Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก

Posted By Plook Panya | 01 ก.ย. 58
4,933 Views

  Favorite

โรคไข้เลือดออก คือ โรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจาก ไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัด และทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในทันที
 

ภาพ : Pixabay
ภาพ : Pixabay


โรคไข้เลือดออกมีอาการและความรุนแรงของโรคหลายระดับ ตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต สถิติในปี พ.ศ. 2554 รายงานโดย กลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีอัตราป่วย 107.02 และอัตราป่วยตาย 0.10 ซึ่งหมายความว่า ในประชากรทุก 100,000 คน จะมีผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 107.02 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 0.1 คน
 

การติดต่อ

ไวรัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกสามารถมีชีวิตรอด และเพิ่มจำนวนภายในตัวของยุงลาย ยุงลายจึงเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก กล่าวได้ว่าโรคไข้เลือดออกติดต่อจากคนสู่คน ยุงลายที่เป็นพาหะนี้มีชื่อว่า Aedes aegypti ยุงชนิดนี้ออกหากินเวลากลางวัน ยุงจะกัด และดูดเลือดที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่จากผู้ที่กำลังป่วยเป็นไข้เลือดออก เมื่อยุงลายไปกัดคนใหม่ ก็จะถ่ายทอดเชื้อให้กับคนที่ถูกยุงกัดต่อไปทันที ยุงชนิดนี้อาศัยอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ประเทศไทยจึงเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีการระบาดของโรคนี้ค่อนข้างสูง โดยพบมากที่สุดในฤดูฝน ช่วงอายุของคนที่พบว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากที่สุด คือ คนอายุ 10 ถึง-14 ปี รองลงมาคือ อายุ 15 ถึง-24 ปี และ อายุ 5-ถึง 9 ปี  ส่วนช่วงอายุ 0 ถึง-4 ปี และมากกว่า 25 ปี จนถึง 65 ปี เป็นช่วงอายุที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนน้อยที่สุด

อาการ

อาการของโรคนี้คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด คือ มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่แตกต่างกันที่ไข้จะสูงกว่ามาก โดยอาจมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีหน้าแดง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างมากกว่า หากทำการทดสอบโดยการรัดต้นแขนด้วยสายรัด (Touniquet test) จะพบจุดเลือดออก ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรืออาการเลือดออกผิดปกติอื่น ๆ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ อาจพบอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะลดลง อาจถึงกับช็อกและเสียชีวิตได้ โดยอาการนำของภาวะช็อกมักเริ่มจากการมีไข้ลดลง ดังนั้นหากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงตามด้วยอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบแจ้งแพทย์หรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
 

ภาพ : Pixabay
ภาพ : Pixabay


ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก จะพบว่า มีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งหากผู้ปกครองละเลยการพาผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยเด็กจะเสียชีวิตเนื่องจากการรักษาที่ล่าช้า ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสงสัยไว้ก่อนว่าบุตรหลานที่มีอาการไข้สูงในฤดูฝนอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และควรรีบพาบุตรหลานไปรับการรักษา

การรักษา​ 

เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ การรักษาโรคนี้จึงเป็นการรักษาตามอาการเป็นสำคัญ กล่าวคือมีการใช้ยาลดไข้ เช็ดตัว และการป้องกันภาวะช็อก ยาลดไข้ที่ใช้มีเพียงชนิดเดียว คือ ยาพาราเซตามอล (paracetamol) ขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่คือ พาราเซตามอลชนิดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด (4 กรัม) ส่วนขนาดยาที่ใช้ในเด็กคือ พาราเซตามอลชนิดน้ำ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ครั้ง หรือ 2.6 กรัม ยาพาราเซตามอลนี้เป็นยารับประทานตามอาการ ดังนั้น หากไม่มีไข้ก็หยุดทานยาได้ทันที


ผลิตภัณฑ์พาราเซตามอลชนิดน้ำสำหรับเด็กมีจำหน่ายในหลายความแรงได้แก่ 120 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา (1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร), 250 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา, และ 60 มิลลิกรัมต่อ 0.6 มิลลิลิตร ส่วนใหญ่เป็นยาน้ำเชื่อมที่ต้องรินใส่ช้อนเพื่อป้อนเด็ก ในกรณีทารก การป้อนยาทำได้ค่อนข้างยากจึงมีผลิตภัณฑ์ยาที่ทำจำหน่ายโดยบรรจุในขวดพร้อมหลอดหยด เวลาใช้ก็เพียงแต่ใช้หลอดหยดดูดยาออกจากขวดและนำไปป้อนเด็กได้เลย ด้วยเหตุที่ผลิตภัณฑ์พาราเซตามอลชนิดน้ำสำหรับเด็กมีหลายความแรงจึงควรอ่านฉลากและวิธีใช้ให้ดีก่อนนำไปป้อนเด็ก กล่าวคือ หากเด็กหนัก 10 กิโลกรัม และมียาน้ำความแรง 120 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา ก็ควรป้อนยาเด็กครั้งละ 1 ช้อนชาหรือ 5 มิลลิลิตร และป้อนซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมงแต่ไม่ควรป้อนยาเกินวันละ 5 ครั้ง หากไม่มีไข้ก็สามารถหยุดยาได้ทันที


แอสไพรินและไอบูโปรเฟน เป็นยาลดไข้เช่นกัน แต่ยาทั้งสองชนิดนี้ห้ามนำมาใช้ในโรคไข้เลือดออก เนื่องจากยาทั้งสองชนิดนี้จะยิ่งส่งเสริมการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติจนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้
 

ในส่วนการป้องกันภาวะช็อกนั้น กระทำได้โดยการชดเชยน้ำให้ร่างกายเพื่อไม่ให้ปริมาตรเลือดลดต่ำลงจนทำให้ความดันโลหิตตก แพทย์จะพิจารณาให้สารน้ำตามความรุนแรงของอาการ โดยอาจให้ผู้ป่วยดื่มเพียงสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอ็ส หรือผู้ป่วยบางรายอาจได้รับน้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติจนเกิดภาวะเสียเลือดอาจต้องได้รับเลือดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามจะต้องเฝ้าระวังภาวะช็อกดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เนื่องจากภาวะนี้มีความอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

การป้องกัน
แม้ว่าในปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ ดังนั้นคำตอบที่ดีที่สุดของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการควบคุมยุงลายให้มีจำนวนลดลง ซึ่งทำได้โดยการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และการกำจัดยุงลายทั้งลูกน้ำ และตัวเต็มวัย ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด ทั้งนี้การป้องกันทำได้ 3 ลักษณะ คือ
 

1. การป้องกันทางกายภาพ ได้แก่

- ปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาปิด เช่น มีผาปิดปากโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังเก็บน้ำ หรือถ้าไม่มีฝาปิด ก็วางคว่ำลงหากยังไม่ต้องการใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นที่วางไข่ของยุงลาย

- เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้สดบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก 7 วัน

- ปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บน้ำ เช่น โอ่ง ตุ่ม ภาชนะละ 2-4 ตัว รวมถึงอ่างบัว และตู้ปลาก็ควรมีปลากินลูกน้ำ เพื่อคอยควบคุมจำนวนลูกน้ำยุงลาย

- ใส่เกลือลงน้ำในจานรองขาตู้กับข้าว เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยใส่เกลือ 2 ช้อนชา ต่อความจุ 250 มิลลิลิตร พบว่าสามารถควบคุมลูกน้ำได้นานกว่า 7 วัน
 

2. การป้องกันทางเคมี ได้แก่

- เติมทรายทีมีฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ และรับรองความปลอดภัย เหมาะสมกับภาชนะที่ไม่สามารถใส่ปลากินลูกน้ำได้

- การพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีข้อดีคือ ประสิทธิภาพสูง แต่ข้อเสียคือ มีราคาแพง และเป็นพิษต่อคน และสัตว์เลี้ยง จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการฉีดพ่นและฉีดเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันความเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง ควรเลือกฉีดในเวลาที่มีคนอยู่น้อยที่สุด และฉีดพ่นลงในแหล่งที่คาดว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น ท่อระบายน้ำ กระถางต้นไม้ 

- การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดยุงในบ้านเรือน ที่ใช้กันมี 2 ชนิด คือ ยาจุดกันยุง และสเปรย์ฉีดไล่ยุง โดยสารออกฤทธิ์อาจเป็นยาในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids), ดีท (DEET, diethyltoluamide) เมื่อก่อนมียาฆ่ายุงด้วย มีชื่อว่า ดีดีที แต่สารนี้ถูกยกเลิกการใช้ไปแล้วเนื่องจากเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต และตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานมาก อย่างไรก็ตาม สารเคมีไม่ว่าจากยาจุดกันยุงหรือสเปรย์ฉีดไล่ยุง ก็มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์ ดังนั้นเพื่อลดความเป็นพิษดังกล่าวควรจุดยากันยุงในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัส ส่วนยาฉีดไล่ยุงจะมีความเป็นพิษมากกว่า ดังนั้นห้ามฉีดลงบนผิวหนัง และควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุข้างกระป๋องอย่างเคร่งครัด
 

3. การปฏิบัติตัว ได้แก่

- นอนในมุ้งหรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวด เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยจะต้องปฏิบัติเหมือนกันทั้งกลางวัน และกลางคืน

- หากไม่สามารถนอนในมุ้งหรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวดได้ ควรใช้ยากันยุงชนิดทาผิว ซึ่งมีสารสำคัญที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันตะไคร้หอม (oil of citronella), น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of eucalyptus) มีความปลอดภัยสูงกว่ามาทาหรือหยดใส่ผิวหนังใช้เป็นยากันยุง แต่ประสิทธิภาพจะต่ำกว่า DEET

 

บทความโดย
เภสัชกรหญิง วิภารักษ์ บุญมาก
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเayภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow