Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อีกหนึ่งคำอธิบาย ..."ทำไมเราตื้นตันน้ำตาไหล เวลาเห็นในหลวง ร.๙ " โดย ดร.ณัชร

Posted By มหัทธโน | 07 พ.ย. 59
115,428 Views

  Favorite

 

หนึ่งในบทความดี ๆ ที่พยายามอธิบายถึงที่มาของคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัย
"ทำไมคนจำนวนมากถึงน้ำตาไหล เมื่อเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ หรือนึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ? " โดย ดร.ณัชร สยามวาลา

นอกเหนือจากหลากหลายความรู้สึก เช่น คิดถึง อาลัย ซาบซึ้งแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเหตุผลที่นำเสนอไว้ เพื่อให้ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ได้ลองพิจารณาอย่างน่าสนใจพร้อมเหตุผลสนับสนุน ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และพุทธศาสตร์
 

**หมายเหตุ**
บทความนี้เดิมเขียนขึ้นไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๕๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๙
ดังนั้นพระนาม “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในบทความนี้ จึงหมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

................................................................................

ซีรี่ส์ “เรื่องดี ๆ จากดร.ณัชร” เรื่องที่ 128

 

 

“…พอเห็นพระองค์ท่านโบกพระหัตถ์ ผมก็น้ำตาไหลเลยครับ  ไม่รู้ว่าทำไม  อยู่ ๆ ก็ไหลออกมา…”

“…พอขบวนรถท่านเสด็จฯ ผ่าน  พี่ก็น้ำตาท่วมเลย  ได้แต่โบกธง  พยายามจะตะโกนคำว่า “ทรงพระเจริญ” แต่มันพูดไม่ออกน่ะค่ะ  มันสะอื้นเฮือกออกมาจากข้างในอกเลย  ไม่รู้ว่าเป็นอะไรค่ะ…”
 

ผู้เขียนเชื่อว่า พวกเราชาวไทยที่มีความจงรักภักดีทุกคนคงจะเคยมีประสบการณ์ตื้นตันน้ำตาไหล หรืออย่างน้อยก็น้ำตาคลอกันบ้าง เวลาเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ไม่ว่าจากการได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จฯ ณ สถานที่จริงหรือเพียงการได้เห็นพระองค์ท่านผ่านสื่อต่าง ๆ

หลายคนพูดเหมือนกันว่า “ไม่รู้ว่าทำไม…”
 

วันนี้เราจะมาพบกับคำตอบว่า “ทำไม”

เชื่อหรือไม่ว่าทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสตร์มีคำตอบ!
 

 

“ปีติ” ในแง่วิทยาศาสตร์

ผู้เขียนได้อ่านนิยามของปีติในแง่วิทยาศาสตร์ครั้งแรก เมื่อได้ลงทะเบียนเรียนออนไลน์วิชา ศาสตร์แห่งสุข (The Science of Happiness) ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเมืองเบิร์คลีย์เมื่อปีที่แล้ว
 

ผู้ริเริ่มค้นคว้าเรื่องนี้ คือ ศาสตราจารย์โจนาธาน ไฮด์ท (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาสังคมแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก  เขาตั้งคำถามว่า

 “ทำไมบางครั้งมนุษย์เราจึงรู้สึกตื้นตันถึงขั้นน้ำตาไหล เมื่อได้เห็นหรือรับรู้ การทำความดี หรือความเสียสละของผู้อื่น…ถึงแม้ตัวเราเองจะไม่ได้เป็นผู้ได้รับประโยชน์นั้นโดยตรง ?”

 

หลังจากการค้นคว้าวิจัย ศ.ไฮด์ทค้นพบสิ่งที่เขาเรียกว่า “Elevation”

ซึ่งผู้เขียนขอแปลว่า “ปีติ” อันมีนิยามว่า “ความรู้สึกอบอุ่นใจ ซาบซึ้งประทับใจ และการรู้สึกว่าจิตได้รับการยกขึ้น”

 

ศ.ไฮด์ทกล่าวว่า

สภาวะ “ปีติ” นี้ จะเกิดขึ้นเมื่อเรา “ได้เห็นผู้อื่นทำความดี แสดงความเมตตากรุณา หรือความกล้าหาญ”

ทันทีที่เห็นคำนิยาม ผู้เขียนก็นึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นมาทันที

 

“ปีติ” ไม่ได้เพียงแค่ทำให้เราน้ำตาไหลเท่านั้น 
แต่ศ.ไฮด์ทค้นพบว่ามันส่งผลให้เรา “ลงมือทำ” อะไรบางอย่างต่อไปด้วย!

ลองอ่านดูว่าคุณเองก็เป็นเช่นนี้หรือไม่
 

 

ผลที่ตามมาของ “ปีติ”

ศาสตราจารย์ไฮด์ทอธิบายว่าเมื่อภาวะ “ปีติ” นี้เกิดขึ้นกับใคร มันจะส่งผลให้ผู้นั้น

๑) อยากช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง

๒) อยากเป็นคนที่ดีขึ้นมีคุณธรรมขึ้น และ

๓) ทำให้เกิดความต้องการที่จะมีส่วนร่วม หรือผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับบุคคล ที่ทำให้เราเกิดความ “ปีติ” นั้นด้วย

 

ฟังแล้วยิ่งขนลุกและรู้สึกขึ้นมาว่า “ใช่เลย!”

เพราะไม่เพียงน้ำตาแห่งความปีติเท่านั้น  เมื่อคนไทยเราได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เราจะอยากทำสิ่งต่อไปนี้ด้วย คือ
 

๑) “ทำดีเพื่อพ่อหลวง” ในรูปแบบการช่วยเหลือผู้อื่น

๒) “ตั้งใจจะเป็นคนดีเพื่อพ่อ” และ

๓) ตั้งสัจจอธิษฐานว่า “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” ซึ่งก็คือความประสงค์ที่จะ “ผูกพัน” เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ท่านนั่นเอง

ตรงเป๊ะครบทั้ง ๓ ข้อตามผลการวิจัยของ ศ.ไฮด์ท ทุกประการ!
 

 

“ปีติ” ที่วิทยาศาสตร์ยังอธิบายไปไม่ถึง

แต่ที่น่าสนใจก็คือ คนไทยเราจะเกิดภาวะ “ปีติ” นี้ ไม่เพียงแต่ในขณะที่เราเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ บำบัดทุกข์บำรุงสุขช่วยเหลือราษฎร ที่ได้รับความลำบากเท่านั้น
 

เพราะเพียงแค่ได้เห็นพระองค์ท่านโบกพระหัตถ์ให้ หรือแม้แต่การได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ ในขณะแย้มพระสรวลน้อย ๆ ในคลิปเพลงสรรเสริญพระบารมี  คนไทยเราก็สามารถเกิดภาวะ “ปีติ” นี้ได้เช่นกัน
 

อย่าว่าแต่การได้เห็นพระองค์ท่านเลย  ผู้เขียนเองและเชื่อว่าชาวไทยแทบทุกคนที่ไปรอเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จอยู่ริมถนนก็เคยเกิดสภาวะ “ปีติ” น้ำตาไหล จากการเพียงได้เห็นรถพระที่นั่งประดับธงประจำพระองค์วิ่งช้า ๆ มาแต่ไกลแล้ว

คำอธิบายทางพุทธศาสตร์

ถึงแม้วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมแค่ได้เห็นเพียงรถพระที่นั่งพร้อมธงประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังเคลื่อนที่มาช้า ๆ พวกเราคนไทยก็เกิดปีติตื้นตันน้ำตาไหลได้แล้ว แต่พุทธศาสตร์สามารถอธิบายได้
 

นั่นคือ จิตมนุษย์นั้นเป็น “ธาตุรู้”
พูดง่าย ๆ ก็คือ
จิตเราสามารถ “รับรู้” ได้ถึง “พระเมตตา” ที่มีต่อพวกเราตลอดมาทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

 

ไม่ว่าในวินาทีนั้นสายตาเราจะกำลังเห็นภาพของพระเมตตาอยู่หรือไม่ก็ตาม!

 

 

พระเมตตาที่บางท่านอาจยังไม่รู้

พระเมตตานั้นลึกซึ้งกว่าที่เราเห็นด้วยตาจากพระราชกรณียกิจที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงช่วยราษฎรตามถิ่นทุรกันดารมากมายนัก

เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง “เจริญเมตตาภาวนา” ให้พสกนิกรและสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เสมอด้วย

"การเจริญเมตตาภาวนา"  คือ การตั้งจิตเป็นสมาธิ ส่งความเมตตาปรารถนาดี อยากเห็นผู้อื่นเป็นสุข ที่ส่งออกมาจากหัวใจ อย่างไร้เงื่อนไขและไม่ปรารถนาสิ่งใดตอบแทน

 

 

จากการศึกษาคำปรารภของเหล่าพระอริยสงฆ์ของไทยทุกองค์ ที่พูดถึงพระองค์ท่าน ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญเมตตาภาวนา เพื่อพวกเราทุกวันอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ในทุก ๆ วันพระ (อย่างน้อยในช่วงก่อนที่จะมีพระชนมพรรษามากขึ้นและทรงพระประชวร) ก็ยังทรงรักษาอุโบสถศีล หรือศีล ๘  และทรงอธิษฐานบุญกุศลนั้นให้พสกนิกรอย่างพวกเราทุกคนอยู่เย็นเป็นสุขอีกด้วย 

 

“จิต” รู้ แม้ “สมอง” ยังไม่รู้!

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงยอมสละความสะดวกสบายส่วนพระองค์ งดพระกระยาหารเย็น งดเว้นมหรสพในวันพระ รักษาศีลเจริญภาวนา เพื่อที่จะทรงอธิษฐาน “ยกส่วนบุญกุศลนั้นให้ประชาชนทุกคน” มาเป็นเวลาหลายสิบปีนั้น  “จิต” ซึ่งเป็นธาตุรู้ของพวกเราต้องรับรู้ได้แน่นอน

 

“จิต” ของพวกเราทุกคนได้รับพระเมตตาและพระกุศลที่ทรงอุทิศให้พวกเรามาโดยตลอด  ดังนั้นจิตจึง “รู้” และ “จำได้”

ถึงแม้ “สมอง” ของพวกเราจะยังไม่เคยทราบเรื่องราวเหล่านี้มาก่อนก็ตาม!

และนั่นคือคำอธิบายทางพุทธศาสตร์ว่า  “ทำไมเราถึงตื้นตันน้ำตาไหลเมื่อเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
 

 

อย่าเพียงแต่โศกเศร้า แต่เราจงสืบสานพระราชปณิธาน

วันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ สู่สวรรคาลัยแล้ว  พวกเราชาวไทยอย่าเพียงแต่โศกเศร้า 

แต่เราจงร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานด้วยการ “ทำดีเพื่อพ่อ” กันตลอดไปเถิด  เพื่อที่เราจะได้มีกำลังกุศลพอที่จะได้ “เกิดเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” จริง ๆ สมดังคำอธิษฐาน

 

..........................................................

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “สำเร็จทางโลก เพราะสุขทางธรรม” ของผู้เขียน หากมีกุศลใดที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่บทความนี้เป็นธรรมทาน  ผู้เขียนขอถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งหมด  ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้มีโอกาสเกิดเป็นข้ารองพระบาทในชาตินี้

และขอให้ทีมงานทุกท่านที่สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะได้มีส่วนร่วมในกุศลดังกล่าวไปด้วยทุกประการ

.................................................................

ประวัติผู้เขียน

ดร. ณัชร สยามวาลา  เป็นผู้สนใจบทบาทของการเจริญสติที่มีต่อการพัฒนาตนเอง  จบปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาโทที่บัณฑิตวิทยาลัยในสังกัดมหาวิทยาลัยทัฟทส์และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทุนแลกเปลี่ยนไปมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด

 

ดร.ณัชรจบปริญญาเอกด้านบทบาทของการเจริญสติในการพัฒนาภาวะผู้นำจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยได้รับทุนวิจัยปริญญาเอกไปวิจัยที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ  เคยเขียนคอลัมน์ Zen Sense ให้กับบางกอก โพสต์ เป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เคยเป็นวิทยากรที่มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่  เข้าคอร์สการเจริญสติตามแนวสติปัฏฐาน 4 ครั้งละอย่างน้อย 8 วันมาแล้ว 62 ครั้งและสอบผ่านหลักสูตรธรรมศึกษาเอก (นักธรรมเอก)

 

ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปล

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow