Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเรียนรู้แบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

Posted By Plook Teacher | 17 เม.ย. 62
9,328 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

          รูปแบบการศึกษาในระบบปกติ อาจไม่ใช่บทสรุปที่เหมาะสมสำหรับเด็กทุกคนเสมอไป  เพราะด้วยความที่มนุษย์เรานั้นไม่ได้ถูกสร้างมาเหมือนกัน   ทำให้ระบบการศึกษาที่ถูกวางให้เป็นแบบแผนเดียวกันทั้งหมด อาจไม่ได้ตอบสนองให้เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างดีและมีความสุข ด้วยเหตุนี้เองทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับโรงเรียนทางเลือกที่นำแนวคิดและทฤษฎีที่แตกต่างจากระบบโรงเรียนปกติมาใช้ในการจัดการศึกษาขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งช่วยเพิ่มความหลากหลายในรูปแบบการศึกษาอันเป็นประโยชน์กับเด็กทุกคนอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

 

          ในปัจจุบันความหลากหลายทางแนวคิดและทฤษฎีด้านการศึกษาที่น่าสนใจได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นแกนของการเปิดโรงเรียนทางเลือกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มอนเตสซอรี่ ไฮ/สโคป หรือ วอล์ดรอฟ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ปกครองที่จะเลือกสรรโรงเรียนที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กได้ดีและเหมาะสมมากที่สุด และในบรรดารูปแบบโรงเรียนทางเลือกที่มีเปิดสอนในประเทศไทยปัจจุบันนี้ แนวการจัดการเรียนรู้แบบนีโอฮิวแมนนีส คือหนึ่งในแนวการจัดการศึกษาที่ได้รับความนิยม และจะนำมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้

 

ภาพ : shutterstock.com

 

อะไรคือ นีโอ-ฮิวแมนนิส

          นีโอ-ฮิวแมนนิส คือ แนวทางในการพัฒนาคนให้ไปสู่การเป็นมนูษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยใช้วิธีการด้านบวก มีแนวคิดมาจาก พี.อาร์.ซาร์การ์ (P.R.Sarkar) โยคีชาวอินเดีย ซึ่งได้นำศาสตร์ทางตะวันออกผสมผสานเข้ากับศาสตร์ทางตะวันตก เพื่อออกแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก ซึ่งรูปแบบของการพัฒนาตามแนวนีโอ-ฮิวแมนนิสนั้น จะเป็นการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน  ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้

          1. Physically Fit หรือ มีร่างกายที่แข็งแรง ได้สัดส่วน สวยงาม

          2. Mentally Strong หรือ มีจิตใจที่มั่นคง เปิดกว้าง เฉลียวฉลาด

          3. Spiritual Elevated หรือ มีจิตสาธารณะ

          4. Academic Knowledge หรือ มีความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพที่ตัวเองถนัดและต้องการได้

 

ภาพ : pixabay.com

 

หลักการที่สำคัญของนีโอ-ฮิวแมนนิส

          หลักการที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ในรูปแบบของนีโอ-ฮิวแมนนิสต์นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1. คลื่นสมองต่ำ

          ตามแนวคิดนีโอ-ฮิวแมนนิสต์นั้นเชื่อว่าประสิทธิภาพการทำงานของคนเราจะเปลี่ยนไปตามคลื่นสมองที่เราส่งไป ยิ่งเราส่งคลื่นสมองที่ต่ำลงมากเท่าไรยิ่งมีประสิทธิภาพต่อการเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น การที่คนเรามีคลื่นสมองต่ำนั้น หมายความว่า เรากำลังมีความสงบทางจิตใจ มีสมาธิ อารมณ์ดี ใจเย็น มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่ฟุ้งซ่านวอกแวก ซึ่งกิจกรรมที่ช่วยพัฒนานักเรียนเรียนในจุดนี้คือ การฝึกทำโยคะ นั่งสมาธิ ก่อนเข้าห้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาทผ่อนคลาย เป็นกิจกรรมที่สร้างให้เด็กเกิดภาวะคลื่นสมองต่ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการของการพัฒนาศักยภาพของเด็ก เช่น เตรียมความพร้อมให้เขาเรียนหนังสือได้อย่างสบายใจ หรือ กิจกรรมการเล่านิทาน การกอด เสียงเพลง ท่าที หรือแม้แต่คำพูดจากคนรอบข้าง มีส่วนทำให้คลื่นสมองต่ำได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์นั้น ไม่เชื่อเรื่องของการให้เด็กเรียน หรือ เล่น เพียงอย่างเดียว แต่ใช้เวลาควบคู่กันไป เพราะช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงที่สมองของคนเราเจริญเติบโตมากที่สุด จึงควรพัฒนาสมองของเด็กอย่างเหมาะสม  และใช้วิธีการที่จูงใจให้เด็กเรียนรู้ด้วยคลื่นอัลฟาหรือคลื่นสมองต่ำมากที่สุด

 

2. การประสานของเซลล์สมอง

          แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ เชื่อว่าความฉลาดเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมมากกว่าพันธุกรรม ดังนั้นความฉลาดจึงเป็นเรื่องที่สามารถฝึกฝนกันได้ โดยความฉลาดนั้น แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ เชื่อว่า เกิดจากเซลล์สมองประสานเข้าด้วยกัน จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า เซลล์ประสานประสาท ซึ่งถ้าใครมีเซลล์ชนิดนี้มาก คนนั้นจะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ดีและรวดเร็วขึ้น เซลล์ประสานประสาทนี้จะขยายตัวได้ดีเมื่อมีการใช้มือและเท้าซึ่งเป็นอวัยวะที่มีปลายประสาทอยู่มาก ทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงทำให้กิจกรรมตามแนวคิดนีโอ-ฮิวแมนนิสต์นั้น จึงเน้นให้เด็กเรียนและเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน ให้เด็กได้ออกนอกห้อง ปีนป่าย วิ่งเล่น เพื่อให้มือกับเท้าทำงานมากที่สุด

 

 3. ภาพพจน์ของตัวเอง (SELF CONCEPT)

          วัยเด็กเป็นวัยที่มีการรับรู้ในเรื่องจิตใต้สำนึกสูงที่สุด  จึงควรปลูกฝังเรื่องที่ดีและเรื่องที่เป็นด้านบวก ซึ่งจะช่วยให้เด็กจดจำเรื่องที่ดี อันจะช่วยให้เขาพัฒนาชีวิตต่อไปในเชิงบวกได้ ส่วนการดุด่า ต่อว่า หรือสบประมาท เด็กด้วยคำว่า เขาซน เขาไม่เก่ง หรือไม่ดีนั้น จะเป็นการกระตุ้นให้เขาบันทึกแต่เรื่องราวด้านลบ ซึ่งจะส่งผลให้เขาแสดงพฤติกรรมด้านลบออกมาในอนาคตนั่นเอง ดังนั้นบทบาทของครูจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในแนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ นั้น เชื่อว่าพฤติกรรมของครูคือบทเรียนที่ดีที่สุดของเด็ก ดังนั้นคนที่เป็นครูจึงควรแสดงพฤติกรรมและสื่อสารกับเด็กอย่างเหมาะสม

 

4. การให้ความรัก

          การให้ความรักที่เต็มที่กับเด็ก และเขาสามารถรับรู้ได้ จะส่งผลดีต่อการเติบโตของเขา และมีแนวโน้มที่เขาจะเผื่อแผ่ความรัก ไปยังบุคคลอื่น รวมไปถึงสิ่งอื่นด้วย ในทางกลับกันถ้าเด็กรู้สึกขาดความรัก เขาย่อมเรียกร้องต้องการการแสดงออกซึ่งความรัก เพื่อที่จะทำให้เขาได้รับความรัก โดยอาจแสดงออกมาในรูปแบบของการเรียกร้องความสนใจด้วยพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ทำให้คุณครูตามแนวคิดของนีโอ-ฮิวแมนนิสต์นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้คำชมพร้อมทั้งโอบกอด สัมผัสเด็กทุกคนเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักนั่นเอง

 

ภาพ : shutterstock.com

 

          จะเห็นได้ว่า แนวการสอนแบบแนวนีโอ-ฮิวแมนนิสนั้น จะเน้นเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานของสมองเป็นหลัก การประพฤติปฏิบัติตนของครู การเลือกใช้คำกับเด็ก การวางกิจกรรมอย่างเหมาะสมต่อการทำงานของสมอง ล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก และมีผลทำให้เด็กเก่ง ฉลาด แข็งแรง มีความคิดด้านบวก มีน้ำใจ และมีความสุขด้วย จึงนับเป็นแนวการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่น่าศึกษาและน่านำมาประยุกต์ในการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง

เอกสารอ้างอิง

http://www.rakluke.com/school-zone/11/56/1361/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD-%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%8C

http://taamkru.com/th/%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA/

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow