Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มุมมองการเรียนรู้ของนักเรียนตามลักษณะของดอกบัว

Posted By Plook Teacher | 04 พ.ย. 63
14,404 Views

  Favorite

ในพุทธศาสนา มีการกล่าวถึงเรื่องของดอกบัว 4 เหล่า ซึ่งเป็นคำอุปมา โดยเปรียบเปรยถึงบุคคล 4 ประเภทที่มีโอกาสบรรลุนิพพานได้หรือไม่ได้ มีจุดเริ่มต้นมาจากโพธิราชกุมารสูตร ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีและคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ซึ่งได้ระบุไว้ว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ได้ทรงพิจารณาแล้วเห็นพระธรรมที่ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อนและยากต่อบุคคลทั่วไปจะเข้าใจ รับรู้ และสามารถปฏิบัติได้ พระองค์จึงทรงพิจารณาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง และพบว่าบุคคลทั้งหลายบนโลกใบนี้ มีหลากหลายจำพวก บางคนสามารถสอนธรรมให้บรรลุธรรมได้ง่าย บางคนอาจต้องได้รับการชี้แนะหรือฝึกฝน และบางคนก็สอนไม่ได้เลย ซึ่งความแตกต่างของแต่ละบุคคลเหล่านี้ พระพุทธเจ้าจึงได้นำมาเปรียบเทียบกับลักษณะของดอกบัว 4 เหล่า ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น

 

อุคคฏิตัญญู บัวที่ชูช่อพ้นน้ำ เป็นดั่งคนมีสติปัญญาดี เรียนรู้ได้เร็ว

วิปจิตัญญู บัวปริ่มน้ำ คือลักษณะของคนที่มีสติปัญญาดี แต่ต้องได้รับการชี้แนะ

เนยยะ  บัวที่อยู่ใต้น้ำ หมายถึงคนที่มีสติปัญญาพอใช้ ต้องได้รับการสั่งสอนและฝึกอยู่เป็นนิจจึงจะดี

ปทปรมะ บัวที่จมอยู่ในโคลน ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่ไร้สติปัญญา เรียนรู้ไม่ได้

 

โดยลักษณะของดอกบัวทั้ง 4 เหล่านี้ ถ้านับมาเรียบเรียงในมุมมองของการจัดการเรียนรู้ เราจะสามารถอธิบายลักษณะการเรียนรู้ของนักเรียนพร้อมทั้งสอดแทรกแนวทางในการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนในแต่ละแบบได้ดังนี้

1. อุคคฏิตัญญู (บัวพ้นน้ำ) 

กลุ่มของบุคคลที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว ที่เพียงแค่ได้ฟังธรรมในครั้งแรกก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็สามารถเบ่งบานได้ทันทีซึ่งถ้ามองในมุมมองของนักเรียน กลุ่มนี้น่าจะหมายถึงกลุ่มนักเรียนที่มีความพร้อมและมีพื้นฐานในการเรียนรู้ที่ดีอยู่แล้ว ทำให้สามารถเรียนรู้ได้เร็ว และทำความเข้าใจในบทเรียนได้ง่าย ทำให้การจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในกลุ่มนี้ ครูผู้สอนควรเน้นที่กิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งให้นักเรียนมีความท้าทายและกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ เพื่อให้นักเรียนสามารถประยุกต์ใช้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตัวเอง

2. วิปจิตัญญู (บัวปริ่มน้ำ)

คือกลุ่มบุคคลที่มีสติปัญญาปานกลาง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติมจึงจะสามารถเข้าใจหลักธรรมต่าง ๆ ได้ในเวลาไม่นานนัก เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป ซึ่งนักเรียนในกลุ่มนี้ คือกลุ่มของนักเรียนที่มีพื้นฐานในการเรียนรู้ที่ดี แต่อาจขาดเทคนิคหรือแนวคิดในการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทำให้มีปัญหาการเรียนรู้ในระยะแรก ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรให้คำแนะนำในการเรียนรู้ให้กับนักเรียน คอยส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนสามารถค้นหาแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนในกลุ่มนี้สามารถเรียนรู้ได้ดีตามแนวทางเหมาะสมมากยิ่งขึ้นในอนาคต

3. เนยยะ  (บัวใต้น้ำ)

กลุ่มบุคคลที่มีสติปัญญาพอใช้ ที่ต้องได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม และต้องมีความขยันหมั่นเพียรฝึกฝนอยู่เป็นประจำ จึงจะสามารถเข้าใจถึงหลักธรรมคำสอนได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง โดยสำหรับนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและฝึกฝนอยู่เสมอ จึงจะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้ฝึกฝนอยู่เป็นประจำ และควรเสริมแรงให้นักเรียนมีความขยันหมั่นเพียร โดนการชมเชยและให้กำลังใจ ซึ่งเป็นหนทางที่ช่วยให้นักเรียนในกลุ่มนี้ เรียนรู้ได้ดีมากยิ่งขึ้น

4. ปทปรมะ (บัวจมอยู่ในโคลน)

กลุ่มบุคคลที่ไร้สติปัญญา ที่แม้ได้ฟังธรรมเท่าไหร่ ก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ เพราะขาดศรัทธาและไร้ซึ่งความพากเพียร  ซึ่งเปรียบเสมือนกับดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน

 

สำหรับกลุ่มนี้ แม้ว่าทางพุทธศาสนาจะมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะสั่งสอนคนในกลุ่มนี้ได้ แต่ถ้ากล่าวถึงในมุมมองของนักเรียน นักเรียนในกลุ่มนี้ น่าจะหมายถึงกลุ่มที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น มีปัญหาด้านการเรียนรู้ เขียนอ่านไม่ได้ และส่งผลทำให้นักเรียน ตามบทเรียนไม่ทัน มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียน และกลายเป็นปัญหาด้านการเรียนรู้ที่ส่งผลเสียของตัวนักเรียนเป็นอย่างมาก ดังนั้นในฐานะของครูผู้สอน สำหรับนักเรียนในกลุ่มนี้ ครูผู้สอนควรวางแผนกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์ในการแก้ไขหรือเยียวยาข้อบกพร่องในการเรียนรู้ของนักเรียน และพยายามให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้พอเพียงกับศักยภาพและความสามารถในการเรียนรู้ของตัวเอง โดยครูผู้สอนนั้นจะต้องเข้าใจถึงของจำกัดในการเรียนรู้ของนักเรียน และพยายามวางหลักเกณฑ์การวัดและประเมินผลให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน มากกว่าที่จะใช้มาตรฐานเดียวกันกับนักเรียนทั้งชั้น

 

เรื่องของดอกบัว 4 เหล่านี้ นับเป็นแนวทางทางพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ที่น่าจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถจัดสรรห้องเรียนให้เหมาะสมกับระดับการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนได้ ซึ่งการจับกลุ่มนักเรียนตามระดับของการเรียนรู้นั้น จะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับนักเรียนแต่ละกลุ่มและยังช่วยให้ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ได้ง่ายกว่าการเรียนรู้รวมกันอีกด้วย จึงเป็นเรื่องนี้ที่มีประโยชน์อย่างมาก ถ้าสามารถนำสิ่งนี้มาประยุกต์ใช้ในระบบคัดกรอกนักเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow