Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ย่านาง..สมุนไพรฤทธิ์เย็น มากคุณค่า เป็นยาอายุวัฒนะ!

Posted By Plook Panya | 17 ต.ค. 65
14,721 Views

  Favorite

สาระน่ารู้ สมุนไพรใกล้ตัว ในวันนี้มีสรรพคุณของสมุนไพรพื้นบ้าน มาบอกเล่าเก้าสิบกันเชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักแน่นอนค่ะ สมุนไพรตัวนี้หาง่ายพบได้ทั่วไป ราคาไม่แพง ไปตลาดทุกครั้งต้องเจอ นั่นก็คือ “ย่านาง” แต่บางคนบอกว่าเคยเห็นแต่น้ำสีเขียวบรรจุถุง และในขวดขายที่แม่ค้าขายที่ตลาด ยังไม่รู้เลยว่าหน้าตาของย่านางเป็นอย่างไร ไม่เป็นไรค่ะก่อนไปดูประโยชน์ของย่านาง เราจะพาไปทำความรู้จักกับ “ย่านาง” กันก่อน ถ้าพร้อมแล้วไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
 


ย่านาง (Ya-Nang) 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tiliacoratriandra (Colebr.) Diels
ชื่อสามัญ : Bamboo grass
วงศ์ : MENISPERMACEAE
ชื่ออื่น ๆ : เถาย่านาง , เถาวัลย์เขียว , หญ้าภคินี(ภาคกลาง) , จ้อยนาง , ผักจอยนาง(ภาคเหนือ เชียงใหม่) , ย่านนาง , ขันยอ , ยาดนาง , วันยอ(ภาคใต้) , ย่านาง(ภาคอีสาน) 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้เถาเลื้อยพัน กิ่งอ่อนมีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่แล้วผิวค่อนข้างเรียบ รากมีขนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่หรือรูปไข่ขอบขนานปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5 – 10 ซม. กว้าง 2 – 4 ซม. ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1 ซม. ดอกออกตามซอกโคนก้านใบเป็นช่องยาว 2 – 5 ซม. ช่อหนึ่ง ๆ มีดอกขนาดเล็กสีเหลือง 3 – 5 ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้นไม่มีกลีบดอก ผลรูปร่างกลมรีขนาดเล็ก สีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีเหลืองอมแดงและกลายเป็นสีดำ

 

ภาพ : Shutterstock

 

คุณค่าทางอาหาร

สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ศึกษาปริมาณสาร และคุณค่าทางอาหารในใบย่านาง พบว่า ย่านาง 100 กรัม ให้คุณค่าโภชนาการ ดังนี้
พลังงาน 95 กิโลแคลอรี  เส้นใย 7.9 กรัม  แคลเซียม155 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม  เหล็ก 7.0 มิลลิกรัม วิตามินเอ 30625 IU  วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.36 มิลลิกรัม ไนอาซิน 1.4 มิลลิกรัม  วิตามินซี 141 มิลลิกรัม  โปรตีน 15.5 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.24 เปอร์เซ็นต์
โพแทสเซียม 1.29 เปอร์เซ็นต์  แคลเซียม 1.42 เปอร์เซ็นต์  แทนนิน 0.21 เปอร์เซ็นต์ 

สรรพคุณของย่านาง

ยอดอ่อน : นำไปเป็นส่วนประกอบในแกงต่าง ๆ เช่น แกงหน่อไม้ แกงรวมกับผักชนิดอื่น ๆ
ใบ : ใช้เป็นยาถอนพิษหรือถ้าเรานำมาปรุงผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ จะเป็นยาแก้ไข้ แก้รากสาด แก้ไข้พิษ แก้ไข้เซื่องซึม แก้ไข้ปวดหัวตัวร้อน แก้ไข้อีสุกอีใส หัด เหือด แก้ไข้สะบัดร้อน รักษาลิ้นกระด้าง คอแข็ง คางแข็ง เป็นยากวาดคอ แก้ไข้ฝีดาษ และแก้ไข้ดำแดง
– นำใบมาบดแล้วคั้นเอาน้ำผสมน้ำมะนาวดื่มแก้พิษที่เกิด จากไอระเหยของยาฆ่าแมลง (อาการมึนเมาที่เกิดหลังการพ่นยาฆ่าแมลง)
– นำใบมาคั้นเอาน้ำทำอาหาร ใส่แกงหน่อไม้ หมกหน่อไม้ แกงเห็ด แกงขี้เหล็ก เชื่อว่ามีสรรพคุณแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อก้านที่มีใบผสมกับพืชอื่นใช้เป็นยาแก้ท้องเสียในกัมพูชา ในเวียดนามใช้เป็นเชือก 
ราก : ใช้รากแห้งครั้งละ 1 กำมือ (15 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้งแก้เบื่อเมา กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ แก้เมาสุรา ถอนพิษสำแดง แก้ไม่ผูกไม่ถ่าย และถ้าเอาไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ
จะเป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด ไข้รากสาด แก้ไขกลับแก้ไข้จับสั่นแก้ไข้อีสุกอีใส แก้ไข้เหือด หัดแก้ไข้ทรพิษ แก้ไข้สันนิบาต แก้ไข้มาเลเรียเรื้อรัง แก้ไข้ผ่าระดู แก้เลือดแตก เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้พิษภายในให้ตกสิ้น แก้โรคหัวใจบวม แก้กำเดา แก้ลม ฯลฯ
ทั้งต้น : นำมาปรุงเป็นยาแก้ไข้กลับ 

 

ภาพ : Shutterstock

 

การศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

น้ำย่านางมีคลอโรฟิลล์ สามารถเพิ่มความสดชื่น ปรับสมดุลร้อนเย็นในร่างกาย ลดไข้ ปวดแขนขา แสบร้อนเบ้าตา เป็นผดผื่นคัน แพ้อากาศ สามารถล้างสารพิษที่สะสมในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งมาจากอาหารและสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลทางโภชนาของย่านางระบุว่ามีเบต้าแคโรทีสูง สามารถต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย อุดมด้วยเส้นในอาหาร แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส

การวิจัยของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าย่านางมีฤทธิ์ลดไข้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum แก้ปวด ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการแพ้ ลดการหดเกร็งของลำไส้ ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase และมีฤทธิ์อย่างอ่อน ๆ ในการต้านอนุมูลอิสระ
การศึกษาด้านความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดน้ำจากทั้งต้นและสารสกัด 50% เอทานอลจากใบไม่เป็นพิษต่อหนูแรท แต่การป้อนรากย่านางในขนาดสูง มีความเป็นพิษทำให้สัตว์ทดลองตาย และจากการศึกษายังไม่พบรายงานการศึกษาทางคลินิก รวมทั้งข้อมูลด้านความเป็นพิษในคน

ข้อควรระวัง

ในผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายไม่ควรดื่ม เนื่องจากมีปริมาณวิตามินเอ ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม สามารถคั่งได้หากมีการลดลงของการทำงานของไต
ในคนปกติ แม้จะไม่มีรายงานของการเกิดอันตรายจากน้ำย่านางมาก่อน แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรรับประทานปริมาณมากเกินไป 

 

ภาพ : Shutterstock

 

มาทำน้ำย่านางดื่มกันเถอะค่ะ

ส่วนผสมที่ต้องเตรียม
1. ใบย่านาง 20-30ใบ
2. น้ำต้มสุก 500 มิลลิลิตร
3. น้ำเชื่อมหรือน้ำผึ้ง (หากไม่ชอบหวานก็ไม่ใส่)
วิธีทำ
1. นำใบย่านางมาเด็ดใบแล้วล้างน้ำให้สะอาด ตัดหรือฉีกใบย่านาง และใบเตยแล้วนำใบย่านาง และใบเตยลงเครื่องปั่น เติมน้ำลงไป ปั่นให้ละเอียด (ถ้าไม่ใช้เครื่องปั่น ก็สามารถ โขลก ขยี้ ให้ละเอียด)
2. จากนั้นนำผ้าขาวมากรองหรือใช้ตะแกรงตาถี่กรองเอาเฉพาะน้ำสีเขียว แล้วนำไปดื่มได้ทันที หรืออาจแช่เย็นหรือเติมน้ำแข็งก็อร่อยไปอีกแบบค่ะ  และถ้าเหลือก็นำใส่ขวดปิดฝาให้สนิท สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นไว้ดื่มได้ 4 -5 วัน ค่ะ โดยสังเกตที่ครั้งที่ดื่มถ้ามีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวไม่ควรดื่ม

 

**เคล็ดลับน่ารู้**

     • น้ำใบย่านาง ควรดื่มแบบสด ๆ เมื่อทำเสร็จแล้วควรดื่มในทันที ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะถ้าหากทิ้งไว้นานรสชาติจะเปลี่ยน

     • การดื่มควรดื่มครั้งละ 1/2- 1 แก้ว วันละ 2-3 เวลาก่อนอาหารหรือตอนท้องว่างหรือผสมเจือจางดื่มแทนน้ำ

     • บางคนดื่มน้ำย่านางแล้วรู้สึกแพ้ผะอืดผะอม เพราะฉะนั้นจึงควรกลับไปดูว่าปริมาณการดื่มและความเข้มข้นของสมุนไพรควรเหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด และดื่มแบบพอดีกับที่ร่างกายเราต้องการ เพราะถ้าเรารู้สึกผะอืดผะอมขึ้นมาเมื่อไหร่แสดงว่าร่างกายบอกว่าพอแล้วนั่นเอง

     • น้ำย่านางควรเก็บในตู้เย็น ไม่ควรเกิน 5วัน   

     • น้ำสมุนไพรใบย่านาง ยังสามารถผสมกับสมุนไพรอื่นๆได้อีก เช่น เพิ่ม ใบบัวบก ใบเตย ในปั่นเครื่อง เพื่อช่วยให้ดื่มได้ง่ายขึ้นและที่สำคัญช่วยเพิ่มคุณค่า และสรรพคุณเข้าไปอีก

     • ใบย่านางเพราะนอกจากจะน้ำมาปั่นทำน้ำสมุนไพรดื่มแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ทำเมนูอาหารได้หลายเมนู เช่น ในภาคอีสาน นำมาใส่แกงหน่อไม้สด แกงยอดหวาย  แกงเห็ด แกงขี้เหล็ก ใส่แกงขนุน แกงผักอีลอกหมกและอ่อม 
 

เราจะเห็นว่า ว่าย่านาง เป็นสมุนไพรพื้นบ้านใกล้ตัวที่มากด้วยคุณค่า  มีสารอาหารอยู่หลายชนิด ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดี เราควรหันมาดื่มน้ำสมุนไพรแทนน้ำหวานน้ำอัดลมกันเถอะค่ะ นอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพยังไม่มีสารพิษตกค้าง สำหรับวันนี้ ไข่เจียวต้องขอตัวลากันไปก่อนนะคะ แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้ากับสาระน่ารู้ดีๆ แบบนี้ได้อีกนะคะ สวัสดีค่ะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow