Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ว่าด้วยเรื่องของ Proactive และ Reactive

Posted By Plook Teacher | 13 มิ.ย. 62
23,109 Views

  Favorite

นรรัชต์ ฝันเชียร

 

            คราวก่อนผมได้กล่าวถึงเรื่องของ 7 อุปนิสัย สู่การพัฒนานักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในเรื่องนั้น มีกล่าวอยู่ตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของ Proactive และ Reactive ซึ่งคำสองคำนี้ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นการแสดงการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ตรงกันข้ามกัน ซึ่งการตอบสนองทั้งสองแบบนี้มีลักษณะที่แตกต่างกัน อย่างไรแล้วเราจะสามารถนำทั้งสองสิ่งนี้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตัวเองหรือส่งเสริมผู้เรียนได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบครับ

 

            Proactive การตอบสนองเชิงรุก คือ การทำงานเชิงรุก เป็นการทำงานโดยมีการคิดวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อหาวิธีการตอบสนองที่ดีที่สุด ในขณะที่ Reactive เป็นการทำงานเชิงรับ การตอบสนองแบบทันที โดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง เป็นการตอบสนองไปตามอารมณ์ความรู้สึก หรือแบบแผนที่วางไว้แต่เดิม

 

            การเป็นคนที่มีความเป็น Proactive คือ คนที่ตัดสินใจเลือกที่จะทำหรือเป็นเพื่อตอบสนองสิ่งที่ดีที่สุดต่อตนเองและผู้อื่น คนที่มีนิสัยแบบนี้ จะมีความกระตือรือร้น รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และจะไม่รอให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ตัวเขาเองจะเป็นคนทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ส่วนคนที่มีความเป็น Reactive คือ คนที่ให้สิ่งรอบข้าง อารมณ์ ความรู้สึกมีผลต่อการตอบสนองของตนเองและผู้อื่น มองว่าชีวิตได้ถูกกำหนดไว้แล้ว แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างจากนี้ได้ยาก รอให้เรื่องเกิดก่อนแล้วค่อยแก้ไขตามสถานการณ์

 

            จากแนวคิดของทั้ง Proactive และ Reactive จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้โลกเราต้องคนที่มีความเป็น Proactive มากขึ้น เพราะความคิดริเริ่มและความกระตือรือร้นของคนที่ทำงานแบบ Proactive นั้น จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หน่วยงานไหนมีบุคลากรที่มีความเป็น Proactive มากๆ หน่วยงานนั้นก็จะมีแนวโน้มที่จะเติบโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆที่ช่วยตอบสนองต่อการทำงานให้ลุล่วงมากยิ่งขึ้น

 

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกหน่วยงานมักจะต้องการคนทำงานแบบ Proactive แต่ด้วยภาระและลักษณะของหน่วยงานแล้ว กลับกลายเป็นการส่งเสริมการทำงานแบบ Reactive ไปเสีย ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ การทำงานแบบ Reactive ก็คือ การทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม คือทำงานไปวันๆ ไม่กระตือรือร้น ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการพัฒนา ทำงานไปตามแผนที่วางไว้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องริเริ่ม ซึ่งงานที่ต้องใช้การตอบสนองในลักษณะนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย แต่ถึงจะมีมากแค่ไหน งานหนึ่งที่ไม่ควรจะมีเลยคือ การทำงานเป็นครู

 

            หลายคนมักกล่าวว่า งานราชการเป็นงานเช้าชามเย็นชาม คือเน้นการทำงานตามขั้นตอนที่วางไว้ มากกว่าการที่จะให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะรูปแบบของงานราชการส่วนใหญ่นั้นถูกกำหนดด้วยกฎระเบียบและแบบแผนที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ก็ใช่ว่างานราชการทุกประเภทต้องเป็นแบบนั้น เพราะหนึ่งในงานราชการที่ควรจะต้องมีความเป็น Proactive มากกว่า Reactive ก็คือครู

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            งานครูโดยเฉพาะในส่วนราชการ แม้จะเป็นการปฏิบัติราชการตามขั้นตอน แต่ก็จำเป็นต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อออกแบบกิจกรรมการศึกษาที่จะพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องต่อความต้องการของสังคมได้ ดังนั้นครูจึงควรพัฒนาตนเอง รวมไปถึงส่งเสริมผู้เรียน ให้มีความคิดและการกระทำแบบ Proactive อยู่เสมอ คือเน้นการทำงานอย่างกระตือรือร้น สอนให้รู้จักเลือกตัดสินใจ รู้จักมีความคิดริเริ่ม และลงมือทำทันทีโดยไม่ปล่อยให้มีคนสั่งก่อนถึงจะทำ ซึ่งการที่ครูจะพัฒนาตัวเอง รวมถึงส่งเสริมผู้เรียนให้มีความเป็น Proactive ได้นั้น เราจำเป็นต้องปรับพฤติกรรม ดังนี้

 

            1. คิดบวก คิดสร้างสรรค์ ปรับทัศนคติให้เป็นคนคิดเรื่องดี ๆ มองโลกแง่ดี มีมุมมองในเชิงสร้างสรรค์กับทุกเรื่อง ไม่ควรคิดมากกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นตัวบั่นทอนจิตใจ กำลังใจ รวมไปถึงความตั้งใจของเรา

               ลักษณะกิจกรรมที่ส่งเสริม : เน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดบวกหรือมีความคิดสร้าง เช่น ให้ผู้เรียนบอกสิ่งที่ดีของสิ่งของที่กำหนดให้มาคนละ 4-5 ข้อ หรือการให้ผู้เรียนแสดงความคิดสร้างสรรค์ผ่านผลงานต่าง ๆ

 

            2. เป็น “ผู้ให้” มากกว่า “ผู้รับ” คือ ต้องเป็นคนมีจิตสำนึกของการเป็น “ผู้ให้” พยายามคิดถึงองค์กรหรือผู้อื่น เน้นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ได้รับ

               ลักษณะกิจกรรมที่ส่งเสริม : พาผู้เรียนไปร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์หรือเป็นอาสาสมัครต่าง ๆ

 

            3. ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างย่อมต้องเป็นไปได้ คือมีความพร้อมในการรับมือทุกสถานการณ์ มีความเชื่อว่าตัวเราสามารถทำให้เกิดสิ่งต่างๆได้ ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ มีความกล้าและสามารถเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงและผลักดันตัวเองไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ได้

               ลักษณะกิจกรรมที่ส่งเสริม : กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความมุมานะในการทำงานหรือโครงการต่างๆ และคอยช่วยอำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสม

 

            4. วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้และเมื่อวาน การทำงานเชิงรุกนั้นต้องไม่มัวกังวลแต่เรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ควรมองถึงอนาคตมากกว่า พึงระลึกไว้เสมอว่าอนาคตย่อมต้องดีขึ้นกว่าอดีต เรียนรู้จากความผิดพลาด ใช้มันเป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้ผิดพลาดซ้ำ

               ลักษณะกิจกรรมที่ส่งเสริม : เมื่อเกิดข้อผิดพลาด ไม่ควรที่จะตำหนิหรือกล่าวโทษ ควรใช้โอกาสนี้ในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนใช้ความผิดพลาดนั้น มาเป็นบทเรียนในการพัฒนาตัวเอง

 

            5. ทำงานเชิงรุกอย่างยั่งยืน การทำงานเชิงรุกที่ดีควรเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกคน เพราะการทำงานต่าง ๆ ในองค์กรย่อมไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมอยู่เสมอ

               ลักษณะกิจกรรมที่ส่งเสริม : เน้นให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ

 

            จะเห็นได้ว่า ถึงแม้งานที่เราทำอยู่จะมีลักษณะการทำงานแบบ Reactive แต่เราก็สามารถใช้รูปแบบการทำงานแบบ Proactive มาช่วยส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ และต่อไปนึ้คือตัวอย่างของการทำงานที่มีความเป็น Reactive แต่สอดแทรกการทำงานแบบ Proactive ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน

 

            1. ในการอธิบายเรื่องของอาเซียน คุณครูให้นักเรียนไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนมา ซึ่งเด็กทุกคนสามารถหาข้อมูลประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้ครบ (เป็นการทำงานแบบ Reactive) แต่เด็กชายอุดมนอกจากจะรวบรวมข้อมูลประเทศที่เป็นสมาชิกทั้ง 10 ประเทศแล้ว แล้วยังได้หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศสังเกตการณ์อย่าง ปาปัวนิวกินี กับติมอร์-เลสเต ด้วย เพื่อจะได้อธิบายถึงลักษณะของประชาคมอาเซียนได้ดีขึ้น (เป็นการทำงานแบบ Proactive)

            2. เด็กหญิงดาวเรือง กำลังวิ่งเล่นในสนามหน้าโรงเรียน อยู่ก็มีลมพัดอย่างแรงทำให้ขยะในถังขยะหน้าโรงเรียนปลิวเกลื่อนกลาดไปทั่วสนาม คุณครูจึงสั่งให้เด็กๆ ที่อยู่ในสนามช่วยกันเก็บขยะ เด็กหญิงดาวเรืองกับเพื่อนจึงรีบวิ่งไปเก็บขยะนำมาใส่ถังขยะ (เป็นการทำงานแบบ Reactive) เมื่อเก็บเสร็จแล้ว เด็กหญิงดาวเรืองจึงไปหาแผ่นไม้มาปิดถังขยะไว้ เพื่อไม่ให้ลมพัดปลิวอีก (เป็นการทำงานแบบ Proactive)

            3. คุณครูสมชายได้รับมอบหมายจากผู้บริหารให้ออกแบบงานนำเสนอสำหรับการประเมินของโรงเรียน ครูสมชายปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาจนเสร็จเรียบร้อย (เป็นการทำงานแบบ Reactive) และใช้รูปแบบนำเสนอนั้น มาทำเป็นฟอร์มสามารถใส่ข้อมูลเพิ่มเติมลงไปได้ เพื่อเอาไว้ใช้ในงานนำเสนอครั้งต่อไป (เป็นการทำงานแบบ Proactive)

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            ตัวอย่างที่ได้ยกมานี้ น่าจะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นภาพของลักษณะการทำงานแบบ Reactive และ Proactive ภายในโรงเรียนได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย หลายคนมองว่าการทำงาน Reactive นั้นไม่เหมาะสมต่อสังคมยุคใหม่ แต่เชื่อเถอะว่ามีหลายองค์กรที่ยังคงเน้นการทำงานแบบ Reactive อยู่ แต่แม้ในหน่วยงานของเรา จะมีรูปแบบการทำงานแบบ Reactive หรือ Proactive อย่างน้อยที่สุด ตัวของเรานั่นแหละควรที่จะมีลักษณะการทำงานแบบ Proactive และควรที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนในความดูแลของเราให้มีคุณลักษณะแบบเดียวกันด้วย เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ท่ามกลางโลกแบบ Reactive แต่ผมก็เชื่อว่าในอนาคต โลกแบบ Proactive จะกลายเป็นคำตอบในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน รู้อย่างนี้แล้ว เราก็ควรรีบส่งเสริมผู้เรียนให้ทันการณ์ในเรื่องนี้จริงไหมล่ะครับ

 

 

เอกสารอ้างอิง

https://medium.com/@pang_kmk/proactive-vs-reactive-f89b73a067cc

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow