Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เจาะลึกการเรียนรู้ 5 ON ในช่วงโควิด 19 ON ไหน เหมาะกับใคร ?

Posted By Plook Teacher | 22 มิ.ย. 64
12,808 Views

  Favorite

การจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ หรือที่เรียกกันว่า “5 On” นั้น เป็นนโยบายด้านการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการได้ผลักดันให้สถานศึกษาต่าง ๆ ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงทวีความรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบนี้ ประกอบด้วย On Site,  On Air, Online, On demand, และ On Hand ซึ่งเป็นรูปแบบการสอนที่มีวิธีการแตกต่างกัน 5 รูปแบบ ที่ได้ถูกนำเข้ามาช่วยเหลือในด้านการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนในช่วงของวิกฤตการระบาดที่ส่งผลทำให้ไม่สามารถที่จะเปิดเรียนได้ตามปกติ โดยจะเป็นการใช้การจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบ ร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด

 

สำหรับการที่สถานศึกษาใดการจะใช้การเรียนการสอนรูปแบบใดนั้น แต่ละสถานศึกษาจะเป็นผู้กำหนดตามบริบทของสถานศึกษานั้น ๆ และความพร้อมของผู้เรียนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงมาตรการในการป้องกันโรคด้วย เพราะสำหรับรูปแบบการสอนบางอย่าง อาจจำเป็นต้องขออนุญาตจากหน่วยงานป้องกันโรคระบาดที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ถึงจะเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบนั้นได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ โดยที่นักเรียนและผู้สอนนั้นยังคงปลอดภัยจากโรคระบาดด้วยนั่นเอง

 

ดังนั้นการที่แต่ละสถานศึกษาจะเลือกใช้การเรียนการสอนรูปแบบใดนั้น เราจำเป็นที่จะต้องรู้จักรูปแบบการสอนเหล่านั้นเสียก่อน และต้องเข้าใจถึงข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละรูปแบบด้วย จึงจะสามารถเลือกเฟ้นวิธีการที่เหมาะสมกับผู้เรียนในความดูแลได้ ซึ่งการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบนั้น ผู้เขียนได้สรุปและอธิบายถึงข้อดีและข้อจำกัดไว้ดังนี้ 

 

On Site

อย่าเข้าใจผิดว่า On Site หมายถึงการเรียนบนเว็บไซต์ เพราะความจริงแล้ว มันหมายถึงการอยู่กับที่ ซึ่งก็คือ การเรียนในห้องเรียนตามปกตินั่นเอง เพียงแต่ถ้าเป็นในช่วงของการระบาด ชั้นเรียนจะลดขนาดลง โดยมีการกำหนดจำนวนผู้เรียนในแต่ละห้องเพื่อไม่ให้แออัดจนเกินไป ซึ่งสถานศึกษาอาจใช้วิธีการเพิ่มห้องเรียนหรือให้นักเรียนสลับวันมาเรียนก็ได้ วิธีนี้ช่วยให้ผู้เรียนและครูผู้สอนนั้นไม่ต้องปรับตัวมาก ทำให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้ง่าย แต่อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การจัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้จะต้องขออนุญาต ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ว่าจะสามารถเปิดได้หรือไม่

    ข้อดี

- ผู้เรียนและครูผู้สอนไม่ต้องปรับตัวมาก สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ
- ครูผู้สอนสามารถควบคุมดูแลผู้เรียนได้จากการสอนในชั้นเรียน

    ข้อจำกัด

- ไม่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการระบาด จึงยังไม่เหมาะสมกับสถานศึกษาที่อยู่ในบริเวณที่มีการระบาดหนัก
- จำเป็นจะต้องเข้าเรียนในชั้นเรียน ไม่สามารถเรียนจากที่อื่นได้

 

On Air

การเรียนรู้จากโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ที่มีตารางออกอากาศตามกำหนดชัดเจน โดยในที่นี้ สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) จะเป็นตัวหลักในการกระจายสัญญาณ ซึ่งใช้โรงเรียนวังไกลกังวลเป็นฐานในการถ่ายทอดการจัดการเรียนการสอน ทำให้สามารถเข้าถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้ และช่วยกระจายโอกาสทางการศึกษา

    ข้อดี

    - ผู้เรียนรับชมการออกกากาศผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ และปัจจุบันยังสามารถรับชมรายการย้อนหลังผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย
    - ใช้การถ่ายทอดการสอนในชั้นเรียน ทำผู้เรียนรู้สึกเหมือนนั่งเรียนในห้องเรียน

    ข้อจำกัด

    - ส่วนใหญ่เป็นรายการที่ผลิตเก็บไว้หลายปี จึงอาจมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่สัมพันธ์กับปัจจุบัน

    - จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียมหรือสัญญาณอินเตอร์เน็ตสำหรับการรับชม

 

On Demand

เป็นการเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นทางการศึกษาต่าง ๆ ที่มีชุดโปรแกรมในจัดทำบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ให้ครูผู้สอนใช้งาน หรือเป็นคลังที่รวบรวมบทเรียนสำเร็จรูปต่างๆสำหรับเป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งทั้งผู้เรียนและครูผู้สอนนั้นจะสามารถเลือกใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นเหล่านั้นร่วมกัน ในการเรียนการสอน 

    ข้อดี

    - เปิดโอกาสให้ครูผู้สอนและผู้เรียนเลือกใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นในการเรียนรู้ร่วมกันได้
    - เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นถูกสร้างมาเฉพาะสำหรับการจัดการเรียนการสอน ทำให้มีเครื่องมือใช้งานที่เข้ากับจัดการเรียนรู้ หรือมีบทเรียนสำเร็จรูปที่จัดเตรียมไว้ให้ครูผู้สอนใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้

    ข้อจำกัด

    - ผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นบางแหล่งอาจมีการเรียนเก็บค่าใช้จ่ายในการใช้บริการหรือเข้าถึงบริการที่มากขึ้น
    - จำเป็นต้องใช้มีอุปกรณ์สื่อสารและสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อในการเรียนรู้

 

Online

คือ รูปแบบการเรียนการสอนที่ให้ครูผู้สอนเป็นผู้จัดการเรียนการสอนต่อหน้าผู้เรียนโดยผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นสำหรับการสื่อสารออนไลน์ต่างๆ หรือผ่านบริการออนไลน์ที่ทางโรงเรียนได้ดำเนินการในการกระจายการเรียนรู้ไปสู่นักเรียน ซึ่งนับว่าวิธีการเป็นรูปแบบที่ถูกใช้ในการจัดการเรียนการสอนจำนวนมากในปัจจุบัน

    ข้อดี

    - สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามความต้องการของสถานศึกษา
    - ครูผู้สอนและผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการสื่อสารออนไลน์

    ข้อจำกัด

    - จำเป็นต้องฝึกอบรมบุคลากรในการใช้เครื่องมือ
    - จำเป็นต้องใช้มีอุปกรณ์สื่อสารและสัญญาณอินเตอร์เน็ตในการเรียนรู้

 

On Hand

ครูผู้สอนจัดทำใบงานให้กับนักเรียน โดยเป็นลักษณะของแบบฝึกหัดหรือแบบเรียนสำเร็จรูป ให้นักเรียนไปเรียนรู้ด้วยตัวเองและทำเป็นการบ้าน โดยครูผู้สอนอาจไปเยี่ยมเพื่อแนะนำนักเรียนในการทำใบงานบ้างเป็นครั้งคราว หรืออาจให้ผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำและช่วยเหลือนักเรียนก็ได้

    ข้อดี

    - สามารถดำเนินการได้ง่าย
    - สามารถช่วยเหลือผู้เรียนที่เข้าไม่ถึงการเชื่อมต่อออนไลน์ได้

    ข้อจำกัด

    - การปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียนมีน้อย
    - สิ้นเปลืองกระดาษและค่าจัดส่ง

 

จะเห็นได้ว่าการจัดการเรียนการสอนในแต่ละรูปแบบนั้น ต่างก็มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันไป ซึ่งการเลือกใช้การเรียนการสอนรูปแบบใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานศึกษาว่าจะเลือกใช้แบบใดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และการจัดเตรียมของสถานศึกษา ขณะเดียวกันก็ต้องเหมาะสมกับกับบริบทของผู้เรียนด้วย

 

ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นพิเศษ เราอาจจะบูรณาการทั้งหมดหรือบางส่วนร่วมกัน เพื่อสร้างรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานศึกษานั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเฉพาะของแต่ละสถานศึกษาที่สามารถขับเคลื่อนการศึกษาให้ไปต่อได้ได้ท่ามกลางกระแสวิกฤตโรคระบาดนี้

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow