Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Covid-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาระดับปฐมวัยอย่างไรบ้าง ?

Posted By Plook Teacher | 28 ม.ค. 64
4,079 Views

  Favorite

ด้วยปัจจุบันนี้ โลกยังคงต้องต่อสู้ และเผชิญหน้ากับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ซึ่งเป็นที่มาของโรค Covid-19

กว่า 2 ปี และกำลังก้าวสู่ปีที่ 3 ความรุนแรงของการระบาดจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ ก็ยังไม่ลดน้อยถอยลง ซ้ำร้ายยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง และอีกหลายประเทศกลับพบการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง

 

ด้วยการระบาดของเชื้อไวรัสนี้ ทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องมีมาตรการในการรับมืออย่างเหมาะสม เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ถูกนำมาใช้คือ การปิดสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยสถานที่ที่มักจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบคือ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งต้องงดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

และด้วยความที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ นั้น มักเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่มีการควบคุม ทำให้มีการใช้เรื่องของการเรียนออนไลน์เข้ามาปรับใช้ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการเรียนรู้ต่อไปได้ แม้ว่าผู้เรียนจะยังคงต้องอยู่บ้านตามมาตราการป้องกันโรค ซึ่งจากการระบาดครั้งแรก สู่การระบาดในรอบปัจจุบัน ผู้เรียนในประเทศไทยนั้นเริ่มคุ้นชินกับการเรียนออนไลน์มากครั้ง รวมถึงครูผู้สอนก็มีประสบการณ์มากขึ้นจากครั้งที่แล้ว ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น

 

แต่อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าระบบการศึกษานั้นจะดำเนินการได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังคงเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเลื่อนชั้น รวมถึงโครงการและกิจกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่ต้องคิดพิจารณาเพื่อหาแนวทางในการดำเนินการได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

 

สำหรับระดับการศึกษาที่น่าจะได้รับผลกระทบและน่าเป็นห่วงมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ระดับของการศึกษาปฐมวัย เพราะด้วยช่วงวัยและข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้เด็กปฐมวัยนั้นได้รับผลกระทบจากการหยุดเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งผลกระทบของโรค Covid-19 ที่ส่งผลต่อการศึกษาปฐมวัยนั้น ผู้เขียนสามารถอธิบายเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

 

การเข้าเรียนในศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยลดน้อยลง

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การที่ผู้ปกครองพาเด็ก ๆ มาเข้าเรียนในศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลนั้น นอกจากจะเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้นแล้ว ยังคาดว่าให้ศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยเหล่านี้ดูแลบุตรหลานอย่างเหมาะสมและปลอดภัยในขณะที่ผู้ปกครองทำงาน ซึ่งเมื่อการระบาดของโรค Covid-19 นั้นทำให้เด็กต้องหยุดเรียน และต้องอยู่กับครอบครัว ทำให้ผู้ปกครองหลายคนอาจเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องส่งเด็ก ๆ ไปสถาบันการศึกษาอีกต่อไป เพราะมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองและเด็กไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

 

มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ด้วยความที่เด็กปฐมวัยนั้น ยังช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ดีเท่ากับเด็กในวัยอื่น ๆ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะสูญหายและได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุได้ ถ้าผู้ปกครองคลาดสายตาแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งในช่วงที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำเป็นต้องปิดและงดกิจกรรมการเรียนการสอนตามมาตรการการป้องกันโรค ทำให้เด็ก ๆ นั้นต้องอยู่ที่บ้านเป็นหลักและใช้เวลากับผู้ปกครองมากขึ้น และด้วยภาระงานของผู้ปกครองที่ต้องทำงานตามปกติ ประจวบกับการที่เด็ก ๆ ไม่ได้ไปเรียน ทำให้การดูแลบุตรหลานจึงกลายเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางครั้งด้วยภาระงานต่าง ๆ ของผู้ปกครองอาจเผลอไผล หลงลืม ในการดูแลสวัสดิภาพที่ดีและเหมาะสมของเด็ก ๆ จนทำให้เด็กเข้าไปเผชิญกับสถานการณ์อันตรายต่าง ๆ จนถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

 

มีพัฒนาการล่าช้ามากขึ้น

เป้าหมายของศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นมีขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยได้อย่างเป็นระเบียบแบบแผน สอดคล้องกับช่วงวัยและเป็นไปตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 ซึ่งแม้ว่าสถาบันครอบครัวที่มีความพร้อมจะสามารถส่งเสริมพัฒนาการให้บุตรหลานในรูปแบบของโฮมสกูลได้ แต่ก็มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้ และเลี้ยงดูบุตรหลานไม่เป็นระหว่างที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ หยุดทำการ ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่มีความเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการล่าช้าเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นปัญหาอย่างมากในการส่งเสริมการศึกษาของครูผู้สอนเมื่อกลับมาเรียน

 

จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในการเรียนออนไลน์

การเรียนออนไลน์นั้นจำเป็นต้องอาศัยความรับผิดชอบและความมีวินัยในตัวเอง  รวมถึงต้องมีทักษะด้านเทคโนโลยีพอสมควร ทำให้การเรียนออกนไลน์ของเด็กอนุบาลนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือ รวมถึงกระตุ้นให้เด็กสนใจและไม่เสียสมาธิไปกับสิ่งจูงใจอื่น ๆ เพราะถ้าปล่อยให้เด็กใช้อุปกรณ์สื่อสารตามลำพัง เด็ก ๆ อาจจะไม่ได้เรียนออนไลน์ แต่จะเล่นเกมหรือชมสื่อบันเทิงที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากกว่า ทำให้การเรียนออนไลน์ของเด็กนั้นไม่ได้ผล

 

ซึบซับภาวะความเครียดในครอบครัวมากขึ้น

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 นั้น ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ดี ทำให้ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งอาจได้รับผลกระทบ เช่น ต้องพักงานเป็นระยะเวลานานหรือตกงาน ทำให้ผู้ปกครองเหล่านี้ขาดแคลนรายได้ และมีปัญหาด้านการเงิน ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลให้ผู้ปกครองเกิดความเครียดขึ้นได้ และเมื่อเด็กจำเป็นที่จะต้องอยู่บ้าน เด็กก็อาจต้องซึมซับความเครียดต่าง ๆ ในครอบครัวที่เกิดจากปัญหาดังกล่าวนั้นตามไปด้วย จนอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กได้

 

เสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 มากขึ้น

แม้ว่าการที่เด็กอยู่บ้านนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของเด็กลงได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว มีหลายครอบครัวที่ผู้ปกครองต้องทำงานนอกบ้าน และส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องพาเด็กเดินทางไปด้วย เช่น พนักงานออฟฟิศ หรือ พ่อค้าแม่ค้าต่าง ๆ ซึ่งการที่เด็กต้องออกไปกับผู้ปกครองนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องพบปะกับผู้คนมากมาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผู้คนเหล่านั้น แต่ละคนจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้การป้องกันตัวเองตามมาตรการป้องกันโรคของเด็กนั้น ก็ไม่ใส่ใจน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เด็กจึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่ามาก

 

ประสบปัญหากับรอยต่อทางการศึกษา

เด็กปฐมวัยในวัยที่คาบเกี่ยวระหว่างการเรียนระดับปฐมวัยกับการเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 นั้น จำเป็นต้องได้รับการเตรียมความพร้อมและส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมก่อนที่จะเลื่อนชั้นขึ้นไปเรียนในระดับประถมศึกษา ซึ่งมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างจากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในระดับปฐมวันค่อนข้างมาก การที่โรค Covid-19 ทำให้สถานศึกษาต้องงดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ นั้น นับว่าส่งผลกระทบกับเด็กในช่วงรอยต่อนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่มีเวลาในการเตรียมความพร้อมเท่าที่ควร และทำให้เด็กปรับตัวได้ยากมากขึ้นกับการเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา

       

โรค Covid-19 นับเป็นโรคระบาดแห่งยุคที่ทำให้โลกใบนี้ต้องดำเนินต่อไปด้วยวิถึการใช้ชีวิตแบบใหม่ ซึ่งแม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้จะมีความหวังที่เปรียบดั่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะมีการเริ่มนำวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 ที่ได้ผ่านการทดลองมาใช้งานจริง ซึ่งคาดหวังว่าการให้วัคซีนนี้จะช่วยให้ทุกคนมีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสนี้ และทำให้ความน่ากลัวของโรค Covid-19 ลดน้อยถอยลงได้ แต่ถึงกระนั้น มาตรการในการป้องกันโรคก็ยังคงต้องมีอยู่ เพื่อต่อกรกับโรคนี้และโรคอื่น ๆ ที่อาจอุบัติขึ้นใหม่ในอนาคต และผู้เขียนก็เชื่อแน่ว่าการที่ต้องหยุดเรียนในครั้งนี้ก็อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะในอนาคตคงมีอีกหลายสถานการณ์ที่จะต้องหยุดเรียนอีก จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องปรับตัวตามวิถีใหม่ อย่างเข้าใจและเตรียมความพร้อม เพื่อให้สามาถใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้อย่างเหมาะสม

 

เรียบเรียงโดย : นายนรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow