Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กกำพร้าเนื่องจากปัญหา Covid 19 ความน่าสลดที่ควรมีการรับมือ

Posted By Plook Teacher | 06 ก.ย. 64
2,742 Views

  Favorite

ยอดผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่าร้อยรายในแต่ละวัน หลังจากการระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า “เดลต้า” ทำให้สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยแย่ลงจนเข้าขั้นวิกฤต ระบบสาธารณสุขไทยจากที่เหนื่อยล้ามาตั้งแต่การระบาดในรอบที่แล้ว บัดนี้กับต้องเหนื่อยล้าเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่วนกระบวนการในการรับมือที่ควรจะเป็นก็ดูติดขัดด้วยปัญหาต่าง ๆ และนโยบายที่เสมือนเกาไม่ถูกที่คัน ส่งผลให้การจัดการต่าง ๆ ดำเนินการไปอย่างทุลักทุเลและช้ากว่าที่ควรจะเป็น

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราได้ทราบข่าวคราวการเสียชีวิตของผู้คนเนื่องจากปัญหาโควิด 19 หลายเคสเกิดขึ้นในโรงพยาบาล แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นในบ้านหรือตามท้องถนน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว บางรายต้องรอหลายชั่วโมงกว่าจะมีหน่วยกู้ภัยมารับศพ เพราะด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่มีมาก ทำให้หน่วยงานที่ทำงานตรงส่วนนี้ไม่เพียงพอที่จะดำเนินการได้ทัน

 

ปัญหาเรื่องของการเสียชีวิตนี้ ความจริงเป็นเพียงแค่ปัญหาเบื้องหน้าเท่านั้น เบื้องหลังยังมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตอีกมากมาย เช่น ปัญหาไม่มีสถานที่ฌาปนกิจ  ปัญหาความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้เสียชีวิต เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวและหารายได้เพียงคนเดียว หรือปัญหาที่ดูจะสะเทือนใจที่สุดคงหนีไม่พ้นปัญหาของเด็กกำพร้าเนื่องจากผู้ปกครองติดเชื้อโควิด 19 เสียชีวิต

 

ปัญหาเรื่องของเด็กกำพร้าเนื่องจากปัญหาโควิด 19 นั้น ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อย่างที่คิด เพราะนักวิจัยที่โรงพยาบาลเด็กบอสตัน ได้ทำการประเมินว่า จะมีเด็กมากกว่าหนึ่งล้านคน ที่อาจต้องกำพร้าเนื่องจากการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 จากการสูญเสียผู้ปกครองอย่างน้อยหนึ่งคน ตามแบบจำลองของพวกเขาที่เผยแพร่ใน The Lancet Medical Journal โดยผู้วิจัยได้มีการประเมินว่าเด็ก 1.13 ล้านคน จะสูญเสียพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายและในจำนวนนี้ 1.04 ล้านคน จะสูญเสีย พ่อ แม่ หรือทั้งสองคน 

 

ซึ่งเมื่อสรุปโดยรวมแล้ว มีการประเมินว่า เด็กถึง 1.56 ล้านคนต้องประสบกับความตายของพ่อแม่อย่างน้อยหนึ่งคนหรือปู่ย่าตายายที่อาศัยอยู่กับพวกเขา โดยประเทศที่มีจำนวนเด็กที่สูญเสียผู้ดูแลหลักมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ เปรู อินเดีย บราซิล และเม็กซิโก

 

การคาดการณ์นี้มีความเป็นไปได้มากขึ้น เนื่องจากการระบาดของตัวแปรเดลต้า ที่ทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันของวัคซีนลดน้อยลง และเป็นเหมือนฝันร้ายสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้ารับวัคซีน เพราะสามารถที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงและรวดเร็วกว่า ซึ่งความรุนแรงนี้ ถึงจะเป็นผู้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ และแม้จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน แต่ก็สามารถที่จะแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้

 

สถานการณ์เด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ในสังกัดของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในปี 2562  มีจำนวนเด็กกำพร้าในความดูแล 4,192 คน  ขณะที่เด็กไทยที่ถูกรับไปเป็นบุตรบุญธรรมกับครอบครัวต่างประเทศแล้ว 157 คน ใน 5 อันดับประเทศที่รับไปสูงสุด คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งแม้จำนวนเด็กกำพร้าจะมีแนวโน้มลดลง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งน่าจะทำให้มีแนวโน้มสูงขึ้น อีกครั้ง

 

นักวิจัยจากศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC), USAID, ธนาคารโลก และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน พวกเขาได้นับผู้เสียชีวิตใน 21 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 76 ของจำนวนผู้ป่วย Covid-19 ทั้งหมด โดยพวกเขาใช้วิธีการเดียวกันกับการตรวจสอบจำนวนเด็กทั่วโลกที่ต้องกำพร้าจากโรคเอดส์ เพื่อคาดการณ์จำนวนเด็กกำพร้าจากโควิด-19 ที่สูญเสียพ่อแม่เพียงคนเดียวหรือทั้งคู่เนื่องจาก ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า ในทุกๆผู้เสียชีวิต 2 คน หรือในทุกๆ 12 วินาที จะมีเด็กกำพร้า 1 คน และด้วยอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจนี้ มันจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องให้ความสำคัญกับเด็กเหล่านี้และสนับสนุน รวมถึงช่วยเหลือพวกเขาอย่างเหมาะสม

 

สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องนี้เป็นหลักคือกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหา ซึ่งอาจจะต้องดูแลและให้การช่วยเหลือเต็มรูปแบบหรือเพียงบางส่วน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสภาพปัญหา ในกรณีที่เด็กและเยาวชนยังมีพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองดูแล อาจช่วยเหลือในเรื่องความเป็นอยู่และทุนการศึกษา ในขณะที่เด็กและเยาวชนที่ไม่มีญาติ อาจต้องให้เข้าระบบอุปการะที่มีการดำเนินงานตามขั้นตอนเฉพาะอย่างเหมาะสม

 

ทางหน่วยงานควรมีการจัดทำกระบวนการช่วยเหลือทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยาว รวมถึงคอยติดตามผลในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเป็นระยะ เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือที่เหมาะสมและยั่งยืน และสามารถที่จะทำให้เด็กและเยาวชน รวมถึงครอบครัวที่อุปการะดำเนินชีวิตต่อไปได้

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือทางหน่วยจะต้องไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ควรจะมีมาตรการในการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหานี้จนต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า ซึ่งควรแตกต่างจากแนวทางในการดำเนินการตามปกติ เพราะถือเป็นสถานการณ์วิกฤตที่ต้องได้รับการดูแลเร่งด่วน เพราะถ้าดูแนวโน้มของความเป็นไปได้แล้ว ปัญหาเด็กกำพร้าที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้น่าจะมีอัตราส่วนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าการช่วยเหลือแบบปกติจะรับมือได้

 

เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงวิกฤตของชาติ แต่เป็นวิกฤตของโลกที่ทุกประเทศจะต้องดำเนินการให้รวดเร็วและรัดกุม เพื่อรักษาสิทธิที่พึงมีของเด็กและเยาวชน ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

 

แม้ว่าโควิด 19 จะทำลายล้างครอบครัวหลายครอบครัวจนล่มสลายไป แต่ทุกประเทศก็ยังจะต้องต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของเด็กและเยาวชนในการใช้ชีวิตและเติบโตอย่างเหมาะสมให้ได้มากที่สุดเพราะถือว่าเด็กและเยาวชนนั้นเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของชาติและของโลกใบนี้ มันจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ซึ่งประเทศไทยในฐานะเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ก็ควรที่จะเป็นเช่นนั้น...ถูกไหม

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow