Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

12 ประโยคที่ไม่ควรพูดกับนักเรียนของคุณ

Posted By Plook Teacher | 02 พ.ย. 63
11,440 Views

  Favorite

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียนนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการช่วยส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ในชั้นเรียน ครูผู้สอนที่สื่อสารกับนักเรียนด้วยความเป็นมิตรและจริงใจ จะดึงดูดให้นักเรียนสนใจและเข้าร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนจัดขึ้น อีกทั้งยังเป็นเสมือนอาหารเสริมชั้นดี ที่ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การพูดคุยสื่อสารกับนักเรียนนั้น ครูผู้สอนควรต้องระมัดระวังคำพูดของตัวเองให้ดี เพราะคำพูดที่พูดออกไปนั้น ล้วนส่งผลอย่างยิ่งต่อตัวของนักเรียน ทั้งในด้านการใช้ชีวิตและประสิทธิภาพการเรียนรู้ ยิ่งครูผู้สอนสื่อสารกับนักเรียนในเชิงบวกมากเท่าไหร่ นักเรียนก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้นมากเท่านั้น ในทางกลับกัน ถ้าครูผู้สอนได้แต่สื่อสารกับนักเรียนในทางลบ นอกจากนักเรียนจะไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสมแล้ว ยังทำให้นักเรียนมีทัศนคติไม่ดีต่อทั้งครูผู้สอนและระบบการเรียนรู้อีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ยุคใหม่ ครูผู้สอนจึงต้องพยายามสื่อสารกับนักเรียนด้วยถ้อยคำเชิงบวก และพยายามตัดและเลิกใช้ถ้อยคำเชิงลบต่าง ๆ  ซึ่ง 10 ข้อต่อไปนี้ คือตัวอย่างของถ้อยคำเชิงลบ ที่ไม่ควรนำมาใช้กับนักเรียนอีกต่อไปแล้ว

 

1. อย่ามาเถียง !

คำถามที่แสดงถึงอำนาจของครูผู้สอนที่มีต่อนักเรียนที่เป็นลูกศิษย์ในลักษณะนี้ น่าจะหมดไปสักทีกับสังคมสมัยใหม่ เพราะเป็นการแสดงว่าครูผู้สอนเชื่อมั่นแต่ความคิดของตัวเอง และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น หรือข้อโต้แย้งใด ๆ จากนักเรียน ทั้ง ๆ ที่ครูผู้สอนควรจะเป็นบุคคลหนึ่งที่พร้อมจะรับฟังและให้คำปรึกษาพวกเขาได้มากที่สุด และถ้าวิเคราะห์กันโดยแท้จริง การที่ครูผู้สอนใช้คำนี้กับนักเรียนนั้น คือการตัดบท เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องอธิบายอะไรยาก ๆ ให้กับนักเรียน หรือไม่ก็ตัวครูผู้สอนเองนั่นแหละที่ไม่มีความเข้าใจมากพอในเรื่องที่กำลังสื่อสารกับนักเรียน

 

2. เธอจะทำได้เหรอ ?

คำถามเชิงดูถูกความสามารถเป็นสิ่งที่บั่นทอนขวัญกำลังใจ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะหลุดออกมาจากบุคคลที่เป็นครู ซึ่งทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนานักเรียน เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับนักเรียน ซ้ำร้ายยังเป็นการกดให้นักเรียนรู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถอีกด้วย ดังนั้น ถ้าอยากจะกระตุ้นให้นักเรียนแสดงศักยภาพ ลองบอกว่า “สิ่งที่เธอทำมันต้องน่าสนใจแน่ ๆ” หรือ “ฉันเชื่อในฝีมือเธอ” รับรองว่านักเรียนคนนั้นจะสร้างความมหัศจรรย์และความประทับใจให้คุณเห็นอย่างแน่นอน

 

3. น้องเธอ/พี่เธอ/พ่อแม่เธอ ทำได้ดีกว่าเธออีก

ลูกไม้ ไม่จำเป็นต้อนหล่นใกล้ต้น การที่พี่หรือน้องของนักเรียน หรือแม้แต่พ่อแม่ของนักเรียนในกรณีที่ครูท่านนั้นสอนกันมายาวนานตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ยันรุ่นลูก เรียนได้ดีกว่า ไม่ได้หมายความว่านักเรียนจะต้องเรียนดีเฉกเช่นเดียวกับพ่อแม่หรือพี่น้องของเขา เพราะมนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน มีรูปแบบการเรียนรู้และความเข้าใจไม่เหมือนกัน ดังนั้นมันคือหน้าที่ของครูผู้สอนต่างหากที่จะหาแนวทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน

 

4. คนอื่นทำได้ ทำไมเธอทำไม่ได้

การเปรียบเทียบนักเรียนคนนั้นคนนี้ ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมเลยในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนตามหลักจิตวิทยา เพราะมันไม่ใช่การผลักดันและกระตุ้นให้นักเรียนพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น แต่มันคือการกดดันและทำให้นักเรียนรู้สึกด้อยค่ากว่าคนอื่น ๆ และส่งผลทำให้นักเรียนไม่อยากเรียนและคิดว่าตัวเองคงพัฒนาไปไม่ได้มากกว่านี้ ดังนั้นในฐานะครูผู้สอนต้องไม่เปรียบเทียบนักเรียนกับนักเรียนคนอื่น ๆ แต่ควรเปรียบเทียบกับวันแรกที่เขามาเรียนว่านักเรียนมีการพัฒนาไปแค่ไหนในปัจจุบัน

 

5. เรื่องอื่นน่ะเก่งนัก ทีเรื่องเรียนไม่ได้เรื่อง

คำพูดแสดงการประชดประชัน ระหว่างสถานการณ์หนึ่งกับสถานการณ์หนึ่ง เป็นสิ่งที่ไร้สาระมากและไม่มีคุณค่าอะไรเลย นอกจากความรู้สึกสาแก่ใจของครูผู้สอนที่เห็นนักเรียนพลาดท่า และทำให้นักเรียนรู้สึกว่าครูผู้สอนท่านนั้น คอยแต่จะจับผิดและมองแต่เรื่องที่ไม่ดีของเขา มากกว่าที่จะมองเห็นในศักยภาพอื่น ๆ ที่เขามี

 

6. ครูผิดหวังในตัวเธอจริง ๆ

การกล่าวแสดงความผิดหวังกับบุคคลอื่น เป็นประโยคที่ไม่ควรใช้เป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด และยิ่งเป็นครูผู้สอนด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรใช้ประโยคนี้กับนักเรียนในความดูแลอย่างที่สุด เพราะหน้าที่ของครูผู้สอนคือการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้เป็นไปตามแนวทางอย่างเหมาะสมตามศักยภาพของเขา ซึ่งบางครั้งแม้ว่าจะมีเรื่องที่นักเรียนทำได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เราก็ควรที่จะพูดให้กำลังใจมากกว่าที่จะพูดบั่นทอนความพยายามของเขาเช่นนี้

 

7. เธอมันไม่เอาไหน

บนโลกใบนี้ ไม่มีใครที่ดีเยี่ยมหรือย่ำแย่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนต่างมีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกันไป ในกรณีของนักเรียน การเรียนคือการฝึกทักษะซึ่งมีทั้งที่ทำได้ดี และมีจุดที่ต้องพัฒนา การที่ครูผู้สอนกล่าวประโยคนี้กับนักเรียนนั้น เป็นเสมือนการตีตรานักเรียนคนนั้นว่าเขาเป็นเด็กที่มีปัญหาและแย่มาก ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว เขาอาจจะทำได้ดีในวิชาอื่นก็เป็นได้ การกล่าวเช่นนี้ เป็นการทำลายขวัญกำลังใจนักเรียน และทำให้ผลลัพธ์นี้ส่งผลกระทบต่อการเรียนในวิชาอื่น ๆ อีกด้วย

 

8. เธอคิดอะไรของเธอ ?

คำถามยั่วยุที่แสดงให้เห็นถึงการดูถูกความคิดหรือการกระทำของนักเรียนในลักษณะนี้ เป็นอีกประโยคหนึ่งที่ไม่ควรหลุดออกจากปากของครูผู้สอนเป็นอย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่ต้องการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทักษะและกระบวนการคิด เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ในศตวรรษที่ 21 ถึงแม้ว่าความคิดหรือการกระทำของนักเรียนจะไม่ถูกต้องหรือผิดแปลกไปจากที่ควรจะเป็น แต่พวกเขาล้วนมีเหตุผลที่จะคิดและทำเช่นนั้น ซึ่งแทนที่ครูผู้สอนจะเบรกทุกสิ่งทุกอย่างไปด้วยประโยคนี้ ลองเปิดโอกาสให้เขาชี้แจงด้วยประโยคที่ว่า ไหนลองเล่าให้ครูฟังสิว่าเกิดอะไรขึ้น หรือ ไหนลองเล่าให้ฟังสิว่ามันเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้ชี้แจงเหตุผลถึงความคิดและสิ่งที่ได้กระทำ

 

9. ฉันไม่เชื่อเธอหรอก

เรามักได้ยินประโยคนี้ ในกรณีที่นักเรียนพยายามอธิบายเหตุผลต่าง ๆ เกี่ยวกับการกระทำที่บางครั้งอาจจะไม่เข้าท่าของเขา ซึ่งการที่ครูผู้สอนกล่าวเช่นนี้เทียบได้กับการยัดเยียดข้อกล่าวหาว่าโกหกให้กับนักเรียนคนนั้นเลยทีเดียว ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ดีนักในการหาทางออกและแนวทางแก้ไขสำหรับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังทำให้นักเรียนมีทัศนคติทางลบกับครูผู้สอนที่มองเขาว่าเป็นคนโกหกอีกด้วย ดังนั้นไม่จำเป็นว่าเราจะเชื่อหรือไม่ การรับฟังนักเรียนอย่างตั้งใจและพิจารณาตามความเหสะมน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า การเป็นเบรกการอธิบายของเขาด้วยประโยคแรง ๆ แบบนี้

 

10. เธอคิดว่าเธอเป็นใคร

ประโยคนี้คือการดูถูกอย่างร้ายกาจที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของนักเรียนกับสิ่งที่นักเรียนกำลังกล่าวถึง ซึ่งไม่ควรมีแล้วในระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นของนักเรียนบางครั้งอาจจะไม่เหมาะสมหรือถูกใจครูผู้สอน แต่อย่างไรเสีย มันก็คือหน้าที่ของครูผู้สอนในการชี้แจงให้นักเรียนเห็นถึงมุมมองที่แตกต่างออกไปมากกว่าที่จะใช้ประโยคนี้ ในการปิดกั้นความคิดของเขา ด้วยการบอกว่าเขาเป็นแค่เด็กที่ไม่ประสีประสา ซึ่งมันไม่จริงเลย

 

11. ครูไม่ไหวกับเธอแล้ว

นี่คือประโยคแสดงออกถึงการยอมแพ้และยอมจำนนของครูผู้สอนในการที่ส่งเสริมและพัฒนานักเรียนคนใดคนหนึ่ง ซึ่งมันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไร้ความรับผิดชอบในการดูแลนักเรียน และทำให้นักเรียนรู้สึกว่าครูผู้สอนคนนี้ไม่ต้องการเขาแล้วอีกต่อไป

  

12. ครูไม่ว่าง

ประโยคสั้น ๆ นี้ แสดงให้เห็นถึงระยะห่างระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน ซึ่งมันทำให้นักเรียนรู้สึกว่า ครูผู้สอนนั้นเข้าถึงได้ยาก ทำให้พวกเขาเข้าหาและขอคำปรึกษาจากครูผู้สอนน้อยลง และเป็นการยากที่จะได้รับความร่วมมือที่ดีจากนักเรียน ดังนั้นควรเปลี่ยนจากคำว่าไม่ว่างเป็นคำว่าว่างเสมอสำหรับนักเรียนน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อการส่งเสริมนักเรียนมากกว่า

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างแค่บางส่วนเท่านั้นของถ้อยคำเชิงลบที่ครูผู้สอนมักใช้กับนักเรียนซึ่งมีการใช้มายาวนานกว่าหลายทศวรรษ  มันถึงเวลาเสียทีที่ควรทิ้งคำเหล่านี้ออกไป และเปลี่ยนแปลงแนวทางการสื่อสารของครูผู้สอนกับนักเรียนเสียใหม่ให้มีสัมพันธ์เชิงบวกมากขึ้น เพราะในปัจจุบันครูผู้สอนไม่ใช่ผู้ควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นผู้อำนวยความสะดวกและแนะนำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมด้วยตัวเอง ดังนั้นแทนที่จะพูดแต่เรื่องร้าย ๆ ให้ขุ่นข้องหมองใจกัน สู้พูดแต่ดี ๆ ให้กันจะดีกว่า เพราะอย่างไรเสีย ปากเป็นเอกเลขเป็นโท มันก็เป็นจริงอย่างที่โบราณว่าไว้นั่นแหละครับ

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow