Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมนักเรียน(บางคน)สอนแล้วไม่จำ

Posted By Plook Teacher | 30 ก.ค. 64
5,357 Views

  Favorite

การจำ เป็นกระบวนการในสมองที่เกิดจากการรับข้อมูลต่าง ๆ เข้าไป และทำให้เกิดเป็นทรงจำให้เราสามารถที่จะนึกถึงได้ เมื่อพบเจอกับประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ซึ่งประสิทธิภาพในการจำของแต่ละบุคคล ล้วนมีความแตกต่างกันถึงแม้จะรับข้อมูลเดียวกัน บางคนอาจจดจำได้ดี แต่บางคนอาจจำไม่ได้หรือจำได้แค่บางส่วน ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมาธิ ประสบการณ์ รวมถึงเทคนิคการจำของแต่ละบุคคล ทำให้แต่บุคคลนั้นจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน

เป็นธรรมดาที่นักเรียนจะมีทั้งสิ่งที่จำได้และจำไม่ได้ เพราะในวัยเรียนนั้น เป็นวัยที่ได้รับรู้สิ่งใหม่ ๆ แทบจะตลอดเวลา พวกเขาจึงมีทั้งสิ่งที่จำได้ และสิ่งที่ลืม ซึ่งก็คือ การที่สมองของแต่ละคนละทิ้งประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่เคยรับรู้ออกไป ตามปกติแล้ว ข้อมูลที่แปลกใหม่นั้น มักจะกระตุ้นความสนใจและทำให้เราจดจำได้ดีกว่าข้อมูลทั่วไป แต่สำหรับนักเรียนนั้นอาจมีตัวแปรอื่น ๆ ที่ส่งผลให้พวกเขาลืมได้ ซึ่งได้แก่

การถ่ายทอดของครูผู้สอน

ด้วยวิธีการถ่ายทอดหรือการสอนของครูผู้สอน ล้วนมีอิทธิพลผลต่อการรับรู้และประสิทธิภาพความจำของเด็กแทบทั้งสิ้น ถ้าครูผู้สอนใช้วิธีการสื่อสารที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้การดุด่า ตำหนิติเตียน ใช้อำนาจ หรือ ใช้ความรุนแรง นักเรียนก็จะปฏิเสธที่จะรับข้อมูลเหล่านั้น และไม่จดจำอย่างทีควรจะเป็น

 

ความบกพร่องในการเรียนรู้

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder - LD) เป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ซึ่งเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง และส่งผลทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง ซึ่งสิ่งนี้มีผลอย่างชัดเจนในเรื่องของความจำ มันจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากในการเรียนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะ LD นี้ เพราะพวกเขาจะเรียนรู้ได้ยากขึ้น เรียนไม่ทันเพื่อน และไม่เข้าใจในเนื้อหาที่เรียน ดังนั้นจึงควรมีการตรวจคัดกรอกนักเรียนที่มีปัญหาในเรื่องนี้ เพื่อให้พวกเขาได้รับการบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขากลับมาเรียนรู้ได้ดีขึ้น

 

ความพร้อมในการรับข้อมูล

บางครั้งเราอาจจะให้ข้อมูลนักเรียนในช่วงที่พวกเขานั้นยังไม่พร้อม จึงทำให้สมองนักเรียนไม่พร้อมที่จะรับข้อมูลใหม่ ซึ่งอาจเป็นผลมาจาก การขาดสมาธิ สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยกับการเรียนรู้ หรือ การที่พวกเขากำลังสนใจอย่างอื่นอยู่ เช่น กำลังคุยเล่นกับเพื่อน หรือ กำลังหาของที่หล่นหาย สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้พวกเขารับข้อมูลที่ครูผู้สอนสื่อสารให้ได้ไม่ครบถ้วน

 

เวลา

ข้อมูลที่รับมายาวนานและไม่ได้นำออกมาใช้ มักจะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่สมองของเราขจัดออกไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการลืมข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะที่เป็นข้อมูลการเรียนรู้ต่าง ๆ ครูผู้สอนจึงควรให้นักเรียนได้อ่านหนังสือทบทวนบทเรียนและฝึกฝนในการทำแบบฝึกหัด เพื่อรักษาข้อมูลที่มีค่าในการเรียนไว้ให้นักเรียนสามารถนำมาประยุกค์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

 

ความซับซ้อนของข้อมูล

การให้ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนจดจำให้ได้นั้น ครูผู้สอนจะต้องคำนึงถึงวัยของนักเรียนเป็นสำคัญโดยต้องทราบว่านักเรียนแต่ละระดับนั้น พวกเขาสามารถรับข้อมูลได้ขนาดไหนและมากน้อยเพียงไร ยกตัวอย่างเช่น ระดับปฐมวัย เขาไม่ได้มีคลังคำศัพท์ในหัวมากนัก และมีความสนใจเพียงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น ดังนั้นข้อมูลที่จะให้กับเด็กในวัยนี้ก็จะต้องเป็นภาษาที่ง่าย กระชับ และสามารถให้ข้อมูลได้ในเวลาที่พวกเขาให้ความสนใจ เป็นต้น

 

เทคนิคการจำ

แม้ว่าคุณภาพความจำจะเป็นผลมาจากประสิทธิภาพของสมองที่แต่ละบุคคลมีไม่เท่ากัน แต่เทคนิคการจำคือวิธีการที่ช่วยให้แต่ละคนสามารถที่จะจดจำข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีระเบียบแบบแผนตามรูปแบบของตัวเอง นักเรียนที่มีเทคนิคการจำที่ดีและหลากหลายจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรที่จะนำเสนอเทคนิคการจำหลากหลายรูปแบบให้กับนักเรียนลองนำไปใช้ เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะนำไปประยุกตฺใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองและเหมาะสมกับข้อมูลที่ได้รับได้ อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อตัวของนักเรียน

 

ทั้งการจำ และการลืมนั้น ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มาคู่กัน คนเราจดจำบางสิ่ง และก็ลืมเลื่อนบางสิ่งอยู่ตลอดเวลา มันจึงเป็นคำตอบว่าทำไมเมื่อเราโตขึ้น เราจึงจดจำเรื่องในวัยเด็กของเราได้น้อยลงเรื่อย ๆ แต่ถึงอย่างนั้น การลืมก็ไม่ใช่ว่าจะเรียกคืนไม่ได้เลย เพราะข้อมูลบางอย่างที่เราลืมอาจกลับมาจดจำได้อีกครั้ง เมื่อพบเจอสถานการณ์ที่เหมือนและคล้ายคลึงกันและทบทวนมันบ่อย ๆ

 

จงจำไว้เสมอว่า นักเรียนที่สอนเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่จำนั้น ไม่หมายความว่าเขาโง่หรือใช้ไม่ได้ เพียงแต่พวกเขาอาจมีปัญหาในด้านความจำ ขาดสมาธิ หรือ ยังไม่มีเทคนิคในการจำที่ดีพอ มันจึงเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะหาทางช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ให้ได้พบกับแนวทางในการเรียนรู้และจดจำอย่างเหมาะสม และเปลี่ยนแปลงพวกเขาจากนักเรียนที่สอนอะไรแล้วไม่จำ เป็นสอนแล้วจำ และพร้อมนำไปใช้

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow