Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ครูผู้สอนสามารถช่วยจัดการความเครียดของนักเรียนได้อย่างไร

Posted By Plook Teacher | 07 มี.ค. 65
4,836 Views

  Favorite

การประสบความสำเร็จทางด้านการเรียนเป็นสิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนปรารถนา ได้เรียนจบอย่างสมบูรณ์ ได้เข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ในคณะและสาขาที่ตัวเองต้องการ ได้ก้าวไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากความสามารถทางการเรียนรู้แล้ว ก็ต้องแลกมาด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเอาใจใส่อย่างมาก ถึงช่วยให้นักเรียนไปถึงจุดนั้นได้ 

เป็นธรรมดาที่การเรียนรู้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่สบาย โดยเฉพาะกับช่วงรอยต่อในการเรียนรู้จากระดับมัธยมศึกษา สู่การเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา เพราะเป็นช่วงที่นักเรียนจะต้องเร่งและผลักดันตัวเอง เพื่อเลื่อนระดับไปยังจุดหมายข้างหน้า ทำให้ช่วงรอยต่อนี้นับเป็นช่วงหนึ่งที่นักเรียนต้องเผชิญความเครียดจากการเรียนมากที่สุด

 

ความเครียด คือ ภาวะทางอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลจะต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเราทุกคนล้วนมีความเครียดอยู่ในตัวเองมากน้อยแตกต่างกันไป และรวมถึงมีวิธีการบำบัดความเครียดที่แตกต่างกันไปอีกด้วย ความเครียดในระดับที่เหมาะสมนั้นมีผลดีกับตัวเราเพราะเป็นส่วนที่คอยผลักดันให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จ แต่ถ้ามีความเครียดมากจนเกินไป อีกทั้งมีไม่สามารถผ่อนคลายได้ ความเครียดนั้นก็อาจทำให้เราทำเรื่องที่ไม่ควรทำได้

 

ข่าวการฆ่าตัวตายของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเนื่องจากปัญหาความเครียดในประเทศไทยนั้น อาจไม่ใช่ปัญหาที่ชัดเจน เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกปี และกลายเป็นผลพวงที่เป็นอันตรายอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากปัญหาความเครียด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างมาก

 

เด็กและเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น นับได้ว่าอยู่ในวัยรุ่น ซึ่งในวัยนี้การเปลี่ยนแปลงในร่างกายและจิตใจต่าง ๆ นั้นส่งผลให้เกิดความเครียดขึ้นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นผลจากร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดมีอารมณ์ความรู้สึกใหม่ที่ส่งผลให้ความว้าวุ่นใจ หรือแม้แต่แรงขับที่ทำให้ในวัยนี้แสดงออกมาด้วยอารมณ์ชั่ววูบ มุทะลุ กล้าได้กล้าเสีย และไม่ได้คิดหน้าคิดหลังให้ดี จนส่งผลเสียกับตัวเอง  เช่น ทำร้ายคนอื่น ทำลายข้าวของ ลักขโมย ใช้เพศสัมพันธ์เพื่อบำบัดความเครียด หรือแม้แต่การฆ่าตัวตาย ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดในวัยรุ่นนั้น มีอยู่มากมายทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก อันได้แก่

- ไม่สามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้อย่างเหมาะสม เช่น มีรูปร่างที่เปลี่ยนไป จัดการกับความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ หรือมีการขัดแย้งทางความคิดภายในตัวเอง

- มีปัญหาในด้านการเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง เรียนไม่ทัน ทำการบ้านไม่เสร็จ ผลการเรียนไม่ดี ทำให้วิตกกังวลกับอนาคตในด้านการเรียนของตัวเอง

- มีปัญหากับแฟน ทะเลาะกับแฟน เลิกรากัน พลาดพลั้งไปมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน และเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ 

- มีปัญหากับครอบครัว รู้สึกว่าครอบครัวไม่เข้าใจตัวเอง ไม่ชอบสถานะของครอบครัวในปัจจุบัน ทะเลาะกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

- มีปัญหากับเพื่อน ทะเลาะกับเพื่อน โดนเพื่อนแกล้ง และกลัวโดนล้อในเรื่องต่าง ๆ 

- มีปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากเงินไม่พอใช้ ติดการพนัน

- กลั่นแกล้งในสังคมออนไลน์

 

จากสาเหตุเหล่านี้ ถ้าวัยรุ่นไม่ได้เรียนรู้ในการจัดการความเครียดในเรื่องต่าง ๆ อย่างเหมาะสมหรือขาดแนวทางในการบำบัดความเครียดที่ดี ก็อาจจะทำให้จัดการปัญหาความเครียดเหล่านี้ได้ยาก และอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ควรต้องให้คำแนะนำในการจัดการภาวะความเครียดดังกล่าว ซึ่งสำหรับในโรงเรียนนั้นครูผู้สอน โดยเฉพาะครูประจำชั้นคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุด

สำหรับครูผู้สอนที่ดูแลนักเรียนที่เป็นวัยรุ่น การสังเกตสัญญาณการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในตัวนักเรียนคือ คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรารับรู้ว่านักเรียนกำลังเผชิญความเครียดรูปแบบไหน และควรให้การช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้ดังนี้

ให้กำลังใจ

ต้องยอมรับว่าปัญหาบางอย่าง นักเรียนจะต้องเผชิญและจัดการกับมันด้วยตัวเอง ไม่ใช่หน้าที่ของครูผู้สอนที่ควรเข้าไปช่วยจัดการได้ เช่น การมีปัญหากับเพื่อนหรือแฟน แต่แทนที่จะให้เขาจัดการกับสิ่งนั้นตามลำพัง การให้กำลังใจและเชื่อมั่นในตัวเขาในการจัดการกับปัญหานั้นด้วยตัวเอง ก็เหมือนเป็นพลังให้เขาจัดการปัญหาเหล่านั้นได้ดีขึ้น

ให้คำแนะนำ

ปัญหาบางปัญหา เช่น ปัญหาการเรียน ครูผู้สอนอาจช่วยนักเรียนโดยการแนะนำและให้เวลากับเขาในการเรียนรู้เพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ปัญหาบางอย่างการได้รับคำแนะนำที่ดีจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า ก็จะช่วยให้นักเรียนจัดการปัญหาเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ครูผู้สอนต้องมองนักเรียนว่าเป็นคนเก่งและมีความสามารถเสมอ อย่ามองว่าพวกเขาเป็นตัวปัญหา เพราะจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย

พูดคุยปรับความเข้าใจ

ถ้าทราบว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในปัญหาความเครียดของนักเรียน เช่น ดุเกินไป สอนไม่เข้าใจ หรือแสดงออกไม่ยุติธรรมในสายตาของนักเรียน การที่ครูผู้สอนพูดคุยปรับความเข้าใจกับนักเรียน น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดของนักเรียนได้ และทำให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีขึ้น

ให้คำปรึกษา

ครูผู้สอนควรมีเวลาและเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามาปรึกษาปัญหาต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่เรื่องการเรียน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้นักเรียนได้ระบายความเครียด โดยการเล่าเรื่องต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยให้สัมพันธภาพระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียนดีขึ้นอีกด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่าในการให้คำปรึกษา เรื่องที่คุยกับนักเรียนควรเก็บไว้เป็นความลับและสื่อสารเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

จัดสถานที่ในโรงเรียนให้มีมุมผ่อนคลายและพักผ่อนหย่อนใจ

การจัดสถานที่ในโรงเรียนให้มีลานกีฬา ห้องนั่งเล่น และเปิดโอกาสให้นักเรียนใช้อย่างเหมาะสมในทุกโอกาส จะช่วยลดความเครียดบางอย่างให้กับนักเรียนได้ นอกจากนี้การสร้างสรรค์ห้องเรียนให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลายและเป็นส่วนหนึ่ง ก็จะช่วยลดทอนความเครียดในบางเรื่องของนักเรียนลงได้อีกด้วย

สนับสนุนโครงการที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน

อย่างที่ทราบกันดีว่านักเรียนที่เป็นวัยรุ่นนั้นต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้น เพื่อให้นักเรียนเติบโตไปตามพัฒนาการอย่างเหมาะสม การสนับสนุนให้นักเรียนร่วมโครงการที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตจะช่วยให้นักเรียนมีแนวทางในการพัฒนาตนเอง มีวุฒิภาวะและสามารถจัดการความเครียดของตัวเองได้ดีขึ้น

ประสานงานและให้การช่วยเหลือ

สำหรับภาวะความเครียดของนักเรียนในระดับที่เป็นอันตราย เช่น เป็นอันตรายต่อร่างกาย ตนเองและผู้อื่น นอนไม่หลับ หรือ เริ่มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ครูผู้สอนควรแนะนำนักเรียน รวมถึงผู้ปกครองให้พานักเรียนไปพบจิตแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อวินิจฉัย เพื่อหาแนวทางบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

 

ความจริง ในยุคปัจจุบันการจัดการความเครียดควรเป็นศาสตร์หนึ่งที่ต้องมีสอนในโรงเรียน เพราะไม่เฉพาะวัยผู้ใหญ่เท่านั้นที่เผชิญความเครียด เด็กและเยาวชนต่างก็มีความเครียดในมุมมองของเขาเช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่หลายคนมักมองว่าความเครียดของเด็กและเยาวชนนั้นเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเครียดของตัวเอง จนหลงลืมไปว่าในโลกของเด็กและเยาวชนนั้น ความเครียดที่อาจดูน้อยนิดในสายตาผู้ใหญ่นั้น ก็ใหญ่เกินกว่าจะรับไหวแล้วสำหรับพวกเขา

ดังนั้น เมื่อทราบว่าพวกเขากำลังเครียด อย่าพยายามเอาความเครียดของเราไปแสดงให้เห็นว่าความเครียดของใครใหญ่กว่ากัน แต่ควรให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาและแนะนำเขา เพื่อให้พวกเขาจัดการความเครียดของตัวเองได้อย่างเหมาะสมจึงจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุด

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow