สิ่งน่ากลัวเวลาไปเที่ยวทะเล นอกจากว่ายน้ำไม่เป็น น้ำลึก คลื่นซัดแรง ก็คงเป็นสัตว์น้ำที่อยู่ในทะเลนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นฉลามที่รอจังหวะเข้าจู่โจม ปลากระเบนที่อาจจะฟาดหางใส่เรา หรือจะเป็นแมวน้ำและสิงโตทะเล แต่นั่นก็ใช่ว่าเราจะเจอพวกมันได้ง่าย ๆ ถ้าไม่หลงเข้าไปในถิ่นอาศัยของพวกมัน สิ่งที่น่ากลัวจริง ๆ น่าจะเป็น แมงกะพรุน ตัวใส ๆ ที่มองเผิน ๆ อาจจะมองไม่เห็น ลอยไปลอยมา ไม่ได้อยู่เฉพาะถิ่น ไม่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี จะมีบางเดือนหรือบางฤดูที่ลอยขึ้นมาริมน้ำ หรือถูกพัดเข้ามาชายฝั่งมากกว่าปกติ คนที่เล่นน้ำอยู่อาจจะถูกต่อย แต่เอ๊ะ! แมงกะพรุนมันต่อยได้จริง ๆ หรือ และทำไมแมงกะพรุนต่อยจึงทำให้เจ็บปวดได้ขนาดนี้
แมงกะพรุน (Jellyfish) ไม่ใช่ปลาเหมือนกับชื่อภาษาอังกฤษของมัน และก็ไม่ใช่แมงหรือแมลงตามชื่อภาษาไทยด้วย แมงกะพรุนเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอยู่ไฟลัม Cnidaria (ไนดาเรีย) เช่นเดียวกับ ดอกไม้ทะเล และไฮดรา มันมีความหลากหลายทางสายพันธุ์มากมายตั้งแต่ตัวที่มีหนวดยาวหลายเมตร ตัวใหญ่กว่ารถอีโคอย่างเช่น แมงกะพรุนขนสิงโต (Lion‘s mane) ที่มีความกว้างได้ถึงเกือบ 3 เมตร และยาวถึง 37 เมตรซึ่งยาวกว่าวาฬสีน้ำเงินเสียอีก ไปจนถึงตัวเล็ก ๆ อย่างแมงกะพรุนอิรุคันจิ (Irukandji Jellyfish) ซึ่งมีความยาวเพียงไม่เกิน 1 เซนติเมตร และหนักไม่เกิน 1 ออนซ์เท่านั้น แต่ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ส่วนประกอบหลักของแมงกะพรุนกลับเป็นน้ำปริมาณมากถึง 95% ของน้ำหนักตัว เจลาติน และยังประกอบไปด้วยสารโปร่งแสงที่เรียกว่า Mesoglea ซึ่งทำให้มันดูเบาบาง โปร่งแสง สามารถมองทะลุไปถึงเครื่องใน อวัยวะภายในได้ แต่ความเปราะบางที่งดงามนี้จำเป็นต้องปรับสภาพให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่โดนกัดกินจนสูญพันธุ์ไปซะก่อน และเป็นไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการสัตว์โลกก็ต้องปรับตัวติดอาวุธให้ตัวเองสามารถสู้กับสายพันธุ์อื่นให้ได้ และทำให้สัตว์ที่อาศัยอยู่บนโลกมากกว่า 600 ล้านปีนี้มีเซลล์เข็มพิษ
ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด
แมงกะพรุนหลายชนิดมีเข็มพิษ แม้แต่ตัวอ่อนของแมงกะพรุนซึ่งเรียกว่า เอเฟอเร (Ephyrae) มีรูปร่างเหมือนดอกไม้ขนาดเล็กเต้นระบำลอยล่องอยู่ในทะเลก็อาจจะมีพิษ หรือลูกแมงกะพรุนที่มีขนาดเล็กเพียงแค่ยางลบของดินสอก็สามารถจะต่อยเข็มพิษได้ หนวดของแมงกะพรุนประกอบไปด้วยเซลล์เหล็กในเป็นส่วนใหญ่ เซลล์เข็มพิษนี้เรียกว่า ไนโตไซท์ (Cnidocytes) อยู่คู่กับหนวดหรือแขนงที่ยื่นออกมารอบปากที่เรียกว่า เนมาโตไซท์ (Nematocytes) ซึ่งเจ้าตัวนี้จะเป็นท่อกลวงที่มีรูปร่างเหมือนแส้ ขดตัวเป็นวงภายใต้แรงดันออสโมติกสูง เหมือนกระสวยปล่อยเข็มพิษ เพื่อการป้องกันตัวเองและการจับเหยื่อ โดยอาจจะทำให้เหยื่อตาย หรือแค่สลบ บางสปีซีส์มีเหล็กในบริเวณกรวยโค้งด้านบนด้วย พิษจากเหล็กในจะถูกส่งออกมาผ่านเนมาโตไซท์ เมื่อมันได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าไม่ว่าจะทางเคมีหรือทางกลไกจากภายนอก ส่วนปิดเซลล์ด้านนอกก็จะเปิดออก ทำให้น้ำทะเลไหลเข้าไป และดันให้ฉมวกขนาดเล็กนี้พุ่งออกมาทะลุเข้าไปในสิ่งเร้าที่ตกกระทบพร้อมกับปล่อยพิษเข้าไปในเหยื่อ การปล่อยพิษกินเวลาเพียงชั่วเสี้ยววินาที อาจจะเป็นเวลาเพียง 1 ในล้านส่วนของวินาทีและทำให้มันเป็นหนึ่งในกระบวนการทางเคมีทางธรรมชาติที่เร็วที่สุด ที่มหัศจรรย์ไปกว่านั้นคือเซลล์เนมาโตไซท์ซึ่งทำงานตามหลักกลศาสตร์นี้ทำงานโดยอิสระไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวแมงกะพรุนเอง แปลว่า แม้แมงกะพรุนจะตายไปแล้ว แต่ถ้าหากคุณไปสัมผัสหนวดพิษของมัน คุณก็ยังจะถูกต่อยอยู่ดี
ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับผู้ที่โดนแมงกะพรุนต่อย หากเป็นแมงกะพรุนธรรมดาที่พิษไม่ร้ายแรง เราจำเป็นต้องนำหนวดที่อาจจะติดอยู่บริเวณผิวหนังออก เพราะเข็มพิษบางส่วนอาจจะยังไม่ทำงานและรอจังหวะทำงานอยู่ จึงไม่ควรล้างด้วยน้ำเปล่าหรือปัสสาวะเพราะความแตกต่างทางความเข้มข้นของเกลือจะกระตุ้นให้เข็มพิษถูกปล่อยออกมาได้ และการราดด้วยน้ำส้มสายชูหรือน้ำทะเลสามารถล้างให้เนมาโตไซท์หลุดออกไปได้ ก่อนที่จะรักษาอาการบาดเจ็บไปตามปกติ ในกรณีที่พิษไม่ร้ายแรงมาก ยาแก้ปวดและการทำแผลตามขั้นตอนปกติก็เพียงพอ แต่สำหรับบางคนที่แพ้พิษหรือเจ็บปวดรุนแรงจำเป็นต้องถูกส่งตัวไปให้ถึงมือแพทย์อย่างรวดเร็ว เพราะแม้เหล็กในของแมงกะพรุนส่วนใหญ่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดที่น่ารำคาญแต่ไม่เป็นอันตราย แต่บางชนิดก็ถึงตายได้ ไม่ว่าจะเป็นแมงกะพรุนอิรุคันจิ (Irukandji Jellyfish) หรือ แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) หรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า ต่อทะเล (Sea Wasp) ปล่อยพิษซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหดตัวและสามารถทำให้ตายได้อย่างรวดเร็วหากได้รับพิษในปริมาณมาก และตัวพิษเองก็ทำงานเร็วมากเช่นกัน
เรียบเรียงโดย ทีมงานทรูปลูกปัญญา
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=Pu_ijC8HFRU
http://www.planetdeadly.com/animals/dangerous-jellyfish
http://www.webmd.com/first-aid/jellyfish-stings-treatment
ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด