Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สอนเด็กและเยาวชนไม่ให้เหยียดหยามคนอื่น

Posted By Plook Teacher | 10 พ.ย. 64
4,465 Views

  Favorite

    การดูถูกเหยียดหยามกันนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมแบบสังคมไทย เพราะด้วยความแตกต่างทางฐานะ ประเพณีวัฒนธรรม รวมถึง เชื้อชาติ ศาสนา ย่อมทำให้เกิดมุมมองทางความคิดที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นผลมาจากการหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อมที่คนคนนั้นเติบโต มันจึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่ทุกคนนจะมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันหมด เพียงแต่ในความเห็นที่ไม่สอดคล้องนั้น ถ้าเรามองอย่างเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง เราจะไม่พยายามที่จะตั้งแง่กับความแตกต่างเหล่านั้น และมองว่าเป็นเรื่องของสิทธิและวิถีชีวิตของแต่ละคนที่พึงกระทำได้ ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีที่เป็นสากล

 

    การเหยียดหยามกันนั้น แม้ว่าจะมีอยู่ในทุกสังคม แต่ถ้าปล่อยให้มันเป็นไปโดยไม่มีการควบคุม ย่อมก่อปัญหาใหญ่หลวง จนถึงขั้นเกิดการล่มสลายของสังคมนั้น ๆ ได้ เพราะการดูถูกเหยียดหยามกันนั้น นำมาสู่ความเกลียดชัง ซึ่งเป็นต้นตอของความขัดแย้งต่าง ๆ และนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่าสงคราม ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมีกฎหมายคุ้มครองเพื่อไม่ให้เกิดการดูถูก ดูหมิ่น หรือเหยียบหยามกัน ทั้งต่อหน้าและผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งกฎหมายไทยได้ระบุความผิดในเรื่องของการเหยียดหยามไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ที่ระบุว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

    นอกจากนี้ ถ้าการกระทำนั้นกระทำต่อบุคคลที่สาม ก็จะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ที่กำหนดว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

    และยิ่งถ้ากระทำนั้นมีการสร้างเป็นสื่อ หรือเทปบันทึก ก็จะเข้าข่าย มาตรา 328 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

 

    จะเห็นได้ว่าบทลงโทษในการกระทำนั้นจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องควบคุมดูแลไม่ให้ตัวเราเองละเมิดในเรื่องเหล่านี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชนที่ยังขาดการยับยั้งชั่งใจ และต้องการแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ได้ผ่านการคิดกลั่นกรองที่ดี ในฐานะครูผู้สอนหรือผู้ปกครองก็ควรที่จะแนะนำเรื่องเหล่านี้ ให้พวกเขาเข้าใจและยอมรับความแตกต่างอย่างเหมาะสม ซึ่งต่อไปนี้คือแนวทางสำคัญตามที่กรมสุขภาพจิต นำเสนอ

        - สอนให้เด็นสังเกตและทำความเข้าใจ ในความเหมือนและความแตกต่างกันของแต่ละคน โดยให้มองว่าความแตกต่างนั้นเป็นสีสันตามธรรมชาติของทุกสังคม ซึ่งทุกคนนั้นมีความแตกต่างและมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ไม่มีอัตลักษณ์ใดที่ด้อยไปกว่ากัน และมีความเป็นคนเท่า ๆ กัน

        - สอนให้เด็กสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับความแตกต่างของแต่ละบุคคล เช่น สีผิว เพศ รูปร่าง ภาษา ศาสนา และวิถีชีวิตของเพื่อน ได้ โดยผู้ปกครองและครูผู้สอนสามารถให้คำตอบหรือชวนมาช่วยกันค้นคว้าผ่านแหล่งความรู้ที่หลากหลาย โดยใช้ใจที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน

        - เรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวผ่านตัวอย่างเหตุการณ์การเหยียดหรืออคติที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์โดยพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ เช่น เพราะเหตุใดเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขึ้น ตัวเรามีความเสี่ยงอย่างไรในการถูกเหยียดหรือแบ่งแยก และเราสามารถปกป้องตนเองได้อย่างไรในอนาคต

        - ชวนทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับผู้คนต่างพื้นที่ หรือกิจกรรมที่มีคนจากหลายวัฒนธรรมมาทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กเปิดโลกและเข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้น 

        - ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ด้วยการหลีกเลี่ยงการเหยียดความแตกต่าง มีความเห็นอกเห็นใจให้ผู้อื่น รวมถึงปฏิบัติต่อเด็กอย่างเท่าเทียม ให้เกียรติ และเคารพสิทธิของเด็กและเยาวชนในครอบครัว

 

    การดูถูกเหยียดหยามกันนั้น ถ้าเกิดในจุดที่ไม่ได้เป็นสาธารณะหรือเป็นเรื่องขำขันที่เข้าใจกันภายในมันคงไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหามากนัก แต่เมื่อมันถูกใช้ผ่านเครื่องมือสื่อสารที่ถึงแม้ว่าจะมีระบบที่รัดกุมแค่ไหน ก็มีโอกาสที่จะหลุดออกาสู่ภายนอกได้ และกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าการพูดเล่น ๆ แค่คนเพียงไม่กี่คน สิ่งนี้คือเรื่องที่ต้องระวังอย่างมากในการใช้เครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ เพราะแม้ว่าช่วยให้เราสื่อสารได้ง่ายขึ้น แต่ก็เป็นดาบสองคมที่จะทำร้ายเราได้เช่นกัน

เราอาจจะบอกไม่ได้ว่าในอนาคตนั้นสถานการณ์การดูหมิ่น หรือเหยียดหยามกันจะมีน้อยลงหรือมากขึ้น แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อสังคมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้คนในยุคต่อไปจะมีความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างกันมากขึ้น และทำให้มีการแสดงออกในเรื่องเหล่านี้อย่างเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow