Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รักลูกอย่าตีลูก

Posted By ฉันทิดา สนิทนราทร | 17 ม.ค. 60
9,607 Views

  Favorite

ตอนเด็ก ๆ เราอาจเคยถูกพ่อแม่หรือครูตี ทำให้เราอาจมองว่าการตีนั้นเป็นเรื่องธรรมดาในการอบรมดูแลลูก แต่จริง ๆ แล้วการตีมีแต่จะส่งผลเสียต่อลูกทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 

มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า การตีหรือการทำให้ลูกเจ็บโดยวิธีใด ๆ นั้นไม่เป็นผลดีต่อลูกเลยแม้แต่น้อย และนี่คือเหตุผลสำคัญว่าเพราะเหตุใดเราจึงไม่ควรตีลูก เรื่องนี้มีความสำคัญมาก จึงอยากเขียนให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านกันค่ะ

 

1. การตีเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูก

การตีลูกมีแต่จะทำให้ลูกรู้สึกโกรธและหวาดกลัว เป็นการทำลายความรัก ความไว้วางใจที่ลูกมีต่อเรา ครูแป๋มได้สัมภาษณ์เด็กหลายคนที่ถูกพ่อแม่ตี เด็กๆ มักพูดถึงความรู้สึกที่ถูกตีในทำนองที่คล้ายกันว่า “พ่อแม่คงไม่รักหนู เพราะพ่อแม่ตีหนูบ่อยๆ หนูไม่ชอบเลย หนูเจ็บ หนูไม่อยากให้พ่อแม่ตีหนู” เด็กที่ถูกพ่อแม่ตีมักรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักเขา ถ้ารักเขาคงไม่ทำให้เขาเจ็บ ซึ่งเด็ก ๆ มักจะจดจำประสบการณ์ความรู้สึกเจ็บปวดจากการถูกตีได้อย่างฝังใจ และต้องใช้เวลานานพอสมควร (ในเด็กบางคนใช้เวลาหลายปี) กว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับมาดีได้อีกครั้ง การตีลูกจึงมีแต่จะขาดทุน ไม่คุ้มค่ากับผลที่ได้รับเอาเลยจริง ๆ ค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

2. การตีลูกอาจทำให้ลูกบาดเจ็บ และมักทำให้เรารู้สึกเสียใจในภายหลัง

เมื่อเราโกรธ ไม่พอใจลูก และลงโทษลูกด้วยการตี มีแนวโน้มสูงว่าเราอาจจะตีลูกอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บ เด็กบางคนถูกพ่อแม่ตีด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อย แต่เนื่องจากพ่อแม่รู้สึกโกรธลูกมาก จึงตีลูกอย่างรุนแรงหลายครั้ง ทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ กว่าจะหายก็ใช้เวลานาน และเมื่อพ่อแม่ตีลูกไปแล้วก็มักรู้สึกผิดและเสียใจมากในภายหลัง ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงการลงโทษลูกในขณะที่เราโกรธ ถ้ารู้สึกตัวว่าโกรธมาก อยากจะตีลูกจริง ๆ ให้สูดลมหายใจลึก ๆ นับ 1-10 แล้วเดินออกไปสงบอารมณ์ก่อนจะดีกว่าค่ะ

3. การตีส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของลูก

การตีเด็กทำให้เด็กรู้สึกโกรธ หงุดหงิด กลัว คับข้องใจ ไม่มีความสุข ส่งผลให้เด็กรู้สึกซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ เวลาที่ลูกถูกตีลูกจะไม่สามารถสัมผัสได้ถึงความรักใดๆ ที่พ่อแม่มีให้เขา แต่ลูกจะสัมผัสได้ถึงความไม่พอใจที่พ่อแม่มีต่อเขา ทำให้เขาคิดและรู้สึกได้ว่า เขาเป็นเด็กไม่ดี ไม่สมควรได้รับสิ่งดีๆ ไม่เป็นที่รัก ไม่มีคุณค่า ส่งผลให้ลูกมีการเคารพนับถือตนเอง (รวมทั้งการเคารพนับถือพ่อแม่) ต่ำ เห็นคุณค่าในตนเองน้อย การตีลูกจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของลูกทั้งในระยะสั้นและระยาว ดังนั้น รักวัวให้ผูก รักลูกอย่าตีลูกเลยนะคะ

4. การตีลูกไม่เคยช่วยแก้ปัญหาได้เลย

 คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจตีลูกโดยมุ่งหวังอยากอบรมสั่งสอนให้ลูกเชื่อฟัง ทำตามที่พ่อแม่สอน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อลูกถูกตี ลูกจะมีแต่ความโกรธ กลัว และหาทางปกป้องตนเองจนบางครั้งอาจพูดโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกตี ลูกจึงไม่ได้ยิน และไม่สามารถเรียนรู้สิ่งที่พ่อแม่ต้องการสอนด้วยการตีได้เลย การตีอาจช่วยหยุดยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกได้ชั่วคราว แต่ความรัก ความผูกพัน ความเอาใจใส่ที่เรามีต่อลูกต่างหากคือยาใจชั้นดีที่จะอยู่ยั้งยืนยาวในใจลูก ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองเป็นที่รัก มีอารมณ์ผ่อนคลาย สามารถรับฟังเรียนรู้สิ่งที่พ่อแม่ต้องการสอนได้เป็นอย่างดี และช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น เด็กที่มีพฤติกรรมไม่น่ารักจึงเป็นเด็กที่ต้องการความรักจากคุณพ่อคุณแม่มาก ๆ ค่ะ

5. ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมการตีจากพ่อแม่

เด็กๆ มักคอยสังเกต ซึมซับ และเลียนแบบพฤติกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ การตีลูกจึงเหมือนเป็นการส่งสัญญาณบอกลูกว่า การตีเป็นวิธีการที่เราแสดงออกเมื่อเราโกรธหรือไม่ได้ดั่งใจ เป็นเรื่องปกติ สามารถทำได้ เราจึงอาจเห็นลูกมีพฤติกรรมตีตนเอง ตีพ่อแม่ ตีคนอื่น เมื่อเขารู้สึกไม่พอใจ เพราะลูกไม่รู้วิธีการแสดงออกที่เหมาะสมนอกจากการตี และมีแนวโน้มสูงว่า เมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะตีลูกของตัวเองเช่นกัน ซึ่งเราสามารถหยุดวงจรการตีนี้ได้ด้วยการหยุดตีลูกของเรา และใช้วิธีการอบรมอย่างเหมาะสมด้วยวิธีอื่น ๆ แทน ไม่เพียงแต่รุ่นลูกของเราจะได้รับประโยชน์เท่านั้น รุ่นหลานของเราก็จะได้รับประโยชน์จากการเป็นต้นแบบที่ดีของเราด้วยเช่นกันค่ะ

 

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การตีลูกนั้นมีแต่ผลเสีย อาจจะหยุดยั้งพฤติกรรมไม่น่ารักของลูกได้ชั่วคราวก็จริง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่างๆ ที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย การตีลูกจึงมีแต่จะขาดทุน แต่การให้ความอบอุ่น ความเอาใจใส่ รับฟังและปฏิบัติต่อลูกด้วยความรักนั้นมีแต่จะได้กำไร และมีคุณค่ามหาศาลต่อพัฒนาการตลอดช่วงชีวิตของลูกค่ะ ดังนั้น รักลูกอย่าตีลูกเลยนะคะ

 

 

 

ครูแป๋ม ฉันทิดา สนิทนราทร เวชมงคลกร

นักจิตวิทยาพัฒนาการ & นักเล่นบำบัด

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ฉันทิดา สนิทนราทร
  • 0 Followers
  • Follow