Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยุทธวิธีส่งเสริมการอ่านที่ได้ผลสำหรับชั้นประถมศึกษา

Posted By Plook Teacher | 14 พ.ค. 62
8,745 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

             การอ่านเป็นทักษะพื้นฐานที่ใช้ในการดำรงชีวิต เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการเรียนรู้ โดยองค์การสหประชาชาติได้เสนอให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศช่วยกันรณรงค์ให้ทุกคนในโลกอ่านหนังสือให้ออกทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2543 เพราะตระหนักในความสำคัญของการอ่าน

 

             จากข้อมูลของ NOP World Under Score Index ระบุว่าประเทศไทยใช้เวลาในการอ่าน 9.24 ชั่วโมง โดยเป็นการอ่านผ่านหนังสือพิมพ์ร้อยละ 67.3 อ่านผ่านโซเชียลมีเดีย ข้อความเอสเอ็มเอสและอีเมล์ ร้อยละ 51.6 อ่านความรู้ทั่วไปร้อยละ 51.6 และอ่านวารสารร้อยละ 42 ข้อมูลตรงนี้นับว่าเป็นข่าวดีที่คนไทยเห็นความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น สอดคล้องกับผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ของทุกสังกัด ได้แก่ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช., สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ตชด. โดยภาพรวมของการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนนั้นสูงถึงกว่าร้อยละ 70 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีนักเรียนอีกกว่า ร้อยละ 30 ที่ยังคงมีปัญหาด้านการอ่าน

 

             ดังนั้นเพื่อให้เกิดการส่งเสริมการอ่านอย่างได้ผลในห้องเรียน ผู้เขียนจึงได้รวบรวมวิธีการน่าสนใจในการส่งเสริมการอ่าน จากบทความทั้งในและนอกประเทศ โดยสามารถสรุปออกมาเป็นภาพรวมได้ ดังนี้

             1. จัดให้ภายในห้องเรียนมีการตกแต่งด้วยสื่อส่งเสริมการอ่านต่าง ๆ เช่น แนะนำพยัญชนะ สระ และคำศัพท์สำคัญต่าง ๆ บนผนัง มีการติดป้ายคำศัพท์บนสิ่งของต่าง ๆ ในชั้นเรียน

             2. จัดมุมหนังสือไว้ในห้องและจัดให้มีหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์น่าสนใจเพียงพอกับจำนวนนักเรียน รวมถึงมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งเสริมการอ่าน เช่น คอมพิวเตอร์สำหรับให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ 

 

ภาพ : shutterstock.com

 

             3. สร้างวัฒนธรรมการอ่านในโรงเรียน โดยทำให้นักเรียนรู้สึกว่าการอ่านมีความน่าสนใจและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต การติดโปสเตอร์ชวนนักเรียนอ่านหนังสือหรือใช้ภาพครูและนักเรียนในอิริยาบถการอ่านรูปแบบต่าง ๆ มาประดับทั่วโรงเรียน นับเป็นตัวอย่างที่ช่วยสร้างบรรยากาศนี้ได้

             4. สอนหลักเบื้องต้นในการอ่านให้นักเรียน เพราะก่อนที่เด็กจะอ่านได้นั้น จำเป็นจะต้องรู้หลักการของการอ่านในภาษานั้น ๆ ก่อน ยกตัวอย่าง วิชาภาษาไทย เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่าเวลาสร้างคำศัพท์ในภาษาไทยนั้นต้องประกอบด้วย สระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ถึงจะสามารถสร้างคำได้ จะใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น ก่อนที่นักเรียนจะสามารถอ่านก็ต้องรู้จักหลักการผสมเพื่อให้เกิดคำศัพท์ต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งถ้าเด็กเข้าใจหลักการอ่านในภาษานั้น ๆ แล้ว ก็จะทำให้เด็กสามารถอ่านได้อย่างถูกต้องและเข้าใจมากขึ้น

 

ภาพ : shutterstock.com

 

             5. จัดสรรเวลาให้นักเรียนสำหรับการอ่านอย่างอิสระ โดยกำหนดในตารางเรียนของแต่ละวัน วันละ 15-20 นาที ในการให้เด็กหาหนังสือที่ตัวเองชอบมานั่งอ่านโดยเสรี

             6. ส่งเสริมการอ่านออกเสียง  กิจกรรมที่สำคัญที่สุดในการส่งเสริมการอ่านคือการอ่านออกเสียงให้เด็ก ๆ ฟัง ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่ควรทำเฉพาะที่บ้านอย่างเดียว ควรทำที่โรงเรียนด้วยเช่นกัน การอ่านออกเสียงไม่เพียงแต่สร้างให้ครูเป็นตัวอย่างด้านการอ่านที่ดีให้นักเรียน แต่ยังทำให้นักเรียนมีคลังคำศัพท์ในตัวมากขึ้นอีกด้วย

             7. กระตุ้นให้นักเรียนอ่านอย่างหลากหลาย  บางครั้งนักเรียนมักจะเลือกอ่านตามแนวของเรื่องหรือผู้เขียนที่ชื่นชอบ แต่เราก็ควรกระตุ้นให้นักเรียนอ่านนอกเหนือจากแนวที่พวกเขาชอบด้วย เพื่อให้พวกเขามีคลังคำศัพท์และความรู้พื้นฐานที่กว้างขวางมากขึ้น

             8. ใช้เกมในการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนสนุกและมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน เช่น แข่งกันหยิบป้ายคำศัพท์ตามที่คุณครูบอก หรือ แข่งกันจับคู่ภาพกับคำศัพท์ให้ถูกต้อง เป็นต้น

             9. กระตุ้นให้นักเรียนอ่านอย่างกว้างขวาง  ซึ่งนักเรียนมักจะเลือกอ่านตามแนวของเรื่องที่ตนเองชื่นชอบ แต่เราก็ควรกระตุ้นให้นักเรียนอ่านนอกแนวที่พวกเขาต้องการด้วย เพื่อให้พวกเขามีคลังคำศัพท์และความรู้พื้นฐานที่กว้างขวางมากขึ้น

 

ภาพ : shutterstock.com

 

             10. เชิญวิทยากรจากภายนอกมาอ่านหนังสือหรือบทความที่น่าสนใจให้นักเรียนฟังและสนทนากับนักเรียน โดยอาจจะเป็นคนมีชื่อเสียง สมาชิกในชุมชน หรือผู้ปกครองของนักเรียนก็ได้ เราสามารถทำให้มันสนุกด้วยการประกาศให้วิทยากรที่จะมานั้นเป็น "ผู้อ่านปริศนา" และให้เบาะแสนักเรียนในช่วงสัปดาห์เพื่อให้พวกเขาทาย

             11. ใช้ประโยชน์จากโซเชียลเน็ตเวิร์คในการสร้างลิสต์และรีวิวหนังสือสำหรับความสนใจของนักเรียนในโรงเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนวิจารณ์หนังสือสั้น ๆ และไฮไลท์หนังสือที่เพิ่งอ่าน โดยมีการเพิ่มเติมหนังสือที่น่าสนใจอยู่เสมอ

             12. ตั้งชมรมหนังสือสำหรับนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน โดยทำให้การอ่านเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามชมรมหนังสือเป็นวิธีที่สมบูรณ์แบบในการส่งเสริมการเชื่อมต่อกับหนังสือและการอ่าน นักเรียนสามารถจัดชมรมหนังสือของตนเองภายในห้องเรียนระดับชั้นหรือโรงเรียนได้

 

ทั้งหมดเป็นแนวทางคร่าว ๆ ในการส่งเสริมการอ่านสำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ที่ผู้เขียนคิดว่าสามารถทำได้ไม่ยากนัก และเชื่อแน่ว่ามีอีกหลายแนวที่ผู้อ่านจะสามารถต่อยอดและสร้างสรรค์ได้ ซึ่งคงจะดีไม่น้อยถ้าวิธีการเหล่านั้นจะช่วยพัฒนาเด็กไทยให้มีทักษะการอ่านที่เพิ่มขึ้น อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

 

 

เอกสารอ้างอิง

https://voicetv.co.th/read/2NU4n6i04

https://www.teachthought.com/literacy/25-ways-schools-can-promote-literacy-independent-reading/

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow