สิ่งเหล่านี้กลายเป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลต่างยกขึ้นมาหาเสียง โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะแก้ปัญหาปัญหาความยากจนนี้ให้หมดไป ด้วยแนวทางที่น่าสนใจต่าง ๆ แต่จนแล้วจนรอด ไม่ว่ารัฐบาลในยุคสมัยใด ก็ไม่อาจที่จะต่อกรกับปัญหานี้ได้อย่างมีคุณภาพและเป็นรูปธรรม และซ้ำร้ายหลายครั้งในการดำเนินการของภาครัฐก็รังแต่จะทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
แม้ว่าปัญหาความยากจนนั้นจะมีมาอย่างยาวนานแล้ว แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่ามีประชากรไทยประสบกับปัญหาความยากจนมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากอัตราการว่างงานและการขาดรายได้ อันเป็นผลพวงจากนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจและกิจการต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักเป็นเวลาหลายเดือน และถึงแม้ระยะหลังจะผ่อนปรนให้เปิดกิจการได้อย่างเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจและการค้าประสบปัญหาจากผลกำไรที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และอาจส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงิน จนนำไปสู่การเลิกจ้างหรือปิดกิจการได้
จากปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้นนี้ ผู้เขียนเชื่อแน่ว่า มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากอาศัยอยู่กับครอบครัวที่ประสบปัญหาความยากจน ซึ่งแม้ว่าโรงเรียนในสังกัดของรัฐบาลส่วนใหญ่นั้นจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการศึกษา เช่น ค่าเทอม ค่าอาหารกลางวัน รวมถึงอุปกรณ์เครื่องเขียนต่าง ๆ แต่นักเรียนก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากนี้ที่จำเป็นต้องจ่ายสำหรับการมาโรงเรียนและรวมถึงการใช้ชีวิต เช่น ค่าเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นต้น
จากรายงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ประมวลข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษเพื่อจัดสรรทุนเสมอภาค พบว่า ในปี 2563 ในภาคเรียนที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงที่มีผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 มีจำนวนนักเรียนที่สมัครคัดกรองทั้งสิ้น 1,831,250 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน กว่า 300,000 คน หรือประมาณ 17.5% สะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัวยากจนนั้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เมื่ออ้างอิงรายได้เฉลี่ยของครอบครัวยากจนพิเศษในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 1,337 บาทต่อคนต่อเดือน พบว่าในภาคเรียนที่ 1 ปี 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 600,000 คน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ถึงร้อยละ 90 เลยทีเดียว และจำนวนนี้ยังไม่รวมนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับต่อเนื่องจากปีก่อน อีกราว 900,000 คน จึงนับได้ว่ามีนักเรียนที่ประสบปัญหาความยากจนเนื่องจากสถานการณ์นี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
สำหรับการช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาความยากจนนั้น สำหรับผู้เขียนมองว่าอันดับแรก โรงเรียนจะต้องมีจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ของนักเรียนและครอบครัว โดยดำเนินการเก็บข้อมูลสำคัญของนักเรียนตั้งแต่เริ่มต้นเข้าศึกษา โดยต้องกำชับนักเรียนและผู้ปกครองให้ข้อมูลที่เป็นความจริง และหมั่นคอยปรับปรุงข้อมูลที่มีอยู่ให้ใกล้เคียงกับปัจจุบันมากที่สุดในทุกภาคเรียน เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการวางแผนการช่วยเหลือ หรือใช้เป็นข้อมูลในการขอทุนต่าง ๆ ให้กับนักเรียน
ต่อมาผู้ที่จะทราบถึงปัญหาที่นักเรียนพบเจอได้ดีที่สุดรองจากพ่อแม่ผู้ปกครอง คือ ครูประจำชั้น ซึ่งจะต้องคอยสอดส่องดูแล และสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักเรียน รวมถึงติดตามนักเรียน โดยการพูดคุยทั้งกับตัวนักเรียนเอง เพื่อนนักเรียน หรือผู้ปกครอง เพื่อให้ได้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริง และนำปัญหานั้นไปปรึกษากับเพื่อนครูและผู้บังคับบัญชาเพื่อหาแนวทางช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
การแก้ปัญหาความยากจนของนักเรียนนั้น อาจไม่ใช่เป็นการเพิ่มรายได้ในครัวเรือน แต่เป็นการลดรายจ่ายต่าง ๆ ลง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนทำได้ คือ การงดเว้นกิจกรรมบางกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเรียกเก็บ หรือ อาจจะจัดกิจกรรมเหล่านั้นในรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวของนักเรียนมีสภาพคล่องมากขึ้นและช่วยแก้ปัญหาความยากจนของนักเรียนได้ในทางอ้อม
นอกจากนี้ การจัดหาทุนการศึกษาต่าง ๆ ให้กับนักเรียนที่ประสบปัญหา ก็นับว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาความยากจนได้ ซึ่งโรงเรียนอาจตั้งกองทุนขึ้นมาด้วยความร่วมมือของกรรมการสถานศึกษา ศิษย์เก่า และสมาคมผู้ปกครอง เพื่อไว้เป็นกองทุนในการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนที่ประสบปัญหา หรืออาจเป็นสื่อกลางและผู้ประสานงานในการพานักเรียนให้เข้าถึงกองทุนช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีมากมาย อาทิ เช่น
1. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นับเป็นกองทุนหนึ่งที่มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาความยากจน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ
2. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนในกำกับของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา โดยการให้กู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และนักเรียน นักศึกษาจะต้องชำระหนี้คืนพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดเมื่อจบการศึกษาแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนเพื่อการศึกษาอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนและมูลนิธิต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทั่วไปขอรับทุนได้ โดยโรงเรียนควรจะต้องเป็นผู้ประชาสัมพันธ์และทำหน้าที่ในการประสานงาน แล้วช่วยให้นักเรียนเข้าถึงทุนในการช่วยเหลือต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับนักเรียนที่ประสบปัญหาอย่างมาก
การช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาความยากจนนั้น อาจไม่ได้หมายความว่าเป็นการบริจาคเงินให้นักเรียนอย่างเดียว แต่ควรช่วยเหลือนักเรียน โดยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เขาต้องเสียลง ซึ่งโรงเรียนในสังกัดของภาครัฐส่วนใหญ่นั้นโชคดีมากที่สามารถจัดการศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับนักเรียน ซึ่งนับเป็นการช่วยนักเรียนที่ประสบปัญหาความยากจนได้ดีที่สุด แต่บางครั้งนักเรียนก็ยังต้องมีค่าใช้จ่าย เช่นค่าเดินทางหรือการใช้จ่ายจุนเจือในครัวเรือน ซึ่งการช่วยเหลือให้นักเรียนเข้าถึงทุนการศึกษาขอหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมนั้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่โรงเรียนควรต้องใส่ใจเพื่อประโยชน์ของนักเรียนในความดูแลเป็นสำคัญ
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร