Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีจัดการลูกน้อยจอมต่อต้าน

Posted By Plook Parenting | 11 ม.ค. 60
4,700 Views

  Favorite

พฤติกรรมชอบต่อต้าน เช่น พูดว่า ไม่เอา ไม่ทำ หรือทำในสิ่งตรงข้ามกับที่ผู้ใหญ่บอก พบเจอบ่อยในวัย 2 - 4 ปี เพราะเด็กเริ่มมีภาษาพูดมากขึ้น รู้จักต่อรอง เจรจาได้มากขึ้น แต่วุฒิภาวะทางอารมณ์ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเองของตัวเองและให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงอยากทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น

 

โดยเด็กหลายคนมักชอบที่จะท้าทายพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด เพราะอยากเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบหรือไม่ชอบเอง ซึ่งพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมลูกได้ทั้งหมดเหมือนเคย

พฤติกรรมต่อต้านในเด็กจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบุคลิกและพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็ก ยิ่งถ้าเป็นเด็กที่เพิ่งมีน้อง พฤติกรรมต่อต้านอาจจะมีมากขึ้น เพราะเด็กต้องการพิสูจน์ว่าเขาก็มีตัวตน และอยากให้พ่อแม่หันมาสนใจ ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน เป็นพัฒนาการตามวัย แต่พฤติกรรมเหล่านี้จะไม่หายไปถ้าตอบสนองไม่เหมาะสม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรมีวิธีการรับมือให้ถูกต้อง เพื่อช่วยให้ลูกได้มีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่ดีต่อไป

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. เปิดโอกาสให้เด็กเตรียมตัว

ให้เวลาเขาได้เตรียมใจในการจะทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ เช่น ในขณะที่ลูกกำลังเล่นอยู่ ให้บอกลูกว่า “อีก 10 นาที แม่จะพาลูกไปอาบน้ำหรือกินข้าวแล้วนะ” เมื่อพูดจบ ลูกอาจจะแสดงอาการต่อต้านออกมา ก็ปล่อยให้เขาได้ระบายความรู้สึกไม่พอใจ ควรปล่อยให้ลูกเล่นไปก่อนสักพัก ไม่ควรคาดหวังให้เด็กทำตามทันที ควรให้เวลาแก่เด็กบ้าง

2. ไม่ควรเอาชนะเด็กตรง ๆ ด้วยการใช้อำนาจ หรือความรุนแรง

ควรมีเทคนิคในการจูงใจให้เด็กอยากทำสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ การบอกซ้ำ ๆ หรือคะยั้นคะยอจะยิ่งทำให้เด็กต่อต้านมากยิ่งขึ้น

3. ไม่ควรพูดถึงเด็กในทางลบ

การที่คอยตอกย้ำว่าลูก “ดื้อหรือเป็นเด็กไม่ดีไม่เชื่อฟัง” เด็กจะรู้สึกว่าตนเองเป็นเช่นนั้น จึงมักทำตัวแบบนั้นจริง ๆ ตามที่ผู้ใหญ่พูด ที่ถูกต้องคือ ควรส่งเสริมให้เด็กเห็นข้อดีด้านบวกของตนเองด้วยการชม เช่น “หนูเป็นเด็กมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น” จะทำให้เกิดพฤติกรรมด้านบวกได้มากกว่า

4. มีเหตุผลกับเด็กเสมอ

คุณพ่อคุณแม่ควรบอกกับลูกด้วยเหตุผลอย่างจริงจัง และบอกสิ่งที่ต้องการให้ลูกทำอย่างชัดเจน บางครั้งที่ลูกต่อต้านเกิดจากไม่เข้าใจถึงสิ่งที่พ่อแม่ให้ทำ ดังนั้นทุกครั้งที่ต้องการให้ลูกทำตามคำสั่ง อาจบอกถึงข้อดีของการกระทำนั้น ๆ เช่น “แม่อยากให้ลูกไปอาบน้ำ เพราะมันจะทำให้หนูสดชื่นและหายคันด้วยนะ” ซึ่งเมื่อเด็กรู้ว่าสิ่งที่ทำเกิดผลดีกับตัวเอง ก็จะอยากทำมากยิ่งขึ้น

5. ให้ทางเลือกแก่เด็ก

เนื่องจากเด็กวัยนี้ไม่ชอบการถูกบังคับ ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้เด็กตัดสินใจเอง เขาจะรู้สึกว่าตนควบคุมสถานการณ์ได้ เช่น “หนูจะให้คุณแม่พาไปอาบน้ำ หรือจะให้คุณพ่อพาไปคะ” เมื่อเด็กได้เลือกเอง ก็จะไม่ค่อยรู้สึกว่าถูกบังคับ แต่ความจริงสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ให้เด็กเลือก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคิดมาแล้ว ว่าลูกจะเลือกตัวเลือกไหนก็ได้ผลลัพธ์เดียวกัน ซึ่งบรรลุสิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องหงุดหงิดอารมณ์เสียกันทั้งสองฝ่าย

 

สิ่งสำคัญในการรับมือกับภาวะดื้อต่อต้านของเด็ก คือการเข้าใจและยอมรับธรรมชาติของเด็กในแต่ละวัย ซึ่งเด็กแต่ละคนมีพื้นอารมณ์ที่แตกต่างกันมาตั้งแต่เกิด คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ควรลองสังเกตว่าลูกมีพื้นอารมณ์อย่างไรและเลือกวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมในแต่ละเหตุการณ์จะช่วยให้ลูกสามารถปรับตัวได้อย่างมีความสุข

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow