Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กและเยาวชนกับการรู้เท่าทันสื่อ

Posted By Plook Teacher | 03 พ.ย. 63
8,797 Views

  Favorite

ทุกวันนี้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้เข้ามามีบทบาทกับการดำเนินชีวิตของเราค่อนข้างมาก เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แทบจะทุกช่วงเวลา โดยไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ทำให้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ข่าวสารบ้านเมือง ข้อเท็จจริง ทัศนะจากบุคคล รวมไปถึงโฆษณา หรือข่าวลือต่าง ๆ สามารถกระทำได้โดยง่าย ผ่านโลกออนไลน์ โดยมีอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เป็นสื่อ

 

สมัยก่อนสำหรับข่าวสารทั่วไป สำนักข่าวที่น่าเชื่อถือต่าง ๆ จะเป็นผู้นำเสนอ ซึ่งกว่าจะนำเสนอออกมาได้นั้นต้องผ่านการกลั่นกรองอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ นักข่าวในสมัยนั้นจึงต้องทำงานหนักมาก เพราะต้องออกพื้นที่เพื่อไปตรวจสอบจากสถานที่จริงและสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดในการทำสกู๊ปข่าว แต่ปัจจุบันด้วยความที่มีเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่มีความเป็นมัตติฟังก์ชั่น ทำให้ทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความ การอัดเสียง การถ่ายภาพ หรือ การถ่ายคลิปวีดีโอ เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ด้วยอุปกรณ์สื่อสารอย่างพวกสมาร์สโฟน หรือ แท็บแล็ต ได้เพียงแค่เครื่องเดียว แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดีที่เราสามารถเข้าถึงสื่อได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าการเข้าถึงที่รวดเร็วนั้น เรามีทักษะพอที่จะรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้แล้วหรือยัง ?

 

บางครั้งภาพที่สื่อออกมาโดยบุคคลทั่วไป อาจมุ่งหมายให้เราเข้าใจไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับผู้นำเสนอ ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงนั้น อาจแตกต่างไปจากสิ่งที่รับชมก็เป็นได้ ซ้ำร้าย การทำงานข่าวของสำนักข่าวในสมัยใหม่ ที่จำเป็นต้องแข่งขันในด้านของความนิยม ก็เน้นแต่การหาข่าวเพื่อให้เกิดการถกเถียงกันมากกว่าที่จะให้ข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะนำมาจากในโซเชียลมีเดีย สิ่งนี้กำลังจะกลายเป็นภัยรูปแบบใหม่ที่กำลังกัดกินสังคมไทย เพราะยิ่งคนรู้เท่าทันสื่อน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งตกไปเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ของสื่อมากขึ้นเท่านั้น

 

นอกจากรูปแบบของการนำเสนอข่าวสารเปลี่ยนไปแล้ว เรื่องของโฆษณาชวนเชื่อ รวมถึงข่าวลือต่าง ๆ ก็สามารถเข้าถึงผู้คนผ่านโซเชียลมีเดียได้ง่ายด้วยเช่นเดียวกัน เพราะด้วยความสามารถของแอปพลิเคชั่นในอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถประมวลผลความสนใจของเราจากสิ่งที่เราค้นหา ทำให้โฆษณาที่อยู่ในข่ายความสนใจของเราก็ปรากฎขึ้นมาในขณะที่กำลังเปิดใช้งาน ซึ่งทำให้เรามีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจในตัวสินค้านั้น นอกจากนี้รายการต่าง ๆ ในโทรทัศน์รวมถึงคอนเทนต์ออนไลน์ในปัจจุบันมักจะสอดแทรกการขายสินค้าลงไปในรายการหรือคอนเทนต์นั้น ๆ โดยตรง ซึ่งแตกต่างจากรายการในสมัยก่อนที่อาจจะมีโฆษณาแค่ตอนคั่นเวลา หรืออาจกล่าวถึงว่าเป็นผู้สนับสนุนในบางโอกาส การสอดแทรกโดยตรงนี้จะทำให้เราซึบซับข้อมูลจากโฆษณาเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัวและรู้สึกว่าสินค้าตัวนั้นน่าสนใจมากขึ้น

 

ส่วนข่าวลือ หรือ ข่าวปลอม (Fake News) นั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ผิด ๆ บิดเบือน หรือขาดสาระสำคัญ กับบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาหลงเชื่อและปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์แอบแฝง เช่น การสร้างความชอบธรรมกับบุคคลหรือกลุ่มคน หรือการทำให้เกิดความเชื่อเพื่อประโยชน์ทางการค้า เป็นต้น สิ่งนี้กลายเป็นสิ่งที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อผู้ที่ได้รับฟังขาดวิจารณญาณและทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ ทำให้นำข่าวสารที่ผิดเพี้ยนนี้ไปแชร์ต่อให้กับบุคคลอื่น และกลายเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

 

ในหนังสือรู้เท่าทันสื่อ โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ระบุถึง 5 องค์ประกอบของการรู้เท่าททันที่ที่ทุกๆคนต้องมี ซึ่งได้แก่

1. การเปิดรับสื่อ คือ การเปิดรับสื่อด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพื่อรับรู้ถึงภาพรวมทั้งหมดของสื่อ

2. การวิเคราะห์สื่อ คือ การแยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ ในการนำเสนอของสื่อเหล่านั้นว่ามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร

3. การเข้าใจสื่อ คือ การตีความสื่อหลังจากเปิดรับสื่อไปแล้ว เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่สื่อนำเสนอ

4. การประเมินค่า คือการประเมินค่าสิ่งที่สื่อนำสนอว่ามีคุณภาพและคุณค่ามากน้อยเพียงใด

5. การใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ คือการนำสิ่งที่เราวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ เลือกรับสื่อเป็น สามารถส่งสารต่อและมีปฏิกิริยาตอบกลับสื่ออย่างเหมาะสมได้

 

สิ่งที่ต้องสอนให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง และครูผู้สอน ต้องสอนให้เด็กและเยาวชนคิดและตั้งข้อสงสัยกับข้อมูลต่าง ๆ ที่มีเข้ามาอยู่เสมอ โดยต้องมีความเคลือบแคลงสงสัยไว้ก่อนในข้อมูลต่าง ๆ ที่พบเจอ และนำความสงสัยเหล่านี้ไปสอบถามผู้รู้ หรือหาข้อมูลต่าง ๆ ในแหล่งเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือ รวมถึงเปิดโอกาสรับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ทั้งภายในครอบครัว หรือภายในชั้นเรียน ซึ่งจะเป็นการแชร์ประสบการณ์ความเข้าใจในมุมมองของแต่ละคนที่มีไม่เหมือนกัน ทำให้สามารถตกผลึกข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ และหาได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความจริงเท็จมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกรับหรือเชื่อในข้อมูลเหล่านั้น

 

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ปัญหาของการรู้เท่าทันสื่อส่วนใหญ่อยู่ที่การขาดวิจารณญาณในการรับสื่อ หลายครั้งที่ทุกคนชอบที่จะแชร์เรื่องราวที่ขบขันหรือน่าสนใจให้กับคนอื่น ๆ โดยไม่ทันที่จะตรวจสอบว่าเป็นการแชร์ที่เหมาะสมหรือไม่ ดังนั้นจึงควรกำชับให้เด็กและเยาวชน อ่านหรือศึกษารายละเอียด รวมถึงคิดให้ดีก่อนที่จะแชร์ข้อมูลอะไรออกไป เพื่อไม่ให้สิ่งนั้นเกิดผลกระทบกับบุคคลอื่นและเกิดผลเสียกับตัวเองในอนาคต

 

เด็กและเยาวชนมีโอกาสที่จะตกเป็นเครื่องมือของการใช้สื่อโดยมิชอบได้ง่าย เพราะด้วยความที่พวกเขายังขาดประสบการณ์และวุฒิภาวะ รวมถึงขาดความรู้ความเข้าใจที่จะเป็นข้อมูลในการคิดวิเคราะห์แยกแยะอย่างเหมาะสม จึงทำให้ช่วงวัยนี้ซึมซับสื่อต่าง ๆ ได้โดยง่าย นอกจากนี้ด้วยอุปนิสัยพื้นฐานของวัยรุ่นที่ชอบทำอะไรตามกระแส ก็นับเป็นจุดสำคัญที่บรรดาสื่อโฆษณาต่าง ๆ ใช้มาเจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่นอีกด้วย

 

ดังนั้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้ทันปัญหาเหล่านี้ เด็กและเยาวชนควรต้องได้รับคำแนะนำจากพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงครูผู้สอนอย่างใกล้ชิด โดยไม่ใช่เป็นการห้ามรับสื่อ แต่ต้องสร้างให้พวกเขามีภูมิคุ้มกันทางความคิด เพื่อให้สามารถพินิจพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ที่สื่อนำเสนอออกมาได้ เพราะในอนาคตรูปแบบในการนำเสนอของสื่อต่าง ๆ นั้น อาจมีรูปแบบที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในตอนนี้แทบจะโดยสิ้นเชิง และอาจจะสามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นแทนที่จะมัวมาปิดช่องทางรับสื่อเพื่อป้องกันสื่อที่ไม่เหมาะสมมาถึงตัวของเด็กและเยาวชน สู้ให้เขามีภูมิกันที่ดีต่อสื่อต่าง ๆ น่าจะดีกว่า จริงไหมครับ

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow