Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดการชั้นเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส

Posted By Plook Teacher | 01 ต.ค. 63
4,009 Views

  Favorite

การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนนั้น นับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งการที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะทางสังคมที่ดี สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนับเป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเรียนรู้ยุคใหม่ ที่เน้นให้นักเรียน เรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรมกลุ่ม ที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถทำงานเป็นทีมได้และมีทักษะในการร่วมมือเพื่อให้สามารถทำงานให้สำเร็จ อันเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในยุคศตวรรษที่ 21

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนนั้น กลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้จะทำให้ผู้เรียนมีโอกาสรับเชื้อจากการติดต่อระหว่างกันได้ เราจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบและแนวทางในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และขณะเดียวกัน ก็ต้องสามารถส่งเสริมการศึกษาได้อย่างเหมาะสมและเทียบเคียงกับการศึกษาในสถานการณ์ปกติให้ได้มากที่สุด

 

ต่อไปนี้คือแนวทางที่อาจจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถจัดชั้นเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส ซึ่งอาจจะนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับการจัดห้องเรียนตามมาตรการ การป้องกันโรค Covid-19 ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและช่วยส่งเสริมให้การศึกษาท่ามกลางปัญหาโรคระบาด สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งแนวทางที่ผู้เขียนจะนำเสนอนั้นมี ดังนี้

 

1. จัดโต๊ะเรียนสำหรับนักเรียนโดยเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ซึ่งในกรณีที่ไม่มีโต๊ะเรียน นักเรียนจำเป็นต้องนั่งพื้น ก็ต้องมีการวัดระยะห่างการนั่งของนักเรียนให้ห่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตรด้วยเช่นกัน รวมถึงมีการทำความสะอาดพื้นและโต๊ะนักเรียนทุกวันด้วยน้ำยาทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
 

2. ชั้นเรียนต้องจัดให้สามารถรองรับนักเรียนได้สูงสุดไม่เกิน 20 คน ซึ่งถ้ามีจำนวนนักเรียนมากกว่านี้ ให้สลับวันมาเรียนหรืออาจเพิ่มห้องเรียนเป็นกรณีพิเศษ โดยในการสลับกันมาโรงเรียนนั้น อาจใช้การเรียนออนไลน์ร่วมกับการเรียนปกติในห้องเรียน ซึ่งครูผู้สอนอาจติดตามนักเรียน โดยใช้ประโยชน์จากการติดต่อสื่อสารออนไลน์ เช่น Line หรือ Facebook และใช้ช่องทางออนไลน์เหล่านี้ ในการส่งเสริมความรู้  รับส่งงาน ปรึกษาหารือและรวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ ของนักเรียน แทนการให้นักเรียนส่งงานเป็นเอกสาร ซึ่งนอกจากจะไม่สะดวกเพราะการมาเรียนที่ไม่สม่ำเสมอแล้ว ยังเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรคจากการรับส่งงานหรือพูดคุยกันโดยตรงอีกด้วย
 

3. ครูผู้สอนต้องกำชับให้นักเรียนเว้นระยะห่างระหว่างกัน ในการติดต่อปฏิสัมพันธ์กัน โดยควรเว้นให้ห่างจากกันไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ซึ่งครูผู้สอน อาจให้นักเรียนพูดคุยกันโดยนั่งอยู่ที่โต๊ะเรียนซึ่งได้จัดโดยเว้นระยะห่างไว้แล้ว หรือ อาจทำเครื่องหมายในจุดต่าง ๆ สำหรับให้นักเรียนยืนพูดคุยกันได้ในระยะที่เหมาะสม

 

4. ครูผู้สอนและนักเรียนควรสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือ Face Shield ตลอดระยะเวลาที่ต้องอยู่ร่วมกันในชั้นเรียน โดยอาจมีการติดป้ายย้ำเตือนเกี่ยวกับการสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือครูผู้สอนอาจเน้นย้ำระหว่างการสอนอยู่เป็นระยะ เพื่อให้นักเรียนเคยชินและสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างสม่ำเสมอ

 

5. ในชั้นเรียนต้องมีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการล้างมือไว้อย่างเหมาะสม เช่น ตั้งอ่างล้างมือไว้ในชั้นเรียน หรือ อาจมีการจัดเตรียมเจลล้างมือให้นักเรียนสามารถใช้ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งครูผู้สอนอาจจะคอยหยดเจลล้างมือให้นักเรียนตามช่วงเวลาที่เห็นสมควร หรืออาจจะใช้เครื่องหยดเจลล้างมือแบบเหยียบหรือแบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยดำเนินการให้เร็วขึ้นได้ ซึ่งครูผู้สอนและนักเรียนควรต้องล้างมือทุก ๆ ชั่วโมง โดยต้องล้างมือให้ครบ 7 ขั้นตอนคือ  ถูฝ่ามือ  ถูหลังมือ  ถูง่ามนิ้วมือ  ถูนิ้วมือ  ถูนิ้วหัวแม่มือ  ถูกเล็บ  และถูกข้อมือ และใช้เวลาในการล้างมือแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 20 วินาที


6. ให้นักเรียนนำอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ เช่น ดินสอ ปากกา ยางลบ น้ำยาลบคำผิด ฯลฯ มาด้วยตัวเอง ซึ่งรวมไปถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม แปรงสีฟัน หรือผ้าเช็คปาก  และกำชับไม่ให้นักเรียนหยิบยืมกันโดยเด็ดขาด เพราะจะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ส่วนในกรณีที่นักเรียนลืมนำอุปกรณ์การเรียนหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นมา ให้ครูผู้สอนจัดหาอุปกรณ์เหล่านั้นสำรองไว้ให้นักเรียน ซึ่งหลังจากการใช้แล้วต้องมีการทำความสะอาด


7. ห้องเรียนควรเป็นห้องที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีลมพัดผ่าน ไม่อึดอัด ควรมีพัดลมเพียงพอเพื่อระบายความร้อน และไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศเพราะเครื่องปรับอากาศอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ และมีโอกาสมากที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายได้ง่ายเมื่ออยู่ในอากาศเย็น และเมื่อใช้ห้องเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้วควรมีการทำความสะอาดเพื่อความปลอดภัยสำหรับการเรียนในครั้งต่อไป


8. ครูผู้สอนควรเน้นกิจกรรมการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนเรียนรู้ส่วนบุคคลเป็นหลัก โดยอาจใช้ประโยชน์อย่างสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ในการให้ความรู้กับนักเรียนเพิ่มเติม ส่วนถ้าจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลุ่ม ควรจัดให้นักเรียนเว้นระยะห่าง หรือถ้าต้องใช้โต๊ะร่วมกัน ควรมีการทำฉากกั้นด้วยพลาสติกใส เพื่อลดการสัมผัสเวลาที่นักเรียนเข้ากิจกรรมกลุ่ม


9. สำหรับชิ้นงานที่ต้องการให้นักเรียนทำเป็นรายบุคคล ควรจัดไว้เป็นชุด ๆ ให้นักเรียนแต่ละคน เช่น อาจแบ่งดินน้ำมันใส่ไว้ในกระปุก หรืออาจใส่วัสดุสำหรับทำงานประดิษฐ์ไว้ในกล่อง เพื่อให้ง่ายต่อการที่นักเรียนนำมาใช้ และหลีกเลี่ยงการสลับสับเปลี่ยนกันซึ่งอาจเป็นสาเหตุในการแพร่ระบาดได้


10. ครูผู้สอนจะต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนในเรื่องของการส่งงานหรือการบ้าน ซึ่งอาจจะให้นักเรียนที่ทำงานเสร็จแล้ว ยกมือขึ้น เพื่อแจ้งให้ครูผู้สอนทราบ แล้วครูผู้สอนเข้าไปตรวจทานความถูกต้องทีละคน หรืออาจจะกำหนดจุดสำหรับให้นักเรียนส่งงานหรือการบ้าน โดยครูผู้สอนต้องจัดเตรียมตระกร้าหรือกล่องไว้ให้นักเรียนนำผลงานหรือการบ้านมาวางทีละคนให้เรียบร้อย ส่วนในการแจกงานให้นักเรียนแต่ละครั้ง ครูผู้สอนจะต้องดำเนินการแจกด้วยตัวเอง ไม่ควรให้นักเรียนเป็นคนมาหยิบ และก่อนที่จะแจกครูผู้สอนต้องล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรค


11. ถ้าพบว่านักเรียนมีอาการไออย่างชัดเจน หรือมีไข้ขณะที่กำลังเรียนอยู่ ให้แยกนักเรียนออกจากห้องเรียน และติดต่อผู้ปกครองในทันทีเพื่อติดต่อเข้ารับการตรวจรักษา รวมถึงเฝ้าระวังนักเรียนในชั้นเรียนคนอื่น โดยให้มีการกักตัวอย่างเหมาะสม จนกว่าจะทราบผลการตรวจรักษาและดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

 

12. ไม่ควรใช้ชั้นเรียนติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง ควรจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำทั้งในและนอกห้องเรียนสลับกัน โดยยังคงเว้นระยะและสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ เพื่อให้เวลาในการทำความสะอาดห้องเรียน และให้นักเรียนได้เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นผลดีต่อการเรียนของนักเรียน

 

ทั้งหมดนี้คือ แนวทางการจัดชั้นเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่ผู้เขียน ได้นำมาใช้ในการจัดชั้นเขียนของผู้เขียนเอง ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้ครูผู้สอนท่านอื่น สามารถจัดชั้นเรียนให้ห่างไกลวิกฤตของ Covid-19 ออกไปได้อีกหลายเท่า

 

สำหรับหลายคนที่มองว่า ประเทศไทยนั้นไม่มีผู้ติดเชื้อมานานแล้ว และเห็นควรที่จะผ่อนปรนมาตรการบางอย่างลงเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น อาจจำเป็นต้องคิดใหม่ แต่อย่าลืมว่า นอกประเทศของเรานั้น Covid-19 ยังคงระบาดอยู่และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เราหย่อนยาน Covid-19 หรือแม้แต่โรคที่อาจจะอุบัติใหม่ในอนาคต ก็อาจจะกลับมาแพร่ระบาดในประเทศของเราอีกก็เป็นได้ ดังนั้นเราจึงต้องระมัดระวังและใส่ใจในมาตรการต่าง ๆ ให้ดี การ์ดอย่าตก เพราะตกเมื่อไหร่เราก็โดนน็อคเมื่อนั้น

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow