Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ว่าด้วยเรื่องคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ

Posted By Plook Teacher | 04 พ.ย. 63
10,604 Views

  Favorite

“ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี ตรองดูซิทุกคนก็มีหัวใจ

เกิดเป็นคนถ้าหากไม่เกรงใจใคร คนนั้นไซร้ไร้คุณธรรมประจำตน”

 

ถ้าท่านผู้อ่านเป็นนักเรียนรุ่นราวคราวเดียวกับผู้เขียนหรือมากกว่า ก็คงมีโอกาสได้สดับรับฟังบทเพลงนี้ จากกิจกรรมเข้าจังหวะต่าง ๆ กันมาบ้าง โดยบทเพลงนี้ มีชื่อว่า ความเกรงใจ และเป็นเพลงหนึ่งที่มักจะนำมาใช้ในกิจกรรมลูกเสือ รวมถึงกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ซึ่งถ้ามองให้ลึกถึงเนื้อหาของบทเพลง จะพบว่าเพลง ๆ นี้เป็นเพลงที่ชี้แนะและสั่งสอนนักเรียน ให้มีความเกรงใจต่อผู้อื่น ซึ่งนับว่าเป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมไทย และนับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสั่งสอนให้นักเรียนมีคุณธรรมที่เหมาะสม

 

ตลอดมาในการศึกษาไทย มีการกล่าวถึงเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมค่อนข้างมาก และมีความสำคัญพอ ๆ กับการให้ทักษะความรู้ทางวิชาการกับนักเรียนเลยทีเดียว เพราะมองการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนักเรียนนั้น จะช่วยให้นักเรียนพัฒนาและกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งแตกต่างจากการสอนแต่ทักษะวิชาการอย่างเดียว ที่แม้นักเรียนจะมีความรู้ แต่ก็ขาดคุณธรรมจริยธรรม ทำให้เห็นแก่ตัวและไม่นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม ทำให้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมในเวลาต่อมา

 

สำหรับความหมายคำว่า คุณธรรม นั้น ถ้าเป็นความหมายตามพจนานุกรมจะมีความหมายว่า “สภาพคุณงามความดี” ซึ่งเป็นลักษณะทางบวกของความดีทางศีลธรรม โดยเป็นทั้งพฤติกรรม รูปแบบของความคิดและการกระทำที่แสดงถึงมาตรฐานทางศีลธรรมที่ดี เป็นความดีงามที่ถูกปลูกฝังขึ้นในจิตใจ จนเกิดเป็นจิตสำนึก รู้ผิดชอบชั่วดี เกรงกลัวต่อการกระทำความชั่วต่าง ๆ

       

คำว่าคุณธรรมนั้น มีความเกี่ยวเนื่องกับคำสองคำ คือ ความว่าจริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งทั้งสามคำนี้แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์กัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในบริบทต่าง ๆ โดยคำว่าคุณธรรมนั้นเป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ แต่สำคัญคำว่าจริยธรรมจะเป็นการประพฤติปฏิบัติ โดยเป็นผลจากคุณธรรมที่มีประจำใจ ส่วนคำว่าศีลธรรมก็เป็นเหมือนระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีขึ้นเพื่อไม่ให้ละเมิด ทำชั่วซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณธรรมและจริยธรรมนั่นเอง

 

ปัจจุบันนี้ เรื่องของคุณธรรมกลายเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงน้อยลงในระบบการศึกษา เพราะด้วยทั้งเรื่องของภาควิชาการที่มีเพิ่มมากขึ้นทำให้ต้องแบ่งเวลาให้นักเรียนได้เรียนรู้ในเนื้อหาวิชาการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้อาจเป็นผลจากความรู้สึกที่มองว่าเรื่องของคุณธรรมนั้น เป็นสิ่งที่มีกันอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในห้องเรียน ซ้ำร้ายรูปแบบของการจัดการเรียนรู้ในเรื่องของคุณธรรมนั้น ยังเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ความล้าสมัยและไม่เหมาะสมกับการศึกษาในศตวรรษใหม่ ซึ่งยิ่งทำให้เรื่องของคุณธรรมนั้น ไม่น่าเรียนมากขึ้นไปอีกในสายตาของนักเรียน

       

ด้วยเหตุนี้เอง กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นจุดอ่อนในส่วนนี้ และมองว่าเรื่องของคุณธรรมยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรปลูกฝังให้กับนักเรียนเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ประกาศนโยบายเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายคือ

 

“ยึดคุณธรรมนำความรู้สร้างความตระหนักสำนึกในคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันท์ สันติวิธี วิถีประชาธิปไตยพัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือของสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุข”

 

ก่อนที่จะนำจุดมุ่งหมายนี้มาตกผลึกเป็นหลักคุณธรรมทั้ง 8 ประการที่ครูผู้สอนต้องปลูกฝังให้กับนักเรียน ซึ่งได้แก่

1. ความขยัน คือ ความพากเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร หนักเอาเบาสู้ ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค และรักงานที่ทำ

 

2. ความประหยัด คือ การดำเนินชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย รู้จักและเข้าใจฐานะทางการเงินของตน คิดก่อนซื้อหรือก่อนใช้ รู้จักเก็บออม และใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย รวมถึงมีการจัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ของตนเองอยู่เสมอ

 

3. ความซื่อสัตย์ คือ การตรงทั้งต่อเวลา พฤติกรรมดีต่อหน้าที่และต่อวิชาชีพ มีความจริงใจปลอดจากความรู้สึกสำเอียง หรือมีอคติ ไม่ใช้เล่ห์กลคดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเองโดยปฏิบัติอย่างเต็มที่และถูกต้อง

 

4. ความมีวินัย คือ การปฏิบัติในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถานศึกษา สถาบัน องค์กร และประเทศชาติ โดยที่ตนยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจยึดมั่นในระเบียบแบบแผนข้อบังคับและข้อปฏิบัติ รวมถึงการมีวินัยทั้งต่อตนเองและสังคม

 

5. ความสุภาพ คือ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะ มีสัมมาคารวะ เรียบร้อยไม่ก้าวร้าว รุนแรง หรือวางอำนาจข่มผู้อื่น ทั้งทางวาจาและท่าทาง เป็นผู้มีมารยาทดีงามวางตนเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย

 

6. สะอาด คือ รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตไม่ให้ขุ่นมัว มีความแจ่มใสอยู่เสมอ ปราศจากความมัวหมองทั้งกายใจและสภาพแวดล้อมมีความผ่องใสเป็นที่เจริญตาทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น

 

7. มีความสามัคคี คือเป็นผู้เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รับรู้บทบาทของตนทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อความร่วมมือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง สามารถแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ มีเหตุมีผล ยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อ และพร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์

 

8. มีน้ำใจ คือ เป็นทั้งผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เห็นอก เห็นใจ และเห็นคุณค่าในเพื่อมนุษย์และผู้ที่มีความเดียดร้อน มีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกายและสติปัญญาลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน

 

คุณธรรมทั้ง 8 ประการนี้ นับเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกโรงเรียนควรปลูกฝังให้นักเรียนที่อยู่ในความดูแล ด้วยเทคนิคการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อให้คุณธรรมเหล่านี้เติบโตอยู่ในจิตใจของนักเรียน และช่วยพัฒนานักเรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และเหมาะสมกับการพัฒนาในศตวรรษใหม่ เสมือนเป็นการให้ปุ๋ยที่ดีกับต้นกล้า ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้เติบโตขึ้นได้อย่างแข็งแรงในอนาคต

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow