Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทักษะการกู้ชีพ สิ่งสำคัญที่ควรสอนในสถานศึกษา

Posted By Plook Teacher | 22 มิ.ย. 64
5,172 Views

  Favorite

ทักษะการกู้ชีพนั้น เป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรจะมีติดตัวไว้ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือชีวิตของผู้อื่นในกรณีฉุกเฉินที่เกิดโดยไม่คาดคิดได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ประสบเหตุฉุหเฉินนั้นมีโอกาสที่จะรอดชีวิตเพิ่มขึ้น เพราะสามารถที่จะเข้าช่วยเหลือและกู้ชีพได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินจะมาถึง

 

ไม่ว่าจะเป็นข่าวของนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติเดนมาร์กที่ล้มฟุบคาสนามขณะแข่งขัน หรือ แม้แต่ข่าวสาวไลฟ์โค้ชที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขณะไลฟ์สดทำอาหาร ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤตฉุกเฉินที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหันและๆไม่มีสัญญาณเตือนใดๆมาก่อน ซึ่งถ้าได้พวกเขารับการกู้ชีพอย่างทันท่วงทีก็จะมีโอกาสรอดชีวิตสูง ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติเดนมาร์ก ซึ่งนับเป็นใส่ใจของหน่วยงานที่จัดการแข่งขัน ในเรื่องของการปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ทำให้เมื่อเกิดเหตุ แพทย์สนามจึงได้รีบเข้ามาดำเนินการกู้ชีพได้อย่างทันท่วงที ทำให้นักกีฬารอดชีวิตมาได้ โดยก่อนหน้านี้ก็มีนักกีฬาหลายคนที่เกิดเหตุฉุกเฉินในลักษณะนี้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้โชคดีเช่นนั้น

 

การทำ CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) คือ ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยวิธีปั๊มหัวใจ เป็นการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น เนื่องจาก หัวใจวาย จมน้ำ หรือขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมองได้อย่างถาวรได้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในเวลา 4 นาที และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายในเวลา 8-10 นาที ซึ่งการทำ CPR นั้นสามารถช่วยยื้อเวลาและช่วยฟื้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดที่หยุดกะทันหัน ทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้ตามปกติ มีออกซิเจนหล่อเลี้ยงสมองและอวัยวะสำคัญอื่น ๆ อีกครั้ง

 

นอกจากการปั๊มหัวใจแล้ว เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการกู้ชีพ นั่นคือ เครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง ที่สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตและจะปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อช็อกไฟฟ้าเพื่อกระตุกหัวใจ และทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งสำหรับอุปกรณ์นี้ในปัจจุบันในมีพบเห็นได้ทั่วไปตามอาคารต่างๆ ซึ่งเวลาประสบเหตุ ผู้ที่ช่วยเหลือสามารถที่จะนำมาใช้กู้ชีพได้ทันที จึงเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าในสถานศึกษามีเครื่องมือชนิดนี้ติดไว้ในพื้นที่ต่างๆเช่นเดียวกับถังดับเพลิงที่มีไว้เพื่อระงับเหตุเพลิงไหม้

 

สำหรับขั้นตอนในการทำ CPR และรวมถึงการใช้เครื่อง AED ที่ถูกวิธีนั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้นำเสนอขั้นตอนไว้ ดังนี้

     - เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตรวจดูความปลอดภัย ก่อนเช้าไปช่วยเหลือ เช่น ระวังอุบัติเหตุ ไฟช็อต หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ 
     - ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง หากผู้ป่วยรู้สึกตัว หายใจเองได้ ให้จัดท่านอนตะแคง แต่หากยังไม่หายใจ ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป
     - โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน1669 พร้อมร้องขอเครื่อง AED ที่อยู่ใกล้
     - ประเมินผู้ป่วย หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพทันที 
     - ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างของกึ่งกลางกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที แต่หากเป็นเด็กให้กดลงอย่างน้อย 1/3 ของความลึกทรวงอก (ประมาณ 2 นิ้ว หรือ 5 เซนติเมตร) ส่วนในเด็กแรกเกิดหรือเด็กอ่อน การปั๊มหัวใจให้ใช้เพียงนิ้วหัวแม่มือกดกลางกระดูกหน้าอกให้ได้อัตราเร็ว 100–120 ครั้งต่อนาที โดยใช้นิ้วมือโอบรอบทรวงอกสองข้างแล้วใช้หัวแม่มือกด
     - เมื่อเครื่อง AED มาถึง ให้เปิดเครื่อง และเปิดเสื้อผู้ป่วยออก และทำตามที่เครื่อง AEDแนะนำ 
     - ติดแผ่นนำไฟฟ้าบนตัวผู้ป่วยตามรูป และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย 
     - ปฏิบัติตามที่เครื่อง AED แนะนำ จนกว่าทีมกู้ชีพ จะมาถึง และ ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอด และปลอดภัย
     - กดหน้าอกต่อเนื่อง ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง
     - ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล

 

การทำ CPR รวมถึงการใช้เครื่อง AED นั้น นับเป็นการปฐมพยาบาลอย่างหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโดยทั่วไปได้อย่างทันท่วงที ถ้าได้รับการทำ CPR และ ใช้เครื่อง AED อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับอาการ มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรจะมีทักษะในเรื่องนี้ และสามารถปฏิบัติได้เมื่อประสบเหตุการณ์จริง โดยหนึ่งในหลายๆคนที่ควรจะมีทักษะในด้านนี้คือบุคลากรในสถานศึกษาที่ต้องดูแลนักเรียนจำนวนมาก เพราะบางทีอาจเกิดเหตุไม่คาดคิดกับนักเรียน แล้วจำเป็นต้องรีบทำการกู้ชีพ หรือ CPR อย่างเร่งด่วน  จนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์จากผู้เชี่ยวชาญที่จะมาถึง ซึ่งช่วยให้นักเรียนหรือแม้แต่บุคคลอื่นๆที่ประสบเหตุในสถานศึกษามีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น และมันคงเรื่องที่ดีมากถ้านักเรียนที่มีความพร้อมได้รับการฝึกฝนทักษะเหล่านี้ และสามารถใช้ประโยชน์จากทักษะนี้ได้จริง

 

ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดเหตุเหล่านี้กับใครหรือเมื่อไหร่ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องรู้และสามารถที่จะใช้ทักษะเหล่านี้ในการชีวิตผู้อื่นได้ ซึ่งสิ่งนี้ควรเป็นสิ่งที่มีสอนในสถานศึกษา รวมถึงมีตัวชี้วัดถึงความสามารถในการปฏิบัติตามทักษะเหล่านี้ของทั้งนักเรียน ครูผู้สอน รวมถึงบุคลากรต่างๆในสถานศึกษา เพื่อให้ทุกคนในสถานศึกษาสามารถที่จะปฏิบัติในกรณีฉุกเฉินได้และทำให้สถานศึกษามีความปลอดภัยต่อชีวิตมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างให้นักเรียนกลายเป็นพลเมืองที่มีทักษะกู้ชีพติดตัวไปในอนาคต ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากกับการสร้างสรรค์สังคมที่ดีและปลอดภัยอีกด้วย

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow