Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สิ่งที่โรงเรียนควรเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ท่ามกลาง COVID-FREE

Posted By Plook Teacher | 10 พ.ย. 64
3,086 Views

  Favorite

COVID-Free Setting คือมาตรการใหม่ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศคบ.) ได้นำมาบังคับใช้หลังจากเริ่มมีการผ่อนปรนและคลายล็อคในบางส่วน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อให้กิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคบริการ สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ โดยใช้มาตรการใหม่ที่เรียกว่า COVID-Free Setting

โดย COVID-Free Setting นั้นกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายถึงหลักการของมาตรการใหม่นี้ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 3 มาตรการ คือ

COVID-Free Environment

เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโควิด โดยมีการระบายอากาศ มีการจัดสุขอนามัยอย่างเหมาะสม สะอาดปลอดภัย และเว้นระยะห่าง

COVID-Free Personnel

คือพนักงานปลอดโควิด หมายถึง ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ พนักงาน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ กำหนด และมีการตรวจ Antigen test kit (ATK) ทุกสัปดาห์

COVID-Free Customer

คือลูกค้าปลอดโควิด ซึ่งก็คือผู้ใช้บริการนั้นจะต้องมีเอกสารยืนยันว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์กำหนด หรือมีเอกสารยืนยันว่าเคยติดเชื้อและหายดีแล้ว หรือไม่ก็ต้องมีผลตรวจ Antigen test kit (ATK) เป็นลบ ในช่วงเวลาที่กำหนด

จะเห็นได้ว่ามาตรการมีขึ้นหลังจากที่ประชาชนในประเทศมีการฉีดวัคซีนครบตามจำนวนกันมากขึ้น ซึ่งทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันและได้รับผลกระทบจนถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคน้อยลง โดยสาระสำคัญสำหรับมาตรการนี้นอกเหนือจากการจัดสถานที่ ก็คือการที่ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และการตรวจ Antigen test kit (ATK) เพื่อคัดกรองเบื้องต้นว่ามีการติดเชื้อโควิด 19 หรือไม่ ก่อนเข้าใช้บริการต่าง ๆ

และถ้าพูดถึงกิจการที่เป็นภาคบริการ โรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ก็นับว่าเป็นกิจการที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน และเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ระลอกแรก จนถึงระลอกล่าสุด ซึ่งการระบาดของโควิด 19 นั้น ทำให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง จำเป็นต้องปรับวิธีการเรียนการสอน จากที่เคยเรียนในชั้นเรียนตามปกติ ก็ต้องปรับเป็นการใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์แทน และแม้จะมีการเตรียมการกันมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังสร้างความวุ่นวายให้ระบบการศึกษาทั้งกับครูผู้สอนและนักเรียนอยู่ไม่น้อย ซึ่งกว่าจะปรับตัวกันได้นั้นก็ใช้เวลาพอสมควร 

 

         อย่างไรก็ดี เมื่อครูผู้สอนและนักเรียนบางช่วงอายุนั้นสามารถรับวัคซีนได้ และเริ่มได้รับวัคซีนกันแล้ว ก็น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดี ที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะสามารถกลับมาเปิดภาคเรียนโดยการเรียนการสอนตามปกติได้อีกครั้ง แม้จะไม่ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม ซึ่งก่อนที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะเปิดภาคเรียนนั้น สิ่งต่อไปนี้คือแนวทางสำคัญที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่เรียกว่า COVID-Free

1. จัดเตรียมสถานที่ เช่น ห้องเรียน ห้องอาหาร หรือ ห้องกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสม ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 โดยจัดพื้นที่ให้มีอากาศถ่ายเทที่ดี มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย และมีการเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม

2. จัดเตรียมพื้นที่สำหรับให้นักเรียนได้ล้างมืออย่างเพียงพอ และมีการตั้งเจลแอลกอฮอล์ไว้ตามจุดต่าง ๆ 

3. มีมาตรการในการจำกัดคนที่เข้าออกโรงเรียน โดยจะต้องมีการคัดกรองและจำกัดผู้ที่เข้ามาติดต่อโรงเรียนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและไม่แออัดจนเกินไป

4. ส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 อย่างครบถ้วนก่อนที่จะเปิดภาคเรียน 

5. ให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนในเรื่องของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19  รวมถึงสนับสนุนให้นักเรียนในช่วงอายุที่กำหนดเข้ารับวัคซีน ให้เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ตามช่วงเวลาที่กำหนด

6. ให้ความรู้และสอนวิธีการกับนักเรียนในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) และมีการจัดเตรียมชุดตรวจที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองอย่างเพียงพอต่อการใช้งาน สำหรับใช้คัดกรองนักเรียน รวมถึงครูผู้สอนก่อนเข้ามาในโรงเรียนเป็นระยะ

7. ในระยะแรก โรงเรียนควรสนับสนุนให้ครูผู้สอนทบทวนบทเรียนเดิมให้กับนักเรียน เพื่อเป็นการปรับพื้นฐานให้กับนักเรียนก่อนที่จะเริ่มเรียนในภาคเรียนใหม่ เพราะเนื่องจากนักเรียนบางส่วนนั้น เรียนผ่านออนไลน์เป็นเวลานาน ทำให้เมื่อกลับมาเรียนตามระบบปกติอาจจะยังปรับตัวได้ไม่ดีนัก ซึ่งการปรับพื้นฐานจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ต่อเนื่องมากขึ้น

8. โรงเรียนต้องจัดเตรียมระบบการเรียนการสอนทั้งในระบบการเรียนในชั้นเรียนตามปกติ และการเรียนในระบบออนไลน์ เพราะแม้ว่านักเรียนบางส่วนจะได้รับการฉีดวัคซีนและสามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้แล้ว แต่ก็มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เช่น นักเรียนในระดับประถมศึกษาและระดับปฐมวัย ซึ่งสำหรับในพื้นที่เสี่ยงอาจจะต้องให้นักเรียนในกลุ่มนี้เรียนออนไลน์ไปก่อน หรือไม่ก็เป็นการเตรียมความพร้อมเผื่อไว้สำหรับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่อาจจะแย่ลง

9. โรงเรียนควรจะมีคู่มือในการดำเนินการสำหรับการดำเนินการจัดการเมื่อพบว่ามีนักเรียนหรือบุคลากรติดเชื้อ โดยจะต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการต่าง ๆ ว่า สำหรับผู้ที่ติดเชื้อนั้นจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แจ้งใครและดำเนินการอย่างไร ส่วนในภาคโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ก็ต้องมีขั้นตอนปฏิบัติว่า จะต้องปิดชั้นเรียนเพื่อเฝ้าระวังในระดับไหน พ่นยาฆ่าเชื้อ และต้องดำเนินการแจ้งกับผู้ปกครองนักเรียนเพื่อให้นักเรียนกักตัว และแจ้งกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือ เป็นต้น

 

         การใช้มาตรการ COVID-Free กับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นัก เพราะถึงแม้ว่ายอดติดเชื้อและเสียชีวิตนั้นจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง และเมื่อดูจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละจังหวัด ก็ยังพบว่ามีการกระจายตัวของผู้ติดเชื้ออยู่ในทุก ๆ จังหวัด ซึ่งการที่ออกมาตรการเช่นนี้ อาจส่งผลทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิมก็เป็นได้

แต่อย่างไรก็ตามการล็อคดาวน์นั้นถ้าไม่มีการผ่อนปรนเลย กิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคบริการก็ยิ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้น จนอาจไม่สามารถประคับประคองกิจการเอาไว้ได้ มันจึงจำเป็นต้องพิจารณากันให้ดี ยิ่งตอนนี้ เราเข้าใจโรคโควิด 19 นี้มากขึ้น รู้จักดูแลตัวเองมากขึ้น และได้รับวัคซีนกันมากขึ้น โอกาสที่จะได้อันตรายจากโควิด 19 นั้นก็น้อยลง และถึงแม้ว่าถ้าเราโชคร้ายติดเชื้อ การที่เราได้รับวัคซีนแล้วก็ช่วยให้เราไม่ป่วยหนักได้ ดังนั้นแทนที่จะมานั่งล็อคดาวน์อยู่ เราควรจะรีบทำทุกอย่างให้กลับมาเป็นปกติให้ได้เร็วที่สุด โดยการดูแลตัวเองอย่างปลอดภัย น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow