Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

4 ข้อแนะนำในการฝึกเด็ก ๆให้สามารถจัดการกับอารมณ์ที่ขุ่นมัวของตัวเอง

Posted By Plook Teacher | 10 พ.ย. 64
3,220 Views

  Favorite

    เป็นธรรมดาที่มนุษย์เรานั้นไม่ได้มีอารมณ์สดชื่นแจ่มใสตลอดเวลา บางครั้งด้วยสภาพแวดล้อมหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็อาจส่งผลให้เรามีอารมณ์ที่ขุ่นมัวขึ้นได้ ซึ่งอารมณ์ที่ขุ่นมัวนี้ มักเกิดขึ้นจากการที่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ทำให้ไม่มีความสุข เสียใจ และหงุดหงิด ซึ่งถ้าเรามีอารมณ์ในลักษณะนี้บ่อยครั้งก็อาจนำมาสู่ภาวะเครียด โมโหร้าย หรือเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้

        อารมณ์ที่ขุ่นมัวนั้นย่อมเป็นอุปสรรคอย่างมากกับการใช้ชีวิต เพราะทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับสิ่งรอบตัวและอาจรวมถึงตัวเอง ซึ่งถ้าเราไม่รู้เท่าทันอารมณ์ที่ขุ่นมัวนี้และปล่อยตัวปล่อยใจให้เป็นไปตามอารมณ์ ก็อาจจะนำมาซึ่งความเครียด จนก่อเกิดเป็นความรุนแรง ความเสียหาย และการสูญเสียที่เกินกว่าที่คิดได้

ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองอยู่ทุกขณะ และควรตั้งมั่นอยู่ในสติตลอดเวลา เพื่อไม่ให้อารมณ์ความรู้สึกของเรานั้นเป็นตัวนำพาเราไปสู่ปัญหาต่าง ๆ โดยเราควรจะมีแนวทางในการสงบสติและบำบัดอารมณ์ให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งเรื่องเหล่านี้นอกจากอายุและวุฒิภาวะที่มีผลต่อการควบคุมอารมณ์แล้ว การฝึกให้ตัวเองมีทักษะในการจัดการด้านอารมณ์ที่ดีนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

 

สำหรับวัยเด็ก ด้วยความที่ทักษะในการจัดการด้านอารมณ์นั้นยังไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ ทำให้เราจึงมักเห็นเด็ก ๆ ที่มีอารมณ์ขุ่นมัว แปรเปลี่ยนเป็นความเสียใจหรือความโมโหร้าย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสมก็อาจจะกลายเป็นอุปนิสัยประจำตัวของเด็กที่มักจะเลือกตอบสนองเช่นนี้กับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอนาคต

ดังนั้นเพื่อให้เด็กสามารถจัดการกับอารมณ์ที่ขุ่นมัวของตัวเองได้อย่างเหมาะสม 4 ข้อแนะนำเหล่านี้ คือเรื่องสำคัญที่จะต้องให้เด็กเรียนรู้และนำไปใช้เพื่อควบคุมอารมณ์ที่ขุ่นมัวของเขา และทำให้อารมณ์เหล่านั้นกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

รับรู้อารมณ์ของตัวเอง

    การที่เราสามารถรับรู้ได้ว่าอารมณ์ ณ ขณะนี้เป็นแบบใดนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เรารับรู้และจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการตระหนักรู้ตนเองที่เรียกว่า Self-awareness อันเป็นความสามารถในการมองเห็นตัวเองและตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้อย่างชัดเจน ผ่านการรับรู้และเข้าใจสภาวะต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น

    วิธีการที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะรับรู้อารมณ์ของตัวเอง คือ การให้เด็กรู้จักที่จะประเมินตนเองในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยผู้ปกครองและครูผู้สอน ควรเปิดโอกาสให้เด็กสำรวจตัวเองและบอกว่า ณ ขณะนั้นเขามีอารมณ์ความรู้สึกเช่นไรกับสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งการสอบถามเช่นนี้ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะฉุกคิดและสำรวจตัวเองอยู่เสมอ 

สงบสติอารมณ์

    ทุกครั้งที่มีสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์เข้ามารบกวนจิตใจของเรา และส่งผลทำให้เราไม่พึงพอใจ จนเกิดเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่คงที่ ทักษะทางอารมณ์จิตใจอย่างหนึ่งที่ควรต้องมีคือ การสงบสติอารมณ์ ไม่ตีโพยตีพายหรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยความรุนแรงหรือพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น เศร้าโศกเสียใจด่าทอ ขว้างปาสิ่งของ หรือ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ซึ่งการกระทำเช่นนั้น อาจนำมาซึ่งความเสียหายและผลกระทบอย่างร้ายแรงกับตัวของเราได้

    เราสามารถสงบสติอารมณ์ได้ด้วยเทคนิคที่หลากหลาย เช่น เดินหนีหรืออาจการสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่กดดันนั้น หรือ ใช้การนับเลข หลับตาและทำสมาธิเพื่อปรับสภาวะอารมณ์ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ ควรสอนให้เด็กนำไปใช้ เมื่อเขาต้องเผชิญกับสิ่งเร้าหรือสถานการณ์บางสถานการณ์ที่อาจส่งผลให้เขาไม่พอใจ นอกจากนี้การฝึกสงบสติอารมณ์ได้ยังช่วยให้เด็กมีความอดทนและเข้าใจอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น

    การสงบสติอารมณ์นั้นมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งกับตัวเอง และรวมถึงคู่กรณีที่ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจด้วย เพราะในบางสถานการณ์ ทั้งตัวเราและคู่กรณีอาจอารมณ์เสียจนทะเลาะกัน ขาดสติและทำให้เกิดความรุนแรงตามมาได้ แต่ถ้าเราสามารถสงบสติอารมณ์และพูดคุยกันด้วยสติ คู่กรณีก็อาจจะลดระดับอารมณ์ความโกรธเกรี้ยวลง และทำให้เราสื่อสารกันอย่างเข้าใจมากขึ้น ทำให้สามารถคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ได้ โดยง่าย

ยอมรับสถานการณ์ต่างๆอย่างเข้าใจและปล่อยวาง

    เป็นธรรมดาที่สถานการณ์ต่าง ๆ มีทั้งสถานการณ์ที่เป็นใจและไม่เป็นใจ ซึ่งแม้เราจะเตรียมพร้อมที่ดีแล้ว ก็อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันหรือเหตุสุดวิสัยได้ เราจึงต้องรู้จักที่จะยอมรับอย่างเข้าใจ กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ผิดพลาดเหล่านั้น และเลือกที่จะวางปล่อยมันเสีย

    เด็กอาจจะพบเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันง่าย ๆ หลายอย่าง อย่างเช่น ฝนตกทำให้พวกเขาไม่ได้ออกไปเที่ยว รถติดมากจนเขาพลาดรอบภาพยนตร์ หรือแม้แต่การเรียงโดมิโนชิ้นสุดท้าย แต่สัตว์เลี้ยงกลับทำให้ล้มเสียก่อน ซึ่งสถานการณ์สุดวิสัยเหล่านี้อาจทำให้เขาเสียใจและโมโหกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ปกครองควรใช้โอกาสนี้การสอนให้เขารู้จักใช้คำว่าไม่เป็นไร เพื่อให้เขายอมรับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเข้าใจ และปล่อยวางกับเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว

ไม่ยอมแพ้

    สำหรับเหตุการณ์ที่เป็นการลงมือทำต่าง ๆ แม้ว่าเราจะสอนให้เด็กรู้จักปล่อยวางจากความผิดพลาด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องสอนให้เขายอมแพ้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพราะสำหรับเหตุการณ์ที่เป็นการปฏิบัติของเขานั้นแม้ว่าจะมีความผิดพลาดจนไม่ประสบผลสำเร็จ สิ่งสำคัญที่สุดที่เด็กจะต้องเรียนรู้จากสิ่งนี้ ก็คือ การล้มและต้องลุกให้ได้ ซึ่งผู้ปกครองหรือครูผู้สอน อาจแนะนำให้เขาศึกษาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และกระตุ้นให้พวกเขาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งการล้มและลุก จะช่วยให้เด็กเรียนรู้จะความผิดพลาดและมีความมุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างให้สำเร็จ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เขาเชื่อมั่นว่า แม้จะล้มเหลวแค่ไหนก็สามารถที่จะเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

 

    การจัดการอารมณ์ที่ขุ่นมัวนั้นเป็นทักษะการใช้ชีวิตที่สำคัญอย่างมากในสังคม เพราะบนโลกใบนี้มีทั้งเรื่องที่สมหวังและไม่สมหวัง มีช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี ดังนั้นการรู้จักอารมณ์ของตัวเองและควบคุมได้อย่างเหมาะสมจะช่วยให้เรามีสติตอบสนองกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรสอนให้เด็กมีทักษะนี้ติดตัวเป็นอย่างยิ่ง 

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow