Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีในการจัดเรียงนักเรียนเพื่อทำงานกลุ่ม

Posted By Plook Teacher | 27 มี.ค. 62
26,695 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

             การทำงานเป็นกลุ่มนั้น นอกจากจะทำให้นักเรียนเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันภายในกลุ่มแล้ว ยังช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ความคิดเห็นของผู้อื่น เรียนรู้ที่จะรับฟัง เสนอแนะ และบริหารจัดการกันภายในกลุ่ม เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายแล้วนั้น ในการจะจัดนักเรียนเข้ากลุ่มนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการทำงานกลุ่ม เพราะถ้าสามารถจัดกลุ่มนักเรียนได้อย่างเหมาะสม จะทำให้นักเรียนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดปัญหา  ซึ่งรูปแบบของการจัดเรียงนักเรียนเพื่อทำงานกลุ่มนั้น เราสามารถจะดำเนินการได้มากมายดังนี้

 

ให้นักเรียนจับกลุ่มด้วยตัวเอง

            การเชื่อใจและปล่อยให้นักเรียนจับกลุ่มกันเองนั้น สามารถทำได้ง่าย และช่วยให้นักเรียนรู้สึกสบายใจในการทำกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ข้อจำกัดในการจับกลุ่มลักษณะนี้คือ การขาดองค์ความรู้ใหม่ที่หลากหลาย เพราะส่วนใหญ่เมื่อให้นักเรียนจับกลุ่มกันเอง ก็มักเลือกที่จะจับกลุ่มกับเพื่อนที่สนิทและรู้จักกันมากกว่า ซึ่งจะทำให้นักเรียนไม่ได้รับฟังความคิดเห็นใหม่ๆจากคนอื่นๆ  และนอกจากนี้ การจับกลุ่มลักษณะนี้อาจส่งผลกระทบกับนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่ค่อยสนิทกับใคร ซึ่งอาจจะโดนปฏิเสธให้เข้ากลุ่มจนส่งผลเชิงลบด้านความรู้สึกกับนักเรียนคนดังกล่าวได้ ซึ่งทางแก้ไขที่ดีที่สุด คือการกำหนดเงื่อนไขในการจับกลุ่มด้วยตัวเอง เช่น ให้นักเรียนจับกลุ่มกันเอง โดยต้องมีจำนวนผู้ชายและผู้หญิงในกลุ่มเท่ากัน เป็นต้น

 

ภาพ : shutterstock.com

 

กำหนดกลุ่มให้นักเรียนล่วงหน้า

            บางครั้ง เราอาจต้องการให้นักเรียนเข้ากลุ่มตามความเหมาะสมที่เราตั้งไว้มากกว่าที่จะให้นักเรียนเลือกกันเอง การกำหนดกลุ่มให้นักเรียนล่วงหน้าจึงเป็นแนวทางที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยให้รวดเร็วแล้วและง่ายต่อการดำเนินการแล้ว ยังสามารถกำหนดตัวแปรซึ่งช่วยให้ครูผู้สอนได้ทราบข้อมูลในการศึกษาหรือวิจัยนักเรียนได้อีกด้วย เช่น เราอาจจะเลือกจับกลุ่มนักเรียนตามลำดับผลการเรียน หรือจับกลุ่มโดยการคละคนเก่งกับคนอ่อน ซึ่งทำให้เราได้ข้อมูลในการส่งเสริมการศึกษาอย่างเหมาะสมมากขึ้น

 

จับกลุ่มตามพื้นที่

            การจัดกลุ่มตามพื้นที่คือการที่ให้พื้นที่มีบทบาทต่อการจัดเรียนนักเรียนเพื่อทำงานกลุ่ม ซึ่งเหมาะมากกับโรงเรียนที่มีสถานที่จำกัดและจำเป็นต้นจับกลุ่มในเวลาอันสั้น เช่น ให้นักเรียนจับกลุ่มตามแถวหรือโต๊ะที่นั่ง หรือ จับกลุ่มโดนให้หันหาเพื่อนที่อยู่ด้านหลัง เป็นต้น

 

