Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรค COVID-19 รักเด็กจริงหรือ ?

Posted By Plook Teacher | 05 พ.ค. 64
3,188 Views

  Favorite

ในการระบาดของโรคโควิด 19 ที่สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วโลก สิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างหนึ่งที่เราพบเจอระหว่างการระบาดนั้น คือเรื่องของข้อค้นพบที่ว่าอัตราการป่วยรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตของเด็กจากโรคโควิด 19 นั้น มีอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วอะไรคือสาเหตุ เราลองมาไล่เลียงกัน

 

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กนั้นมีโอกาสติดเชื้อจนป่วยเป็นโรคโควิด 19 ได้ เฉกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เพราะผลการวิจัยจากเมืองเซินเจิ้น ที่ติดตามคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคโควิด 19 จำนวนเกือบ 200 คน รวมถึงบรรดาญาติที่ได้สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดอีกมากกว่า 1000 คน ในช่วงที่มีการระบาดในจีนนั้น  พบว่าอัตราการติดเชื้อในเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ขวบ นั้น อยู่ที่ 7-8 % ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่เท่าไหร่นัก จึงสามารถอนุมานได้ว่า เด็กกับผู้ใหญ่สามารถที่จะป่วยจากโรคโควิด 19 หลังจากการรับเชื้อได้เช่นเดียวกัน  ซึ่งการรับเชื้อนี้ แม้ว่าอาการของเด็กจะไม่ได้รุนแรงเท่ากับผู้ใหญ่ แต่พวกเขาก็สามารถเป็นพาหะที่จะนำพาโรคโควิด 19 ไปสัมผัสกับบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ พี่น้อง หรือเครือญาติที่อยู่ในบ้านเดียวกัน รวมถึงติดต่อกับเพื่อน ๆ ในกรณีที่มาโรงเรียน และทำให้ผู้คนเหล่านั้นป่วยเป็นโรคโควิด 19 ได้ สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลได้อย่างดีว่า เวลาที่เด็กป่วยเป็นโรคโควิด 19  แม้ว่าจะไม่แสดงอาการรุนแรง ทำไมจึงต้องแยกเด็กออกมากักตัว เพราะพวกเขาสามารถที่จะแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นได้นั่นเอง

 

เป็นเรื่องจริงที่เด็กส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคโควิด 19 นั้น ไม่ค่อยแสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ เพราะจากงานวิจัยจากฝรั่งเศส ที่ได้เฝ้าสังเกตอาการของเด็ก 397 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคโควิด 19 โดยมีเด็กทารกในกลุ่มนั้นถึง 145 คน พบว่ามีเพียง 4 คนเท่านั้นที่มีอาการหนัก จึงสรุปได้ว่า อายุน้อยไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดโควิด 19 ขั้นรุนแรง และในความเป็นจริงเด็กเล็ก ๆ นั้นกลับมีความเสี่ยงต่ำที่สุดที่จะเกิดการติดเชื้อรุนแรง ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น จากรายงานของ ดร. Petra Zimmermann คณะวิทยาศาสตร์และการแพทย์ มหาวิทยาลัยฟรีบูร์ก สวิตเซอร์แลนด์  สามารถสรุปได้ว่า

      - การป่วยเป็นโรคโควิด 19 ของผู้ใหญ่ ทำให้เกิดความเสียหายของเซลล์บุผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดอักเสบ และกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในขณะที่เซลล์บุผนังหลอดเลือดของเด็กนั้น ได้รับความเสียหายน้อยกว่า จึงทำให้มีระบบการแข็งตัวของเลือดที่น้อยกว่าตามไปด้วย

      - ฮอร์โมนเปบไทด์ที่มีชื่อว่า แอนจิโอเทนซิน ซึ่งมีผลต่อความดันโลหิตและการขยายและหดตัวของหลอดเลือด คือตัวการในการเข้าสู่เชลล์ในร่างกายของโรคโควิด 19 และส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายรุนแรงในร่างกาย ซึ่งในกรณีของเด็กนั้น ฮอร์โมนเปบไทด์นี้มีความสัมพันธ์กับเชื้อโควิด 19 ที่ต่ำกว่าและทำให้ประสิทธิภาพในการแพร่ระบาดในร่างกายลดลง

      - เนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็กที่ยังไม่สมบูรณ์ พวกเขาจึงสามารถตอบสนองกับป้องกันเชื้อโรคได้ดี ทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมและทำให้พวกเขาไม่ได้รับผลกระทบจากโรคมากนัก ซึ่งเรื่องนี้แตกต่างจากผู้ใหญ่ที่ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มเสื่อมลงเรื่อย ๆ และตอบสนองต่อการป้องกันโรคใหม่ ๆ ได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การที่ภูมิคุ้มกันของเด็กนั้นยังไม่สมบูรณ์พวกเขาจึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อทางเดินทางใจที่ไม่รุนแรง เช่น โรคหวัด ซึ่งการติดเชื้อนี้จะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ หลายครั้งในวัยเด็ก และทำให้ภูมิคุ้มกันของเขามีการปรับตัว และสามารถป้องกันโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้ดีขึ้น

      - อาการป่วยเรื้อรั้งต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคอ้วน คือโรคที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรมและพฤติกรรมซึ่งจะรุนแรงขึ้นในวัยผู้ใหญ่มากกว่าเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง จึงเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังเหล่านี้มีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงได้

      - วิตามินดีที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและต่อต้านอนุมูลอิสระนั้น มีระดับที่ลดลงในผู้ใหญ่ โดยวิตามินดีนั้น สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับการติดเชื้อทางเดินหายใจได้  ซึ่งกลไกที่วิตามินดีช่วยป้องกันโรคทางเดินหายใจนั้น ได้แก่ การเพิ่มการฆ่าเชื้อไวรัส ลดการสังเคราะห์ไซโตไคน์ที่ทำให้เกิดการอักเสบและป้องกันการแทรกซึมของเชื้อเข้าสู่ปอดได้ ซึ่งการป่วยเป็นโรคอ้วนและโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วิตามินดีในร่างกายลดลง และทำให้พวกเขามีอาการป่วยที่มากและรุนแรงกว่าปกติ

 

ด้วยเหตุนี้ เราอาจจะเห็นได้ว่าเด็กนั้น โอกาสที่เด็กจะป่วยรุนแรงจากโรคโควิด 19 น้อย  แต่นั่นก็อาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในวัยทารกนั้นอาจมีโอกาสที่จะป่วยรุนแรงได้มากกว่า เพราะในการระบาดหนักในประเทศบราซิลมีรายงานว่า มีเด็กทารกถึงกว่า 1300 คน ที่เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนที่มาจากโรคโควิด 19 เลยทีเดียว ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เด็กทารกป่วยหนักนั้นได้แก่ การป่วยเป็นโรคหอบหืดหรือโรคปอดเรื้อรัง  โรคเบาหวาน โรคอ้วน  มีความผิดปกติทางพันธุกรรม  มีความผิดปกติในเม็ดเลือด  โรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด  มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีโรคซับซ้อน ซึ่งถ้าเด็กหรือทารกมีอาการเหล่านี้อยู่ก่อนแล้ว ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

สรุปแล้ว โรคโควิด 19 นั้นอาจไม่ได้รักเด็ก อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ เพราะเด็กก็มีโอกาสติดโรคได้พอ ๆ กับผู้ใหญ่ ถ้าไม่รู้จักป้องกันตัวเอง เพียงแต่อาการโดยทั่วไปอาจจะไม่รุนแรงเท่า เพราะด้วยระบบภูมิคุ้มกัน และพัฒนาการของร่างกายเขาที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่นั่นก็ประมาทไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กแต่ละคนนั้นมีระบบภูมิคุ้มกันเช่นไร บางคนอาจมีปัญหาสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนอื่นอยู่ก่อนแล้ว ทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรงได้ 

 

นอกจากนี้ด้วยความที่โคโรน่าไวรัส ซึ่งเป็นตัวการของโควิด 19 นั้น สามารถแพร่กระจายในพื้นที่ใดก็ได้ แถมยังเป็นไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์เร็วมาก เราจึงไม่รู้ว่าต่อไประบบภูมิคุ้มกันของเด็ก ๆ นั้นจะสามารถรับมือได้แค่ไหน ดังนั้นโปรดระมัดระวังและดูแลบุตรหลานของท่านให้ดี หมั่นล้างมือและใส่หน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัย เพราะถึงแม้เด็กจะไม่มีอาการรุนแรง แต่ก็คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกป่วยหรอกจริงไหมครับ

 

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

    

    

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow