Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสอนของครูผู้สอน Monotonous เกินไปหรือเปล่า ?

Posted By Plook Teacher | 07 มี.ค. 65
8,880 Views

  Favorite

 

Monotonous เป็นคำที่ใช้กล่าวถึงอะไรที่มันน่าเบื่อ จากการที่ทำอะไรซ้ำ ๆ ซาก ๆ ซึ่งเมื่อเอามารวมกับเรื่องของการจัดการเรียนการสอนแล้ว ก็จะมีความหมายว่า การเรียนการสอนที่มีความจำเจน่าเบื่อหน่าย ซึ่งทำให้การเรียนการสอนนั้นขาดความน่าสนใจ

การสอนที่จำเจน่าเบื่อหน่ายนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะไม่ส่งผลดีต่อระบบการศึกษาเลย เนื่องจากไม่กระตุ้นความสนใจของนักเรียน และทำให้นักเรียนสนใจในวิชานั้น ๆ น้อยลง ซึ่งส่งผลต่อผลการเรียนของนักเรียนตามมา โดยปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นครูผู้สอน ที่ถือเป็นผู้ทำหน้าที่สอนและอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน

 

ปัจจุบันรูปแบบของการจัดการเรียนการสอนนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ซึ่งในบรรดารูปแบบที่หลากหลายนั้น ก็มีก็หลายรูปแบบที่สอดคล้องกับการเรียนรู้สมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 นั่นคือ เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและมีความเป็น Active Learning แต่แม้จะมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนใหม่ ๆ มากมายเพียงใด แต่ครูผู้สอนบางท่านก็ยังคงยืดกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ซึ่งนอกจากจะไม่นำรูปแบบอื่นมาใช้ให้เกิดความหลากหลายแล้ว ยังมีอคติกับรูปแบบการสอนใหม่ ๆ และมองว่ารูปแบบที่ใช้อยู่นี้ดีและสะดวกที่สุด ซึ่งความคิดเช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายและขัดขวางการพัฒนาด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก

 

การสอนรูปแบบเดียว และโดยเฉพาะเป็นการสอนในระบบเก่า คือครูผู้สอนเป็นศูนย์กลางนั้น สร้างให้นักเรียนรู้สึกเบื่อหน่ายได้ง่าย และถ้ายิ่งครูผู้สอนไม่ใช่บุคคลที่เป็นจุดสนใจของนักเรียนด้วยแล้ว โอกาสที่นักเรียนจะหันมาสนใจไปจนจบบทเรียนนั้นคงเป็นไปได้ยาก 

นอกจากนี้เมื่อนักเรียนสนใจในเนื้อหาวิชาน้อยลง แล้วครูผู้สอนเลือกที่จะใช้การบังคับเพื่อดึงนักเรียนให้เรียนรู้ ก็จะยิ่งสร้างทัศนคติที่ไม่ดีให้กับนักเรียน ต่อทั้งครูผู้สอนและวิชาเรียนอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างมากถ้าเกิดขึ้น

 

สำหรับพฤติกรรมของนักเรียนที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พวกเขากำลังรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเรียนการสอนนั้น ครูผู้สอนสามารถที่จะสังเกตถึงสัญญาณต่าง ๆ ได้ดังนี้

- นักเรียนส่วนใหญ่ของคุณเริ่มขาดสมาธิในการเรียน เอาเวลาเรียนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น คุยกับเพื่อน หรือ เล่นโทรศัพท์มือถือ ทำให้รับฟังบทเรียนต่าง ๆ จากครูผู้สอนได้ไม่ครบถ้วน หลงลืม และไม่ใส่ใจเนื้อหาเท่าที่ควร

- นักเรียนเริ่มมีการโดดเรียนในวิชานี้บ่อยครั้งมากขึ้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ขาดเรียน หรือมักจะขออนุญาตออกไปจากห้องเรียนขณะที่กำลังสอนอยู่เสมอ ซึ่งเป็นผลจากการไม่เห็นความสำคัญและความน่าสนใจในวิชานั้น

- นักเรียนเริ่มไม่เข้าหา ถอยห่างจากครูผู้สอน เริ่มมีทัศนคติที่ไม่ดีกับครูผู้สอน และแสดงสีหน้าเบื่อหน่ายในการสอนของครูผู้สอนท่านนั้น ๆ

- นักเรียนปฏิเสธที่จะทำงานหรือทำการบ้านให้เสร็จตามเวลา และไม่รู้สึกว่าความรับผิดชอบนี้เป็นสิ่งสำคัญ

- นักเรียนเลือกที่จะศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่าการเรียนรู้ในชั้นเรียน

 

ความน่าเบื่อหน่ายในการเรียนของนักเรียนนั้น นอกจากการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสนใจในการเรียนรู้ของนักเรียนแล้ว ในเรื่องของเทคนิคการสอน จิตวิทยาการศึกษา ภาพลักษณ์ของครูผู้สอน รวมถึงภาระงานที่มอบหมายให้กับนักเรียน ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อความเบื่อหน่ายของนักเรียนได้ นอกจากนี้ยังเกี่ยวเนื่องกับความสำคัญของวิชานั้นด้วยว่ามีความสำคัญกับผลการเรียนและอนาคตของเขามากแค่ไหนอีกด้วย

 

การจัดการเรียนการสอนคือหน้าที่หลักของครูผู้สอน และเป็นเอกสิทธิที่สำคัญ ซึ่งไม่มีใครก้าวก่ายได้ แต่อย่างไรก็ดีการจัดการเรียนการสอน โดยไม่คำนึงถึงโลกในยุคปัจจุบัน เช่น การสอนที่ยังให้นักเรียนลอกข้อความบนกระดาน หรือการสอนที่ครูผู้สอนนั่งเล่าเรื่องให้นักเรียนฟังอยู่ที่เก้าอื้ตลอดทั้งชั่วโมงนั้น ก็นับเป็นรูปแบบการสอนที่น่าเบื่อหน่ายและล้าสมัย ซึ่งควรจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะสมมากกว่านี้

 

นอกจากนี้การจัดการเรียนการสอนโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของนักเรียนนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการสอนที่เน้นครูผู้สอนเป็นศูนย์กลางแต่ผู้เดียว ซึ่งการสอนรูปแบบนี้ แม้ว่าจะช่วยให้นักเรียนได้รับเนื้อหาความรู้อย่างครบถ้วน เพราะครูผู้สอนสามารถบริหารเวลาได้เอง แต่เมื่อมองที่การแข่งขันกับนานาชาติแล้ว การสอนรูปแบบนี้ไม่ได้ช่วยสร้างให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรรค์ ประสานความความร่วมมือ และส่งเสริมให้เกิดความคิดริเริ่มใด ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญมากต่อการแข่งขันในอนาคต

 

ด้วยเหตุนี้เอง ครูจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ปรับตัว และตรวจสอบแนวการจัดการเรียนการสอนของตัวเองอยู่เสมอว่า กำลังสร้างความเบื่อหน่ายให้กับนักเรียนอยู่หรือไม่ ซึ่งแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ที่ครูผู้สอนสามารถทำให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้นได้ ผู้เขียนมีข้อแนะนำ ดังนี้

1. ครูผู้สอนต้องสามารถนำเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีออนไลน์ มาใช้ประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างความแปลกใหม่ และความน่าสนใจในเนื้อหาความรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้นับเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของนักเรียนในยุคปัจจุบัน การที่ครูผู้สอนสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ได้ จะช่วยให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีกับครูผู้สอนและบทเรียน และรู้สึกว่าครูผู้สอนมีความทันสมัย

2. ครูผู้สอนต้องเรียนรู้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย สำหรับใช้จัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนโดยไม่จำกัดอยู่แค่รูปแบบเดียว และสามารถเลือกวิธีการสอนให้เหมาะสมกับวัยและความต้องการของนักเรียนในแต่ละระดับได้

3. ครูผู้สอนควรเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วม ประสานความร่วมมือ และเน้นให้นักเรียนเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยเน้นรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและเป็น Active Learning

4. สำหรับงานและการบ้านที่จะให้กับนักเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นั้น ควรมีรูปแบบที่หลากหลาย ครอบคลุม เหมาะสมกับการเรียนรู้ในแต่ละวัยของนักเรียน และไม่ควรผูกติดกับงานในรูปแบบเดียว เช่น วันแรกอาจจะให้นักเรียนตอบคำถาม

5. ครูผู้สอนต้องคำนึงถึงบุคลิกภาพของตัวเองอยู่เสมอ พยายามทำตัวเองให้ดูดี สดใส ไม่ควรปล่อยตัวเองให้ทรุดโทรม นอกจากนี้การใช้การแต่งกายให้เข้ากับบทเรียนที่สอนนั้นก็เป็นแนวทางน่าสนใจที่ช่วยดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้ 

6. เมื่อครูผู้สอนมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายแล้ว ครูผู้สอนอาจใช้ประโยชน์จากการเสริมแรงด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การนับจำนวนการเข้าเรียน เพื่อมอบรางวัลสำหรับนักเรียนที่เข้าเรียนครบ หรือ การให้รางวัลสำหรับนักเรียนที่ตอบคำถามท้ายชั่วโมงได้ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสนใจเรียนมากขึ้น

7. เปิดโอกาสให้นักเรียนให้คะแนนและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการสอนของครูผู้สอน ผ่านแบบประเมินเพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับการนำมาใช้ในครั้งต่อ ๆ ไป

8. แม้ว่าจะมีวิธีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายให้ครู้ผู้สอนได้เลือกใช้ แต่ครูผู้สอนก็ยังต้องมีการบันทึกหลังการสอน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนนั้น ๆ ให้มีความเหมาะสมและเข้ากับการเรียนรู้ของนักเรียนมากขึ้น ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อนำมาใช้อีกครั้ง

 

ความน่าเบื่อหน่ายในการเรียน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับนักเรียน แต่ถ้ามันมีสาเหตุมาจากการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนแล้ว ครูผู้สอนก็ควรที่จะยอมรับ และพยายามตรวจสอบ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม รวมถึงต้องศึกษาหาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนใหม่ ๆ และหาโอกาสนำมาใช้ส่งเสริมการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กลายเป็นแนวการจัดการเรียนการสอนอีกรูปแบบหนึ่งที่ครูผู้สอนสามารถนำมาใช้กับนักเรียนและสร้างให้นักเรียนรู้สึกสนใจในการเรียนการสอนมากขึ้น

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow