Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กอนุบาลไม่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ (จริงหรือ ?)

Posted By Plook Teacher | 30 ก.ค. 64
7,392 Views

  Favorite

เนื่องจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทวีรุนแรงมากขึ้น ทำให้โรงเรียนหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นจะต้องระงับการเรียนการสอนที่โรงเรียนไปโดยปริยาย และใช้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ทดแทน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น

อย่างที่ทราบกันดีว่า รูปแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่รูปแบบการศึกษาเดียวที่ถูกกำหนด เพราะตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ได้กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนสามารถดำเนินการได้ถึง 5 แบบ ได้แก่ On-site  On Air  On Demand  Online และ On-Hand ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถเลือกใช้แนวทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทของสถานศึกษานั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่ก็มักที่จะเลือกใช้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ควบคู่กับ การจัดส่งใบงาน หนังสือ และแบบฝึกหัดให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่บ้าน (On-Hand) ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีความเป็นรูปธรรมและแสดงให้เห็นถึงการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนได้มากกว่า แม้ว่าบางครั้งอาจไม่เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนในสถานศึกษานั้น ๆ เลยก็ตาม

 

ปัจจุบันภาพการสอนออนไลน์ของครูผู้สอน และภาพนักเรียนเรียนออนไลน์ กลายเป็นสิ่งที่เราเห็นจนชินตามากขึ้นตามหน้าฟีดเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะในระดับอุดมศึกษา ระดับประถมและมัธยมศึกษา หรือแม้แต่ ในระดับการศึกษาปฐมวัย ซึ่งในระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษา การเรียนออนไลน์อาจไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับนักเรียนระดับประถมศึกษา แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคงหนีไม่พ้นระดับการศึกษาปฐมวัย ซึ่งหลาย ๆ คนมองว่าเป็นวัยที่เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์

ภาพ : shutterstock.com

จากโพสต์ใน Facebook ของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์  จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการพัฒนาการวัยเด็กและวัยรุ่น  ที่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับเด็กปฐมวัย เอาไว้ว่า “อนุบาลไม่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ เขาต้องวิ่ง กระโดด และปืนเขาต้องเล่นทราย ปั้นดิน ต่อบล็อค เขาต้องอยู่กลางแจ้ง ได้แสงแดดและได้วิตามินดี เขาจึงจะได้เส้นประสาทสมองที่มากพอ และก่อรูปเป็นวงจรที่มากพอเอาไว้ใช้ตลอดชีวิต เรียนออนไลน์ ได้อะไร ?”

 

ข้อความที่ทางนายแพทย์ประเสริฐ ได้สื่อออกมานี้ ทั้งผู้ปกครอง ครูอาจารย์ รวมถึงกลุ่มของนักการศึกษาต่าง ๆ ต่างเห็นพ้องต้องกันและที่เห็นด้วยกับข้อความนี้ โดยมีการแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากความเห็นของนายแพทย์ประเสริฐ รวมถึงผลลัพธ์ที่แสดงออกออกมาให้เห็น ทำให้ผู้เขียนสามารถที่จะสรุปสาเหตุสำคัญที่เด็กปฐมวัยไม่มีความจำเป็นต้องเรียนออนไลน์ได้ดังนี้

ประการที่ 1 ธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็ก

ธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยนั้น พวกเขาจะเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสผ่านการเล่นทั้งในร่มและกลางแจ้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาเส้นประสาทในสมองและก่อรูปเป็นวงจรที่มากพอให้พวกเขาเติบโตและเอาไว้ใช้ไปตลอดชีวิต รวมถึงเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา อีกด้วย ซึ่งการเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถที่จะส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีในทุกส่วนได้ 

ประการที่ 2 อันตรายจากอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์

ความที่เด็กปฐมวัยต้องเรียนออนไลน์เป็นประจำ นอกจากจะขัดต่อธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็กแล้ว แสงสีฟ้าจากพวกอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์ต่าง ๆ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเด็ก และทำให้พวกเขามีสายตาที่แย่ลง จนเกิดผลเสียต่อดวงตาจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพตามมาได้

ประการที่ 3 ความเสี่ยงต่อการเสพติดอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์

การที่เด็กปฐมวัยใช้อุปกรณ์สื่อสารออนไลน์ ทั้งกับการเรียนออนไลน์ และกับการใช้งานตามปกติ อาจส่งผลให้เด็กนั้นมีอาการเสพติดการใช้อุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้ ทำให้พวกเขาใช้อุปกรณ์เหล่านี้นานขึ้น และมากกว่าที่ควรจะเป็น และเมื่อจะให้พวกเขาหยุด พวกเขาจะไม่พอใจเมื่อต้องหยุดเล่น และจะแสดงออกมาด้วยความก้าวร้าวรุนแรง และอาจมีผลทำให้เป็นสมาธิสั้นเทียมได้อีกด้วย

ประการที่ 4 ข้อจำกัดในครอบครัว

หลายครอบครัว มีลูกหลานหลายคนที่อยู่ในวัยเรียน และด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง มันจึงเป็นภาระอย่างมากในการจัดหาอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ให้ลูกหลานครบทุกคน ด้วยเหตุนี้พวกเขาส่วนใหญ่จึงมักให้ความสำคัญกับการเรียนของนักเรียนในชั้นที่สูงกว่า ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าในระดับปฐมวัย

ประการที่ 5 ภาระที่เพิ่มขึ้นในครอบครัว

เทียบกับระดับการศึกษาอื่น ๆ เด็กปฐมวัยนั้นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างมากในการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ ร่วมไปถึงการกำกับดูแลตัวเองให้สนใจสิ่งที่กำลังเรียนรู้ มันจึงเป็นเสมือนภาระที่เพิ่มขึ้นของผู้ปกครองในการดูแลเรื่องดังกล่าวระหว่างที่เด็กกำลังเรียน

 

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นอาจไม่ใช่ความจำเป็นและทางออกที่ดีนัก ในการส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย แต่อย่างไรก็ดี การที่ครูอนุบาลมีโอกาสพบปะเด็ก ๆ ในบางโอกาส อาจเป็นเรื่องที่เหมาะสมและควรทำ แม้ว่ามันอาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

การเรียนออนไลน์บางเวลาในแต่ละวัน หรือเพียงไม่กี่วันในหนึ่งสัปดาห์ อาจช่วยให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูผู้สอนมากขึ้น นอกเหนือจากคนในครอบครัว มันจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัย ท่ามกลางสถานการณ์ที่รุนแรงนี้

นอกจากนี้การที่ครูผู้สอนเข้าถึงเด็ก ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและทุ่มเทของครูผู้สอน และเป็นเสมือนการแสดงผลลัพธ์ที่ชัดเจนให้กับการประเมินของผู้ปกครอง รวมถึงยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารและให้คำแนะนำกับผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กที่บ้านได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเรียนออนไลน์จะมีประโยชน์กับเด็กปฐมวัยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ควรที่จะใช้วิธีการนี้นานเกินไป โดยในหนึ่งวันอาจใช้เวลาเล็กน้อยเพียง 30 นาที สำหรับการส่งเสริมการเรียนรู้ และไม่ควรเป็นกิจกรรมที่สร้างความเครียดให้กับเด็ก ซึ่งครูผู้สอนอาจจะใช้การเล่านิทาน ร้องเพลง หรือเล่นเกมการศึกษาต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก และทำให้เด็กสนุกกับการเรียนออนไลน์ ส่วนเวลาที่เหลือนอกเหนือจากนี้ก็ควรให้เด็กทำกิจกรรมอย่างอิสระกับครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการบังคับหรือให้การบ้านจำนวนมาก เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กปฐมวัยคือการเล่น ซึ่งครูผู้สอนอาจจะแนะนำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้ปกครอง ไปทำร่วมกันนักเรียนได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีการพัฒนาที่ดีขึ้น และยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย

แม้ว่าการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กปฐมวัยอาจไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ครูผู้สอนจึงสามารถใช้วิธีการในนี้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กได้ เพียงแต่ต้องใช้ให้เป็น และคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กเป็นสำคัญ

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow