อย่างที่เราทราบกันดีว่า เนื่องจากปัญหาด้านคดีความ ทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องเปลี่ยนมือไป ซึ่งคนที่เข้ามานั่งในตำแหน่งนี้แทน “ครูตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ คือ “ครูเหน่ง” ตรีนุช เทียนทอง
นางสาวตรีนุช เทียนทอง เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2515 มีชื่อเล่นว่า “เหน่ง” เป็นลูกสาวของนายพิเชษฐ์ เทียนทอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องของนายเสนาะ เทียนทอง นักการเมืองเชื่อดังในจังหวัดสระแก้ว กับ นางขวัญเรือน เทียนทอง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว และจากการที่เธอเติบโตในตระกูลนักการเมืองใหญ่ในจังหวัด ทำให้เธอได้รับความวางใจให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์มาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2544
สำหรับประวัติการศึกษา นางสาวตรีนุช เทียนทอง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านการเงิน จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น อิลลินอยส์ รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าการทำงานด้านการเมืองของเธอจะไม่โดดเด่นมากนัก และการศึกษาของเธอก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ที่อยากจะได้รัฐมนตรีที่มีประสบการณ์และความเข้าใจในเรื่องของระบบการศึกษาอย่างแท้จริง แต่เจ้าตัวก็มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการอยู่บ้าง เพราะเคยเป็นที่ปรึกษาให้ ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าตัวก็มีความมุ่งมั่นและพร้อมที่จะสานงานต่อจากรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการคนก่อน
โดยในวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา นางสาวตรีนุช เทียนทอง ได้เข้ามาทำงานเป็นวันแรก และได้มอบนโยบายหลัก 12 ข้อที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา อันได้แก่
1. การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย
2. การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล เพื่อให้ครูและอาจารย์ได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะทั้งด้านการจัดการเรียนรู้ ด้วยภาษาและดิจิทัล สามารถปรับวิธีการเรียนการสอนและการใช้สื่อทันสมัย และมีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดกับผู้เรียน
3. การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ(NDLP) และการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัยและเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางผ่านระบบออนไลน์ และการนำฐานข้อมูลกลางทางการศึกษามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา
4. การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐานโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายการศึกษาแห่งชาติที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อกำหนดให้มีระบบบริหารและการจัดการ รวมถึงการจัดโครงสร้างหน่วยงานให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ สถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน มีระบบการบริหารงานบุคคลโดยยึดหลักธรรมาภิบาล
5. การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ เพื่อให้ระบบการประเมินผลการศึกษาทุกระดับและระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ตอบสนองผลลัพธ์ทางการศึกษาได้อย่างเหมาะสม
6. การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษามีความเป็นธรรมและสร้างโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกลุ่มอื่น ๆ กระจายทรัพยากรทั้งบุคลากรทางการศึกษา งบประมาณและสื่อเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง
7. การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติเป็นการผลิตและการพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศโดยใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เชื่อมโยงระบบการศึกษาและการอาชีพโดยใช้กลไกการเทียบโอนประสบการณ์ด้วยธนาคารหน่วยกิตและการจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาที่สามารถอ้างอิงอาเซียนได้
8. การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจวินัย อารมณ์สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแผนบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ สู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย และมีการติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะ
9. การศึกษาเพื่ออาขีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาและอาชีวศึกษามีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้
10. การพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาผ่านระบบดิจิทัล
11. การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
12. การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบัน ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ (Online) ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และส่งผลต่อการเตรียมผู้เรียนไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ (Resilience) ประกอบกับปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความปลอดภัยในสถานศึกษา ทำให้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิคนใหม่ ก็ได้กำหนดให้มีวาระเร่งด่วน (Quick Win) ในการทำงาน อีก 7 วาระ ดังนี้
โดยจัดให้มีรูปแบบ วิธีการ หรือกระบวนการในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคม
มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ
พัฒนาการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้ได้ข้อมูลภาพรวมการศึกษาของประเทศ ที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) ตามความเป็นเลิศของแต่ละสถานศึกษาและตามบริบทของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนมีการจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน
ส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ประชาชนในแต่ละช่วงวัยได้รับการศึกษาตามความต้องการอย่างมีมาตรฐาน เหมาะสมและเต็มตามศักยภาพตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา และพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้ผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพสามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีเกียรติ ศักดิ์ศรีเท่เทียมกับผู้อื่นในสังคม สามารถช่วยเหลือตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
ซึ่งการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่นี้ จะเน้นการทำงานในรูปแบบของ TRUS คือ ความไว้วางใจที่จะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน กลับมาให้ความไว้วางใจการทํางานของกระทรวงอีกครั้ง ด้วยการสร้างความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา ผ่านความพร้อมด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัย
จากนโยบายที่ทาง “ครูเหน่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่แถลงนั้น นับว่ามีความท้าทายและตอบโจทย์การพัฒนาในศตวรรณที่ 21 ได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงมีการคำนึงถึงสถานการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีและส่งผลทำให้การศึกษาของไทยมีโอกาสก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราในฐานะ ประชาชน นักการศึกษา หรือบุคลากรในวงการศึกษา รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครอง ก็ต้องดูกันต่อไปว่าถ้อยแถลงนี้จะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน และจะสามารถพลิกโฉมวงการศึกษาของบ้านเราได้หรือไม่
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร