Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โซเดียมในขนมขบเคี้ยว อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

Posted By Plook Teacher | 05 พ.ค. 64
5,268 Views

  Favorite

ทุกวันนี้ ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ เรามักจะพบกับโซนขนมขบเคี้ยว ซึ่งมีมากมายหลากหลายชนิดที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สีสดใส เพื่อสร้างความดึงดูดใจให้กับเด็ก ๆ หรือแม้แต่เรา ๆ ท่าน ๆ ในการเลือกซื้อหามาไว้รับประทานในเวลาว่าง ซึ่งขนมขบเคี้ยวที่มีมากมายหลากหลายยี่ห้อเหล่านี้ พวกเราเคยสนใจไหมว่า มันจะมีประโยชน์หรือมีโทษกับร่างกายได้ในระดับไหน ไม่แน่ว่าขนมอร่อย ๆ ที่เรารับประทานหรือให้ซื้อหามาให้เด็ก ๆนั้น อาจให้โทษมากกว่าที่เราคาดคิดก็เป็นได้ ซึ่งส่วนหนึ่งที่สามารถก่ออันตรายให้กับเราได้มากคือสารอาหารที่เรียกว่า โซเดียม

 

โซเดียม คือ เกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการควบคุมสมดุลน้ำและของเหลวในร่างกาย สามารถควบคุมระบบความดันโลหิต การทำงานของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ ตลอดจนถึงการดูดซึมสารอาหารและเกลือแร่ในไตและลำไส้เล็ก จึงไม่แปลกอะไรที่โซเดียมจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตและโรคไต เพราะเป็นสารอาหารที่มีผลกระทบกับทั้งสองโรคนี้โดยตรง

 

เราสามารถพบโซเดียมได้ในอาหารทั่ว ๆ ไป เช่น พวกเนื้อสัตว์ และอาหารที่มาจากธรรมชาติ  แต่อย่างไรก็ดี มนุษย์เรานอกจากจะรับโซเดียมจากวัตถุดิบโดยตรงแล้ว เรายังบริโภคโซเดียมในรูปแบบของเกลือแกง อาหารสำเร็จรูป วัตถุปรุงรส ตลอดจนถึงขนมกรุบกรอบหลากหลายชนิดอีกด้วย

 

จากรายงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ได้ทำงานร่วมกับ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ ลดเค็ม ลดโรค ได้มีการสุ่มสำรวจอ่านค่าฉลากโซเดียมกลุ่มขนมขบเคี้ยว จำนวน 400 ตัวอย่าง บนซองผลิตภัณฑ์ โดยสามารถสรุปออกมาเป็น 9 กลุ่มประเภทซึ่งได้ผลการสำรวจดังนี้

1. ประเภทมันฝรั่ง จำนวน 69 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 80-1,080 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
2. ประเภทข้าวโพด จำนวน  20  ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  25 – 390  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
3. ประเภทข้าวเกรียบและขนมอบกรอบ  จำนวน 104  ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  45 – 560  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
4. ประเภทสาหร่าย  จำนวน 19 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  0 – 510  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
5. ประเภทถั่วและนัต  จำนวน 72 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  5 – 380 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
6. ประเภทปลาเส้น  จำนวน  36  ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  180 – 810  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
7. ประเภทแครกเกอร์และบิสกิต จำนวน 38  ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  45 – 230  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
8. ประเภทเวเฟอร์ จำนวน  27 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  25 – 150  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 
9. ประเภทคุกกี้  จำนวน  15  ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  65 – 220   มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

 

โดยทั่วไปจะสามารถบริโภคโซเดียมสูงสุดโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ได้อยู่ที่ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน และเมื่อเทียบเป็นเกลือป่นจะอยู่ที่ประมาณ  1  ช้อนชาหรือ 6 มิลลิกรัม  ซึ่งตามปกติแล้วอาหารที่ได้จากธรรมชาติที่พวกเราบริโภคกันอยู่ทุกวันก็มีปริมาณโซเดียมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันแล้ว การรับประทานอาหาร โดยเฉพาะจำพวกขนมขบเคี้ยวเป็นประจำและในปริมาณมาก ๆ จะก่อให้เกิดภาวะโซเดียมกินกว่ามาตรฐาน และส่งผลต่อการเสื่อมของไต ซึ่งมีหน้าที่หลักในการขับโซเดียมได้ และจะส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตและโรคหลอดเลือดตามมา

 

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงปริมาณโซเดียมของคนทั่วไปเท่านั้น ส่วนปริมาณโซเดียมสำหรับเด็ก พวกเขาอาจต้องการปริมาณโซเดียมที่น้อยกว่านี้มาก แต่ด้วยอัตราการรับประทานขนมขบเคี้ยวที่พวกเขาสามารถรับประทานได้พอ ๆ กับผู้ใหญ่ และบางครั้งก็มากกว่า พวกเขาจึงมีโอกาสที่จะเสี่ยงเป็นโรคไตและโรคความดันโลหิตได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก

 

วิธีอย่างหนึ่งที่น่าจะช่วยได้ในการป้องกันภาวะโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย คือ ก่อนที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารนั้นควรสังเกตฉลากข้อมูลโภชนาการทั้งแบบเต็มและแบบย่อ หรือ ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA : Guideline Daily Amount) ซึ่งจะระบุปริมาณสารอาหาร 4 ชนิด คือ พลังงาน (กิโลแคลอรี่) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม)  บนหีบห่อผลิตภัณฑ์ให้ดี ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เราทราบปริมาณสารอาหารสำคัญในอาหารเหล่านี้ และสามารถคำนวณได้ว่าควรรับประทานเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับร่างกาย 

 

นอกจากนื้ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรสังเกตให้ดีคือ ปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งหมายถึง ปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค 1 ครั้ง โดยขนมบางชนิดอาจระบุให้แบ่งรับประทานหลายวัน เพื่อให้ได้ปริมาณโซเดียมตามที่ระบุ จึงควรสังเกตให้ดีและรับประทานอย่างเหมาะสม

 

จะว่าไปแล้วโซเดียมก็ไม่ใช่สารอาหารตัวเดียว ที่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็จะเกิดผลเสียต่อร่างกาย เพราะในบรรดาสารอาหารที่ระบุในฉลากโภชนาการนั้น ก็ล้วนมีผลกระทบต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะต้องสังเกตฉลากโภชนาการให้ดี เพื่อให้สามารถเลือกรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสมต่อร่ากาย

 

ปัจจุบันขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีปริมาณสารอาหารและขนาดที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ปกครองในการเลือกให้เด็กรับประทานในเวลาว่างได้บ้าง แต่อย่างไรก็ดี ขนมขบเคี้ยวเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีประโยชน์เท่ากับพวกผลไม้ตามฤดูกาลที่นอกจากจะมีรสหวานอร่อยแล้ว ยังมีวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ผู้ปกครองจึงควรเน้นให้เด็กรับประทานผลไม้ต่าง ๆ แทนขนมขบเคี้ยว ซึ่งจะมีเป็นสิ่งที่ประโยชน์ต่อเด็กมากกว่า 

 

เรียบเรียงโดย : ​นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow