Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โปรดใส่ใจพฤติกรรมออนไลน์ของเด็กไทย

Posted By Plook Teacher | 05 พ.ค. 64
3,730 Views

  Favorite

ทุกวันนี้เด็กไทย กลายเป็นพลเมืองดิจิทัลกันอย่างชัดเจนมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ เริ่มมองไม่เห็นแล้วว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีอินเตอร์เน็ตนั้น จะเป็นเช่นไร เพราะปัจจุบันอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของเราไปแทบทุกอย่าง จึงไม่แปลกอะไรถ้าพวกเขาจะรู้สึกว่าอินเตอร์เน็ตนั้นมีความสำคัญอย่างมากกับชีวิตของเขา ซึ่งบางครั้งก็มากกว่าปัจจัยสี่เสียอีก ซึ่งสิ่งนี้แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นกระแสสังคมสมัยใหม่ที่ทุกคนจะต้องเข้าใจและก้าวตามให้ทัน ถ้าไม่อยากถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง   

 

ปัจจุบันเด็กกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคทางออนไลน์กลุ่มใหญ่ ที่หลาย ๆ ภาคส่วนต่างต้องจับตามอง การทำการตลาดเพื่อตอบสนองกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ทำให้เกิดมูลค่ามหาศาลและเม็ดเงินที่เป็นกอบเป็นกำ  ซึ่งหนึ่งในการทำการตลาดเพื่อตอบสนองกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ คือการสร้างสรรค์คลิปวีดีโอลงในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถรับชมได้ตลอดเวลา ซึ่งการที่เด็กสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายนี้ กลับสวนทางกับภูมิคุ้มกันในการร่วมกิจกรรมบนทางออนไลน์ ทำให้เด็กโดยเฉพาะในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของการใช้อินเตอร์เน็ตที่สูงมาก

 

ผลสำรวจจากแบบสำรวจออนไลน์ DQ Screen Time Test โดย WEF Global press release ซึ่งได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กจากทั่วโลกทั้งสิ้น 37,967 คน แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตสูงถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่เพียงประมาณ 33 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น 

 

นอกจากนี้จากผลการสำรวจยังพบอีกว่า เด็กไทยเล่นอินเตอร์เน็ตผ่านสมารท์โฟนสูงถึงร้อยละ 73 และใช้โซเชียลมีเดีย ถึงร้อยละ 98 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ร้อยละ 12 อีกด้วย

สำหรับความสนใจในการใช้อินเตอร์เน็ตของเด็กไทยนั้น Kaspersky โปรแกรมป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ชั้นนำ ได้เปิดเผยรายงานล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในการใช้เว็บในช่วงปีที่ผ่านมา และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งได้ทำการเก็บสถิติโดย Kaspersky Safe Kids บริการออนไลน์ที่ออกแบบมาเพื่อเก็บข้อมูลและควบคุมการใช้งานอินเตอร์เน็ตของเด็ก และพบว่าเด็กไทยสนใจเรื่องซอฟต์แวร์และเนื้อหาประเภทภาพและเสียงมากที่สุด โดย ในปี ค.ศ. 2020 เด็กไทย เข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาภาพและเสียงมากที่สุดที่ร้อยละ 45.31 อันดับที่สองเป็นใช้การสื่อสารผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต ร้อยละ 26.06 และลำดับที่สามคือเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ร้อยละ 11.35 ในขณะที่ความสนใจในเกมคอมพิวเตอร์นั้น กลับไม่สูงมากนัก มีเพียงแค่ร้อยละ 9.93 เท่านั้น

 

ผลการสำรวจนี้แสดงให้เห็นพฤติกรรมออนไลน์ของเด็กไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะพวกเขาส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้อินเตอร์เน็ตในการรับชมรับฟังสื่อต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มสำหรับการเผยแพร่คลิปวีดีโอออนไลน์ อย่างเช่น Youtube หรือ Tiktok จึงเป็นเหตุผลได้อย่างดีว่าการทำคลิปวีดีโอเพื่อให้เด็กอยากรับชมซ้ำ ๆ หรือให้โดนใจเด็ก ๆ นั้น ทำให้เกิดเป็นยอดผู้เข้าชมที่สูงมากจนนำมาสู่เม็ดเงินอันมหาศาลกลับสู่ผู้ผลิต ซึ่งปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตของเด็กไทยนั้น เทียบเคียงได้กับการใช้อินเตอร์ของกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มวัยกลางคนเลยทีเดียว

 

เด็กไทยในปัจจุบัน สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่มีปัญหาเรื่องของการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากนัก เพราะส่วนใหญ่นั้นมักใช้งานผ่านสมาร์สโฟนและแท๊บเล็ต ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย และในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดก็ล้วนแสดงการใช้งานให้เป็นแบบอย่างจนพวกเขาสามารถเรียนรู้และซึบซับได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านวิธีการสอนใด ๆ

 

ถึงแม้ว่าการใช้งานของเด็กนั้นจะเป็นเพียงแค่เริ่มต้นแต่ถ้าอุปกรณ์เหล่านั้นไม่ได้ตั้งระบบป้องกันที่ดีไว้ พวกเขาก็สามารถที่จะเข้าไปชมอะไรก็ได้ ซึ่งบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับเขา เพราะนอกจากการสำรวจการใช้งานอินเตอร์เน็ตของเด็กไทยแล้ว Kaspersky Safe Kids ยังได้สกัดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ข้อมูลลามกอนาจาร ร้อยละ 0.28  ข้อมูลความเกลียดชังและการแบ่งแยก ร้อยละ 0.05  ข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธ ร้อยละ 0.05  การพนันทางอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 0.04 และยาเสพติด ร้อยละ 0.01 ซึ่งทั้งหมดนี้ แม้ว่าจะมีอัตราส่วนที่น้อย แต่ก็นับเป็นเรื่องที่ควรกังวลเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ตของเด็กไทย

 

เป็นความจริงที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในอินเตอร์เน็ตได้ เพราะถึงแม้จะมีระบบป้องกันที่ดีมากแค่ไหน ผู้ที่เห็นแก่ได้ ก็ยังคงหาช่องทางที่จะนำพาเนื้อหาเหล่านี้ไปสู่บุคคลต่าง ๆ ถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีโอกาสจะที่หลอกล่อพวกเขาไปในทางที่ไม่ดีได้

 

ดังนั้นเพื่อให้เด็กไทยเข้าใจและรู้ทันข้อมูลการสื่อสารที่มีอยู่อย่างมากมาย  พวกเขาจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาภูมิคุ้มกันที่ดีในเรื่องนี้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ดังนี้

         1. จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือครอบครัว โดยต้องมีการสานสัมพันธ์กันในครอบครัว และทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นเพียงช่องทางการสื่อสารหาความรู้  ไม่ใช่ปล่อยให้อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่สอนพวกเขา 

         2. ในเวลาที่เด็กใช้อินเตอร์เน็ต หรือเล่นเกมออนไลน์ พวกเขาควรอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองจะต้องพยายามพูดคุยกับเขาถึงการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย รู้จักสิ่งที่ควรทำ เช่น การสนทนาอย่างสุภาพ และไม่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางในการทำเรื่องทุจริต หรือทำสิ่งที่ไม่ควร เช่น การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้กับคนแปลกหน้า หรือ การโพสต์ภาพถ่ายเรือนร่างตัวเอง ซึ่งจะนำมาซึ่งอันตรายและอาชญากรรม

         3. สำหรับข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำกับพวกเขาอย่างเหมาะสม

         4. อุปกรณ์สำหรับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่เด็กมีสิทธิใช้ได้ ควรมีการลงโปรแกรมป้องกันสำหรับเด็กไว้ เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลการใช้และสกัดข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง

 

สำหรับเรื่องนี้ หลายคนอาจคิดว่า แทนที่เราจะมานั่งหาวิธีป้องกัน ทำไมเราไม่ห้ามให้เด็กเล่นอินเตอร์เน็ตไปเลย เพราะอย่างไรเสีย อินเตอร์เน็ตก็เป็นอันตรายกับพวกเขามากกว่าผลดี ความคิดนี้อาจดูเข้าที แต่อย่าลืมว่ากับโลกใบนี้ที่เดินไปไหนก็เจอแต่เทคโนโลยี ถ้าเราเอาสิ่งที่เป็นการเชื่อมโยงนี้ออกจากเด็ก ก็เหมือนเราเอาผ้าปิดตาเขาไว้ และปล่อยให้เขาอยู่แค่ในโลกที่เราสร้างขึ้น แต่เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ผ้าปิดตานั้นก็จะถูกเปิดออก และความเป็นจริงต่าง ๆ ก็จะวิ่งมาหาพวกเขา จนบางทีพวกเขาอาจจะปรับตัวไม่ทัน และไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะดูแลหรือจัดการสิ่งเหล่านั้น จนสุดท้ายก็อาจตกเป็นเหยื่อจากผู้ไม่หวังดีทางอินเตอร์เน็ต 

 

ดังนั้น แทนที่จะปิดตา เราควรที่จะเสริมให้เขามีแว่นตา ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถแยกแยะข้อมูลที่ดีและไม่ดีได้จะดีกว่า ซึ่งเรื่องนี้น่าจะช่วยให้พฤติกรรมออนไลน์ของเด็กไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น ในอนาคต ไม่ว่าจะมีเด็กที่เข้าสู่วังวนนี้เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ถ้าเรามีแนวทางในการจัดการเรื่องนี้ที่ดี เราก็ไม่ต้องกลัวเลยว่าอินเตอร์เน็ตจะทำร้ายเด็ก ๆ ของเรา ตรงกันข้ามเขาจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างน่าสนใจจนพวกเราอาจคิดไม่ถึงเลยก็เป็นได้

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow