Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เฝ้าระวังนักเรียน อาจเข้าข่ายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ

Posted By Plook Teacher | 08 มี.ค. 65
8,100 Views

  Favorite

อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะเห็นนักเรียนทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ โดยไม่จำเป็นในบางโอกาส แต่มันจะเป็นปัญหาแน่นอนเมื่อการทำอะไรซ้ำ ๆ นั้น มากระทบกระเทือนการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมอย่างเช่น เข้าออกประตูหลายครั้ง เพราะกังวลว่าจะหลงลืมที่จะปิดไฟหรือปิดน้ำ ทั้ง ๆ ที่ก็ได้ตรวจตราดูดีแล้ว หรือพฤติกรรมที่ชอบล้างมือบ่อยครั้งเพราะคิดว่าไม่สะอาด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ เกิดขึ้นจากความวิตกกังวลและยังเป็นผลมาจากความผิดปกติในสมองอีกด้วย

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder – OCD) คือ ภาวะความวิตกกังวลอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาทในสมอง ทำให้สมองส่วน Orbitofrontal, Cingulate Cortex, Caudate และ Thalamus ทำงานมากจนเกินไป มีความผิดปกติของการหลั่งสารเซโรโทนิน(Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมภาวะอารมณ์ความรู้สึกนอกจากนี้ยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมและมีผลจากปัจจัยสภาพแวดล้อมรวมถึงการพบเจอประสบการณ์เลวร้ายได้อีกด้วย

 

        โรคย้ำคิดย้ำทำสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนของการย้ำคิด และส่วนของการย้ำทำ

ซึ่งส่วนของการย้ำคิดนั้น คือการมีความคิดหรือความรู้สึกซ้ำ ๆ โดยไร้เหตุผล ทำให้เกิดความลังเลใจและไม่สบายใจ จนส่งผลทำให้การตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นซ้ำ ๆ เช่น

- ไม่สบายใจเมื่อเห็นของไม่เป็นระเบียบ

- กลัวสิ่งสกปรกและกลัวการสัมผัสผู้อื่น

- รู้สึกว่าตัวเองจะหลงลืมที่จะทำบางสิ่งบางอย่างอยู่เสมอ

ส่วนย้ำทำนั้น คือ การแสดงออกทางพฤติกรรมที่เป็นลักษณะของการทำซ้ำ ๆ เพื่อป้องกันหรือลดความไม่สบายใจลง และถึงแม้จะรู้สึกว่ามันไร้สาระ แต่ก็หักห้ามใจไม่ได้ เช่น

- การไปเช็คลูกบิดประตูหรือสวิตส์ไฟทั้ง ๆ ที่ตรวจเช็คมาดีแล้วก่อนที่จะออกมา

- การล้างมือบ่อยครั้งจนผิดสังเกต

 

        มีสถิติที่บอกว่า คนไทยกว่าร้อยละ 2 ใน 3 นั้นมีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ และในผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคนี้ กว่าร้อยละ 60 นั้น พบว่า ตัวเองมีอาการย้ำคิดย้ำทำตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาการนั้น จะมากน้อยแตกต่างกันไป ตามแต่ความรุนแรงของโรค สภาพแวดล้อม และการประสบพบเจอประสบการณ์ต่าง ๆ

 

        นักเรียนนั้นมีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำได้ ทั้งจากพันธุกรรม และการเผชิญกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งนอกจากเรื่องของสมองและความผิดปกติทางร่างกายแล้ว สภาพแวดล้อมทางการศึกษานั้นก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้นักเรียน มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำนี้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจาก

1. บรรยากาศการเรียนรู้ที่เข้มงวดและกดดัน ทำให้นักเรียนไม่กล้าที่จะทำไรด้วยตัวเองเพราะกลัวว่าตัวเองจะทำผิดและถูกต่อว่าหรือลงโทษ ขาดความมั่นใจในตัวเอง

2. นักเรียนไม่สามารถปรับตัวกับระบบการศึกษาได้ ทำให้เกิดความกังวล และคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ

3. มีประสบการณ์ที่ไม่ดีในระบบการศึกษา เช่น การถูกประจาน การถูกล่วงละเมิด ได้รับความรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไปกระตุ้นให้นักเรียนคิดถึงแต่ประสบการณ์ที่ไม่ดีซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดการมองตัวเองในแง่ลบ

4. การเรียนรู้ในความเชื่อที่ขาดวิจารณญาณ ซึ่งเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการถ่ายทอดครอบครัว การสั่งสอนจากครูผู้สอนในโรงเรียน หรือแม้แต่การบอกเล่าจากเพื่อนฝูง ที่ผิดพลาดและขาดการวิเคราะห์ในมุมวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความเชื่อที่ผิด ๆ และเกิดการกระทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ ตามความเชื่อนั้น

 

         ส่วนอาการของนักเรียนที่เข้าข่ายจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำนั้น ครูผู้สอนสามารถตรวจสอบนักเรียนของตัวเอง ซึ่งอาจพบเจอพฤติกรรมดังต่อไปนี้

1. ชอบลืมสิ่งของและอุปกรณ์การเรียนอยู่บ่อยครั้ง

2. ชอบจัดระเบียบเอกสารและสิ่งของต่าง ๆ โดยแบ่งหมวดหมู่และเรียงลำดับอย่างละเอียด และยอมรับไม่ได้ในความแตกต่าง

3. จำไม่ได้ว่าได้ปิดสวิฟไฟและพัดลมไปแล้วหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูบ่อยครั้ง

4. ใช้เวลาในการหาคำตอบในใบงานหรือข้อสอบในแต่ละข้อเป็นเวลานาน และตรวจทานบ่อยครั้งด้วยความไม่แน่ใจ

5. สั่นขา กดปากกา และใช้หมึกเขียนโต๊ะซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความกังวล จนถึงมีทัศนคติทางลบกับตัวเอง

 

        ถึงแม้ว่าโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นจะไม่ใช่โรคที่สามารถทำอันตรายถึงชีวิต แต่ก็นับว่าเป็นโรคที่ส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันและก่อให้เกิดความรำคาญค่อนข้างมาก เพราะส่งผลให้ผู้ป่วย เป็นคนคิดมากและเป็นกังวลกับเรื่องต่าง ๆ มากจนเกินไป จนกลายเป็นมีบุคลิกผิดปกติ ซึ่งการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำนี้ ถ้าในระดับที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อบำบัดและหาทางรักษา แต่ถ้าเป็นในระดับทั่วไป การฝึกตัวเอง ผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้อาการของโรคนี้ทุเลาลงได้

        นอกจากนี้ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อรูปแบบการศึกษายุคใหม่ โดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางและสนับสนุนให้นักเรียนมีความสุขและสนุกสนานในการเรียนรู้ ก็นับเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าจะช่วยบรรเทาอาการของโรคนี้ลงได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ป่วยจากปัจจัยภายนอกและมีอาการของโรคนี้ไม่มากนัก

        การป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ แม้จะไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เมื่อเทียบกับการป่วยทางจิตเวชอื่น ๆ แต่ก็นับเป็นโรคที่ก่อความรำคาญได้ไม่น้อย เพราะสร้างความกังวลและทำให้เสียเวลา นอกจากนี้ยังเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ดังนั้นจึงควรดูแลและเช็คตัวเองอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรคนี้ หรือรู้เท่าทันอาการของตัวเอง เพื่อหาทางรับมือได้อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้อาการของโรคนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow