Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำความเข้าใจกับปัญหาการเหยียดสีผิว

Posted By Plook Teacher | 03 พ.ย. 63
4,826 Views

  Favorite

ช่วงสามสี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีการตื่นตัวเกี่ยวกับกระแสต่อต้านการเหยียดสีผิว ซึ่งเป็นผลบานปลายมาจากเหตุการณ์การกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมินนิอาโปลิส ในรัฐมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา ที่กระทำต่อนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีแอฟริกัน-อเมริกัน จนนำไปสู่การเสียชีวิต และกลายเป็นชนวนการประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวที่กระจายไปทั่วโลก

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมินนิอาโปลิส ในรัฐมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา 4 นาย ได้เข้าจับกุม ชายต้องสงสัยคนหนึ่งที่มีชื่อว่า จอร์จ ฟลอยด์ ในข้อหาพยายามใช้ธนบัตรปลอมในร้านค้า โดยระหว่างการจับกุมนั้น ชายคนดังกล่าวได้ถูกผลักในนอนคว่ำหน้าลงบนพื้น ก่อนที่ตำรวจนายหนึ่ง จะใช้เข่ากดลงบนลำคอของเขา ซึ่งแม้ว่านายฟลอยด์จะพยายามร้องบอกตำรวจว่าเขาหายใจไม่ออก แต่การปฏิบัติด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ก็ยังคงดำเนินต่อไป จนสุดท้ายนายฟลอยด์ก็แน่นิ่ง และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา

 

เหตุการณ์นี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่าง ๆ ด้วยภาพวีดีโอความยาวกว่า 10 นาที ก่อนที่จะกลายเป็นชนวนเหตุความความไม่พอใจ และสร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก จนนำมาสู่การชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านการเหยียดสีผิวครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาและได้รับเสียงสนับสนุนจากทั่วโลก ซึ่งถึงแม้ว่าสาเหตุการตายที่แท้จริงของนาย จอร์จ ฟลอยด์ อาจไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ต้องยอมรับว่าภาพที่ออกไปสู่สาธารณ ๆ นั้น เป็นการปฏิบัติต่อผู้บริสุทธิ์ด้วยความรุนแรง จนมีการตั้งคำถามว่า ถ้านาย จอร์จ ฟลอยด์นั้นไม่ได้เป็นคนผิวสี เขาอาจได้รับการปฏิบัติที่ดีและปลอดภัยกว่านี้ก็เป็นได้

 

บนโลกนี้ เราสามารถแบ่งเผ่าพันธุ์มนุษย์ออกได้เป็น 5 เผ่าพันธุ์ใหญ่ ๆ คือ

1. มองโกลอยด์ กระจายตัวอยู่ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2. นิโกรอยด์ กระจายตัวอยู่ในทวีปแอฟาริกา

3. คอเคซอยด์ กระจายตัวอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา

4. ออสตราลอยด์ กระจายตัวอยู่ในทวีปออสเตรเลีย และบริเวณเกาะใกล้เคียง

5. โพลีเนเซียน กระจายตัวอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในมหาสทุรแปซิฟิก

 

โดยแต่ละเผ่าพันธุ์นั้นล้วนมีลักษณะร่างกาย สีผิว และรูปร่างที่แตกต่างกันไป โดยจะเป็นไปตามพันธุกรรมรวมถึงสภาพแวดล้อมของถิ่นอาศัย ซึ่งแม้ว่าแต่ละเผ่าพันธุ์จะมีความแตกต่างกัน แต่ความมนุษย์ของคนเรานั้นล้วนมีคุณค่าและเสมอภาคกันเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาต่าง ๆ ในอดีตก็ทำให้มนุษย์เกิดขัดแย้งและความเกลียดชังกัน ซึ่งการเหยียดสีผิวก็นับว่าเป็นปัญหาหนึ่ง

 

การเหยียดสีผิวนั้น คือการดูถูกเหยียดหยามชาติพันธุ์อื่นที่มีสีผิวต่างจากตน ซึ่งเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ฝังรากลึกมายาวนาน นับตั้งแต่สมัยการล่าอาณานิคม โดยแต่เดิมนั้น ชนผิวขาว ด้วยความที่มีวิทยาการที่ก้าวหน้ากว่า ทำให้มีการเดินทะเลเพื่อค้าขายและออกค้นหาดินแดนนอกสำรวจต่าง ๆ ซึ่งเมื่อค้นพบก็ได้ประกาศการยึดครองหรือพยายามทำสัญญากับดินแดนต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของชนผิวขาว ซึ่งการล่าอาณานิคมนั้น ทำให้ชนผิวขาวจำนวนมาก ได้ย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ นอกเหนือจากถิ่นที่อยู่เดิมที่อยู่ในทวีปยุโรป และพยายามขับไล่ชนพื้นเมืองเดิมออกไป รวมถึงเสนอให้ชนพื้นเมืองต่าง ๆ มาเป็นทาสทำงานรับใช้ให้กับคนผิวขาว

 

คนผิวสี ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ในสมัยการล่าอาณานิคมนั้น ได้ถูกค้าเป็นทาส เพื่อทำงานหนักแทนคนผิวขาว ในทวีปยุโรปและอเมริกา ทำให้คนผิวสีถูกมองจากคนผิวขาวว่าเป็นเพียงแรงงาน ไม่มีสิทธิใด ๆ เหมือนกับพวกเขา จนเมื่อถึงยุคสมัยเปลี่ยนไป การค้าทาสกลายมาเป็นเรื่องผิดกฎหมายและถูกยกเลิก ชนผิวดำจึงแปรสภาพเป็นพลเมือง ณ ประเทศนั้น ๆ ในเวลาต่อมา ปัจจุบัน แม้ว่าเรื่องของการแบ่งแยกผิวสีนั้นจะกลายเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ต้องแท้จริงแล้ว ความรู้สึกของการไม่ยอมรับนั้นยังคงอยู่ในใจผู้คนบางกลุ่ม

 

ในประเทศแอฟริกาใต้ เคยมีการจัดระบบถือผิว เพื่อแบ่งแยกคนตามสีผิวต่าง ๆ และให้สิทธิแตกต่างกันไป ซึ่งแน่นอน คนผิวขาวในฐานะผู้ปกครองที่ได้รับมาจากการล่าอาณานิคม ก็ได้ให้สิทธิแก่คนผิวขาวมากกว่า และยังตัดสิทธิคนผิวดำออกจากการเป็นพลเมือง ทั้ง ๆ ที่คนผิวดำนั้นเป็นชนพื้นเมืองดั่งเดิม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำขึ้น ก่อนที่ยุติลงในสมัยประธานาธิบดี เนลสัน มันเดลา แต่อย่างไรก็ตาม แม้ระบบนี้จะยกเลิกไปแล้ว แต่ร่องรอยของการเหยียดสีผิวก็ยังคงส่งผลต่อนโยบายการเมืองของแอฟาริกาใต้มาจนถึงยุคปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของชนผิวขาวชาวอเมริกันที่ได้อพยบเข้ามายังทวีปอเมริกา และได้ขับไล่ชนพื้นเมืองเดิม ซึ่งก็คือชาวอินเดียนแดง ออกไปจากถิ่นฐานของพวกเขาไปสุดมหาสมุทรฝั่งตะวันออก ด้วยวิธีการที่รุนแรงและโหดร้าย จนกลายมาเป็นสงครามของสองเผ่าพันธุ์ที่กินเวลานานหลายสิบปี

 

สำหรับชาวเอเชีย แม้ว่าจะไม่ได้โดนดูถูกหรือเหยียดผิว มากเท่ากับชนผิวสี แต่ในอดีตนั้น ชาวเอเชียนั้นก็ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวยุโรปหรืออเมริกาเท่าไหร่นัก และมักจะตกเป็นรองเสมอ

 

ปัญหาการเหยียบผิวนั้น กินระยะเวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 และฝั่งรากลึกในสังคมอเมริกัน เพราะด้วยความรู้สึกที่ว่า คนผิวสีนั้นเป็นทาสที่ต้องมาใช้แรงงานและรับใช้ชนผิวขาว ทำให้ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ต่างโฆษณาโดยให้ชนผิวสีเป็นผู้ใช้แรงงาน ในขณะที่ชนผิวขาวเป็นลูกค้าหรือนายจ้าง นอกจากนี้ในยุคนั้นยังมีโฆษณาผลิตภัณฑ์ความงามต่าง ๆ ที่มักแสดงให้เห็นว่าชนผิวสีนั้นดูสกปรก ซึ่งเรื่องนี้แม้ว่าปัจจุบันเราจะไม่พบการเหยียดสีผิวแบบชัดเจนมากนัก แต่นัยยะในการเหยียดสีผิวนั้น ก็ยังคงเห็นอยู่ตามสื่อต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งที่จงใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

ปัญหาการเหยียดสีผิว นับเป็นกรณีศึกษาและตัวอย่างของความขัดแย้งที่ไม่ได้รับเยียวยาหรือการทำความเข้าใจอย่างเหมาะสม ซึ่งประวัติศาสตร์ของการเหยียดสีผิวนั้น มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่เสริมเติมแต่งขึ้น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แต่ละฝ่าย แต่หัวใจของปัญหาที่แท้จริงแล้วคือความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันของทั้งคนผิวขาวและคนผิวสี ซึ่งถ้าประวัติศาสตร์สร้างให้ทั้งสองเผ่าพันธุ์มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมมือกัน ในความรู้สึกที่เท่าเทียม ปัญหาการเหยียดสีผิว ก็อาจไม่เหลือร่องรอยให้เห็นในยุคปัจจุบันเลยก็เป็นได้

 

ทั้งหมดนี้คือเรื่องของการเหยียดสีผิวที่พอจากทำให้ผู้อ่านเห็นภาพ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่โชคดีอย่างมาก ที่เราอยู่ในยุคที่การเหยียดสีผิวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับ และเป็นเรื่องที่ควรถูกประณามอย่างร้ายแรง ทำให้มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องการเหยียดสีผิวแล้ว ก็ยังมีประเด็นที่ส่งผลให้มนุษย์มีความขัดแย้งกันได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของความเห็นทางการเมือง เชื้อชาติ หรือ ศาสนา ซึ่งเราในฐานะของผู้ใหญ่ ก็ควรที่จะช่วยกันลดทอนปัญหาเหล่านี้ เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ให้เด็กและเยาวชนรุ่นต่อไป มากกว่าที่จะสร้างชนวนเหตุแห่งสงครามที่นำไปสู่ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในอนาคต

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow