้เช่นกัน การตอกย้ำไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ควรจะบอกสิ่งที่ถูกให้เข้าฟังแทน เช่น “ถ้าเป็นฉันก็คงอยากได้ยินคำขอโทษก่อนเหมือนกันแหละเนอะ”

 

 

 

“ทำไม...”

ทุกครั้งที่ปลอบใจ พยายามอย่าใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม” เพราะจะทำให้คนฟังเหมือนถูกตำหนิทางอ้อม แต่ให้ถามเขาว่า “รู้สึกอย่างไร” เพื่อให้เขาได้ระบายความในใจและทำให้ทบทวนตัวเองไปด้วยค่ะ

 

“เวลาจะช่วยรักษาเอง”

ประโยคนี้อาจจะเป็นจริง แต่เวลาเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ค่ะ และเราไม่มีทางรู้เลยว่ากว่าจะหายเศร้า ต้องใช้เวลามากแค่ไหน แต่เพื่อนมาปรึกษา เพราะอยากได้คำปลอบใจจากเราตอนนี้ เพื่อจะได้บรรเทาความโศกเศร้าให้ทุเลาลงบ้าง ควรจะถามเขาว่า “ต้องการให้อยู่เป็นเพื่อนไหม” อาจจะไม่มีคำตอบกลับมา แต่แค่มองตาก็คงจะรู้ใช่มั้ยคะว่าเพื่อนต้องการคุณแค่ไหน

 

“อีกแล้วหรอ” / “ขี้เกียจปลอบแล้วนะ”

อย่าคาดหวังผลของการปลอบใจมากเกินไปว่าจะทำให้เพื่อนหายจากอาการเศร้าได้ทันที เราต้องให้เขาตกผลึกความคิดด้วยตัวเองถึงจะผ่านช่วงเวลาแห่งความเศร้าไปได้ ซึ่งแต่ละคนอาจจะใช้เวลาไม่เท่ากัน

 

 

อย่าเก็บเรื่องเศร้าไปคิดตามมาก

ข้อนี้ไม่ใช่ประโยคห้ามพูด แต่เป็นสิ่งที่ห้ามทำค่ะ การแชร์ความทุกข์กับเพื่อนเป็นเรื่องดี แต่อย่าเก็บมาคิดให้หนักใจมาก ปล่อยวางเรื่องเศร้าของคนอื่นบ้าง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่ามีคนเศร้าเพิ่มมาอีกคน นั่นก็คือคุณนั่นเองค่ะ

 

นอกจากข้อแนะนำข้างต้นแล้ว ยังมีวิธี “ฟังด้วยใจ” คือไม่ต้องใช้เหตุผลในการฟัง แต่รับรู้ความรู้สึกไปกับเพื่อนให้ได้ ลองมาชมคลิปวิธีฟังจากใจกันค่ะ 

 

แต่สำหรับนักฟังมือใหม่ที่อาจจะรับมือความเศร้าได้ไม่เชี่ยวชาญนัก หรือสำหรับใครที่คิดว่าเพื่อนเข้าข่ายจะเป็นโรคซึมเศร้า ควรแนะนำให้เพื่อนโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือพาเขาไปหาจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องนะคะ 

 

เรื่องจาก Secret Magazine
เรียบเรียงโดย HUEdream
ภาพประกอบจาก pexels.com

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • HUEdream
  • 0 Followers
  • Follow