ใช้ข้อมูลส่วนตัวในการจับกลุ่ม

            การจับกลุ่มตามข้อมูลส่วนตัวนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายมากในการดำเนินการ เพราะทุกคนล้วนทราบดีถึงข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง เช่น วันเดือนปีเกิด หรือตัวเลขที่เกี่ยวข้องอย่างเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลตรงนี้มาให้นักเรียนจับกลุ่มได้ เช่น จับกลุ่มตามเดือนเกิด หรือจับกลุ่มตามตัวเลขสุดท้ายของเบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี วิธีการนี้อาจทำให้เราควบคุมจำนวนในการจับกลุ่มได้ ยาก ทำให้อาจจะมีกลุ่มที่มีสมาชิกมาก และบางกลุ่มที่มีสมาชิกน้อย หรือไม่มีเลยก็เป็นได้ ดังนั้นในการใช้วิธีนี้ เราจึงต้องแน่ใจก่อนว่า ข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนนั้นกระจายตัวมากพอที่จะนำมาใช้ในการจับกลุ่ม

 

ภาพ : shutterstock.com

 

จับกลุ่มด้วยกิจกรรม

            เป็นการใช้กิจกรรมเข้ามามีบทบาทในการจับกลุ่ม เช่น นับหนึ่งถึงห้าแล้วให้นักเรียนจับกลุ่มตามตัวเลขที่นับได้ หรือ ให้นักเรียนทำกิจกรรมตามเพลงสันทนาการจนได้เป็นกลุ่ม นอกจากจะทำให้การจับกลุ่มเป็นเรื่องที่สนุกสนานแล้ว ยังช่วยให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรมมากขึ้นอีกด้วย

 

จับกลุ่มแบบโต้วาที

            การโต้วาที คือ การที่มีคนสองฝ่ายคือฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน มาโต้วาจากันตามเวลาที่กำหนดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อโน้มน้าวผู้ฟังให้คล้อยตาม ซึ่งฝ่ายไหนทำได้ดีกว่าก็จะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งสมัยก่อนได้รับความนิยมอย่างมากจนมีการจัดแข่งขันทั้งในระดับบุคคลทั่วไปและในระดับโรงเรียน ซึ่งเราสามารถเอาหลักการของการโต้วาทีมาจัดกลุ่มนักเรียนได้ โดยคุณครูอาจกำหนดหัวข้อ ซึ่งอาจใช้ข่าวสารทั่วไป แล้วให้เด็กเลือกว่า ในหัวข้อนี้ เป็นเรื่องเหมาะสมหรือควรคัดค้าน แล้วให้เด็กแยกกลุ่มตามความเห็นของตัวเอง ซึ่งวิธีนี้มีประโยชน์มากในการจับกลุ่มเพื่อให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่ไม่ได้มีข้อสรุปว่าผิดหรือถูก อันจะช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นระหว่างกันทั้งความเห็นที่คล้อยตามและความเห็นที่แตกต่างด้วย

 

ภาพ : shutterstock.com

 

จัดกลุ่มแบบสุ่ม

            การจัดกลุ่มแบบสุ่ม เป็นการจัดกลุ่มอิสระโดยใช้ความน่าจะเป็นในการจับกลุ่ม เพื่อลดอคติต่างๆทั้งจากตัวนักเรียนและตัวคุณครูที่อาจจะส่งผลต่อการเลือกจับกลุ่มได้ ซึ่งวิธีนี้อาจใช้อุปกรณ์ต่างๆที่หาได้ในห้องเรียน มาช่วยในการสุ่ม เช่น ให้เลือกหยิบดินสอในกล่องแล้วให้เด็กจับกลุ่มตามสีของดินสอที่จับได้ หรือ อาจจะใช้แอปพิเคชั่นในสมาร์ทโฟนที่เกี่ยวข้องกับการจับกลุ่มมาช่วยในการจัดกลุ่มก็ได้ นอกจากนี้เราอาจจะดำเนินการให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยการที่เขียนชื่อของนักเรียนทุกคนในห้องลงในกระดาษและใส่รวมกันขวดโหล จากนั้นคุณครูหยิบขึ้นมาทีละ 1 ใบ เป็นใคร ให้เขียนชื่อไว้บนกระดาษ เรียงลำดับ หนึ่ง สอง สาม แทนจำนวนกลุ่มที่ต้องการ เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นวิธีสามารถดำเนินการได้หลากหลายตามความต้องการ

 

            ทั้งหมดนี้คือ วิธีในการจัดเรียงนักเรียนเพื่อทำงานกลุ่มที่ได้รวบรวมเอาไว้เป็นข้อมูลสำหรับเพื่อนครูในการนำไปใช้ เพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสามารถนำไปใช้ได้ตามแนวทางการจัดกิจกรรมหรือบริบทพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคุณครูในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่น่าสนใจต่อไปในอนาคต

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow