Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมลาโทนิน (Melatonin) กับการนอนไม่หลับของเด็กและเยาวชน

Posted By Plook Teacher | 20 ต.ค. 64
5,514 Views

  Favorite

เมลาโทนิน (Melatonin) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ที่สมองของเราสร้างขึ้นมาโดยธรรมชาติ จากต่อมที่มีชื่อว่า ไพเนียล (pineal gland) เพื่อช่วยในการควบคุมการนอนหลับและเป็นเสมือนนาฬิกา หรือที่เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ของร่างกาย อันจะส่งผลทำให้ร่างกายรับรู้ว่าเวลาไหนต้องตื่นนอนหรืออยู่ในช่วงเวลาที่จะต้องนอนหลับพักผ่อน 

ตามปกติแล้ว สมองของคนเรานั้นจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ในช่วงเวลากลางคืน ประมาณ 3 ทุ่มเป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายของเรารู้สึกง่วงนอน โดยระดับของฮอร์โมนเมลาโทนินนั้น จะคงอยู่ในกระแสเลือดเป็นเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดระดับลงจนวัดค่าไม่ได้ในช่วง 9 โมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายของเราตื่นอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ฮอร์โมนเมลาโทนินจึงเป็นฮอร์โมนที่ถูกกระตุ้นได้ดีในเวลากลางคืนที่มีความมืด และจะถูกยับยั้งในเวลากลางวันที่มีแสงแดด จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ร่างกายของคนเราต้องการพักผ่อนในเวลากลางคืน 

 

ปัจจุบันมีการศึกษาเรื่องของเมลาโทนินกันอย่างมากมาย และได้มีการพัฒนายาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนเมลาโทนินในร่างกาย เพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรคนอนไม่หลับหรือภาวะนอนหลับยาก รวมถึงเป็นตัวช่วยในการนอนหลับสำหรับกลุ่มที่ทำงานไม่เป็นเวลาหรือต้องเดินทางต่างประเทศเป็นประจำ โดยงานวิจัยส่วนใหญ่ชี้ชัดว่า ระดับของฮอร์โมนเมลาโทนินที่ลดลงในร่างกายนั้นมีผลมาจากอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้นอนน้อยลงหรือนอนไม่เป็นเวลา ซึ่งการรับประทานยาหรืออาหารเสริมที่เป็นฮอร์โมนเมลาโทนินสังเคราะห์จะช่วยให้ร่างกายนอนหลับพักผ่อนได้ดีขึ้น

 

ผลิตภัณฑ์เมลาโทนินนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก เป็นแบบปลดปล่อยทันที  มีปริมาณหลากหลาย ตั้งแต่ 3-10 มิลลิกรัม และยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย กับอีกรูปแบบหนึ่ง คือออกฤทธิ์แต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนแบบช้า ๆ เป็นชนิดที่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่าย คือ 2 มิลลิกรัม โดยต้องใช้ก่อนเข้านอนประมาณ 1 ชั่วโมง และใช้ติดต่อกันไม่เกิน 13 สัปดาห์

 

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีปัญหานอนไม่หลับ แม้แต่เด็กและเยาวชน บางคนก็ประสบปัญหาภาวะนอนไม่หลับด้วยเช่นเดียวกัน โดยบทความของ พญ.อัชฌา พงศ์พิทักษ์ดำรงและผศ.พญ.รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ เรื่อง ภาวะนอนไม่หลับในเด็กนั้น ระบุว่า ปัญหาการนอนพบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น โดยพบความชุกประมาณร้อยละ 25 หากแยกตามช่วงอายุพบ ร้อยละ 50 ในเด็กวัยก่อนเรียน ร้อยละ 30 ในเด็กวัยเรียน และร้อยละ 40 ในเด็กวัยรุ่น นอกจากนี้ความชุกของภาวะนอนไม่หลับในเด็กวัยรุ่นพบร้อยละ 9-24 ส่วนการศึกษาในเด็กวัยเรียน ในช่วงอายุ 5-12 ปี พบว่ามีความชุกสูงถึงร้อยละ 30 จากการรายงานปัญหาการนอนของผู้ปกครอง โดยพบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งปัญหาการนอนของเด็กและเยาวชนนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

โดยในเด็กและเยาวชนนั้น สามารถใช้ยาหรืออาหารเสริมเมลาโทนินในการรักษาปัญหาการนอนหลับได้ และยังเป็นตัวช่วยในการนอนหลับสำหรับเด็กที่มีภาวะออทิสติก และสมาธิสั้นอีกด้วย แต่ก่อนที่แพทย์หรือเภสัชกรจะแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เมลาโทนิน แพทย์หรือเภสัชกรจะแนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตภาวะการนอนไม่หลับของเด็กและเยาวชนนั้นเกิดจากสาเหตุใด เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งควรใช้วิธีการบำบัดหรือผ่อนคลายจิตใจ หรือถ้าเกิดจากพฤจิกรรมการนอนไม่เป็นเวลาของเด็กและเยาวชน ก็ควรที่จะแก้ไขด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาเป็นอันดับแรก เช่น การปรับปรุงห้องนอน ให้เงียบสงบ ปราศจากสิ่งรบกวน งดเว้นการดูหน้าจออุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ และส่งเสริมให้พวกเขานอนให้เป็นเวลา เป็นต้น ก่อนที่จะแนะนำให้ใช้ยาหรืออาหารเสริมเป็นวิธีสุดท้าย

 

การใช้ยาหรืออาหารเสริมเมลาโทนินในเด็กหรือเยาวชนนั้น แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการระบุให้ใช้อย่างแน่ชัด แต่ทางแพทย์และเภสัชกร แนะนำว่า สำหรับเด็กและเยาวชนที่จำเป็นต้องใช้ยา ควรได้รับยาก่อนนอน 30-60 นาที ในรูปลักษณ์ของเจลลี่ โดยเด็กทารก ประมาณ 1 มิลลิกรัม เด็กโต 2.5 – 3 มิลลิกรัม และ วัยรุ่น 5 มิลลิกรัม

 

ยาและอาหารเสริมเมลาโทนินนั้น ด้วยความที่เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติ ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายน้อย แต่ถึงกระนั้น ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ เช่น รู้สึกง่วงนอนระหว่างวัน รู้สึกเหมือนหนักศีรษะ พร้อมจะล้มลงกับพื้นตลอดเวลา  ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ  คลื่นไส้ อาเจียน  ไม่สบายท้อง อารมณ์ร้าย ฉุนเฉียว หรือ เกิดความวิตกกังวล จนอาจจะพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้าระยะสั้นได้

 

นอกจากนี้ ยาและอาหารเสริมเมลาโทนิน ยังไม่ควรใช้ร่วมกับยาบางชนิด เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ไม่ควรใช้ยาและอาหารเสริมเมลาโทนินร่วมกับยานอนหลับ ยาแก้โรคซึมเศร้า และ ยาคุมกำเนิด เพราะจะเพิ่มความรุนแรงของอาการและระดับเมลาโทนินในร่างกาย หรือไม่ควรใช้ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน โรคเบาหวานหรือ ยาความดันโลหิต เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยาต่าง ๆ ลดลงอีกด้วย

 

ไม่ควรใช้ยาและอาหารเสริมเมลาโทนินเกินกว่าขนาดที่ระบุไว้ เพราะจะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเมลาโทนินในร่างกาย และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน เพราะจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการและการเจริญโตของเด็ก ไม่ควรใช้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะจะลดทอนประสิทธิภาพของยา และไม่ควรใช้ขณะขับรถหรืออยู่ในจุดที่มีความเสี่ยงสูง

 

ปัจจุบัน นอกจากร้านขายยา เราสามารถซื้อหาผลิตภัณฑ์เมลาโทนินได้จากในร้านค้าออนไลน์ และถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์เมลาโทนินนั้น ถ้าใช้อย่างถูกวิธีจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ในประเทศไทย มีเพียงบางยี่ห้อเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) เพราะในประเทศไทยถือว่าเป็นยาอันตรายที่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ก่อนซื้อ ทำให้การซื้อผ่านออนไลน์หรือจากแหล่งต่างประเทศอาจทำให้ผู้ที่นำมาใช้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้ จึงควรซื้อจากร้านขายยาที่เชื่อถือได้และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น

 

ผลิตภัณฑ์เมลาโทนินนับว่าเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ที่ประสบปัญหากับภาวะนอนไม่หลับได้เป็นอย่างดี แต่ก่อนที่จะเลือกใช้วิธีนี้ ก็ควรหาสาเหตุของการนอนไม่หลับที่แท้จริงเสียก่อน โดยเฉพาะกับการนอนหลับของเด็กและเยาวชน เพื่อมองวิธีการในการช่วยให้นอนหลับได้อย่างเหมาะสมโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยา เช่น ใช้การออกกำลังกาย รับประทานอาหาร หรือปรับพฤติกรรม เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ง่ายกว่า และไม่เกิดผลข้างเคียงอย่างแน่นอน มันจึงเป็นสิ่งที่ควรทำก่อนที่หันมาใช้ยาเพื่อแก้ไข

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow