Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

EF (Executive Functions) “ทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” สำคัญแค่ไหน แล้วจะพัฒนาทักษะ EF ให้ลูกอย่างไรดี

Posted By Plook Parenting | 24 ม.ค. 60
18,261 Views

  Favorite

สมัยนี้แค่ให้ลูก “เก่ง” อย่างเดียวคงไม่พอ หากอยากให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องฝึกให้ลูกคิดเป็น สามารถยั้งคิด ไตร่ตรอง ควบคุมอารมณ์ได้ ยืดหยุ่นความคิดเป็น

ซึ่งจะช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายในชีวิต รู้จักการวางแผน มีความมุ่งมั่น จดจำสิ่งต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ สามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิต รวมทั้งรู้จักริเริ่มและลงมือทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้และมีผลต่อความสำเร็จในชีวิต ทั้งการงาน การเรียน และการใช้ชีวิต สิ่งที่กล่าวมานั้นคือคุณลักษณะที่เกิดจากการพัฒนาทักษะ EF

EF หรือ Executive Functions เป็นกระบวนการทางความคิด (Mental process) ในสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ คอยรับเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ไขปัญหา ก่อนที่เราจะตอบสนองออกไป ช่วยให้เราหยุดคิดไตร่ตรอง ก่อนที่จะทำอะไรลงไป เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ

 

ทักษะ EF มีทั้งหมด 9 ด้าน ดังนี้

1. ทักษะการจำเพื่อใช้งาน  (Working Memory)

คือการดึงข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่จำและเก็บไว้มาใช้ประโยชน์ตามสถานการณ์ที่พบเจอ

2. ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibition)

คือความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

3. ทักษะยืดหยุ่นความคิด (Shift/Cognitive Flexibility)

ความสามารถในการยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบความคิดเดิม ๆ

4. ทักษะควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)

ความสามารถในการควบคุมแสดงออกทางอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

5. ทักษะจดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention)

คือ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่าง ต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง

6. ทักษะติดตามประเมินตนเอง (Self-Monitoring)

คือการรู้จักตนเอง รู้ว่าทำอะไรคิดอะไร สามารถประเมินหาข้อบกพร่องได้

7. ทักษะริเริ่มและลงมือทำ (Initialing)

คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำตามที่คิด กล้าทำ ไม่กลัวความล้มเหลว

8. ทักษะวางแผนและจัดระเบียบดำเนินการ (Planning and Organizing)

คือ ทักษะการทำงาน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การวางแผน และการมองเห็นภาพรวม

9. ทักษะมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence)

คือ ความพากเพียรและอดทนมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ซึ่งทักษะ EF นี้สามารถพัฒนาได้ด้วยการเรียนรู้และฝึกฝน หากทักษะด้านใดด้านหนึ่งบกพร่องไป ย่อมเกิดปัญหากับการดำเนินชีวิตตามมา ตัวอย่างเช่น เด็กไม่สามารถยับยั้งควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ทำให้มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น หรือ ขาดสมาธิไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ส่งผลให้ลงมือทำอะไรก็ไม่สำเร็จ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพัฒนาทักษะ EF ให้กับลูกเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขรอบด้าน

 

ภาพ Shutterstock

 

แนวทางในการพัฒนาทักษะ EF

1. ช่วงเวลาทอง

EF เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับขั้นตอน โดยในช่วงวัย 3 - 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF ให้กับเด็ก เพราะเป็นช่วงที่สมองมีอัตราการเจริญเติบโตก้าวหน้า สามารถพัฒนาทักษะ  EF ได้มากที่สุด

2. สังเกตพฤติกรรม

คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าลูกมีจุดแข็ง จุดอ่อนในทักษะด้านใด เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงทักษะด้านนั้น

3. ฝึกฝนและพัฒนา

ในการพัฒนาทักษะ EF นั้นสามารถทำได้หลายวิธี บางวิธีเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น สร้างวินัยในการเข้าคิว ให้รู้จักการรอเพื่อฝึกการควบคุมอารมณ์ คุณพ่อคุณแม่อาจจะหากิจกรรมต่าง ๆ มาให้ลูกทำเพื่อพัฒนาทักษะ EF ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เล่นดนตรี วาดภาพ เล่นกีฬา การเล่นอย่างสร้างสรรค์ ล้วนเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนาทักษะ EF ได้ เพราะกิจกรรมเหล่านั้นทำให้เด็กมีสมาธิ จำและทำสิ่งต่าง ๆ อย่างใจจดใจจ่อ รู้จักการวางแผน ฝึกการคิด การวางเป้าหมาย สร้างจินตนาการเพื่อนำไปปรับใช้ ได้เผชิญกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ เรียนรู้การเข้าสังคมและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น

4. ดูแลและใส่ใจ

นอกจากจะพัฒนาทักษะ EF แล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องใส่ใจดูแลเรื่องอาหารการกิน การพักผ่อน ให้ความรักความอบอุ่น คอยเป็นกำลังใจอยู่เสมอ เพื่อให้เด็กมีประสิทธิภาพในการรับรู้ เพราะถ้าประสาทสัมผัสทั้งหลายไม่ดีอาจส่งผลต่อการรับรู้ของเด็ก ทำให้ไม่สามารถพัฒนาทักษะ EF ได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญคืออย่าให้เด็กเครียด เพราะเมื่อเกิดความเครียดขึ้นสมองส่วนหน้าก็จะไม่ทำงาน

 

มีงานวิจัยมากมายระบุว่าเด็กที่มี EF ดี จะมีความพร้อมทางการเรียนมากกว่าเด็กที่ EF ไม่ดี และประสบความสำเร็จได้ในการเรียนทุกระดับ จนถึงการทำงาน เด็กที่คิดเป็น ไม่หุนหันพลันแล่น มีเป้าหมาย มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จเมื่อโตขึ้น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow