Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การศึกษาที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child-centric Education)

Posted By pimchanok pangsoy | 01 ต.ค. 61
10,733 Views

  Favorite

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com,http://www.kriengsak.com

 

             ตลอดระยะเวลาการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยเราตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จนกระทั่งปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าพัฒนาดีขึ้นตามลำดับ พร้อมกับมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามบริบทสภาพแวดล้อมทางสังคมอย่างเป็นพลวัต แม้บางช่วงระยะเวลาต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานบ้าง

 

             ที่ผ่านมาประเทศไทยในระยะหลังเรามีความพยายามปฏิรูปการศึกษาเป็นระยะเวลามากกว่า ๒๐ ปี การปฏิรูปดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบเชิงบวกทำให้เกิดความทั่วถึงเชิงปริมาณ ประชาชนเข้าถึงการศึกษามากขึ้น แต่หากพิจารณามิติเชิงคุณภาพกลับพบว่า การศึกษาของประเทศไทยเรายังด้อยคุณภาพหรือต่ำกว่ามาตรฐานอยู่มากทุกระดับตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนกระทั่งระดับอุดมศึกษา

 

             จากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการพบว่า แต่ละปีรัฐทุ่มงบประมาณทางการศึกษาเป็นจำนวนมหาศาล แต่การบริหารจัดการงบประมาณดังกล่าวยังไม่สามารถสร้างให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนทางด้านการศึกษา สะท้อนให้เห็นบางส่วนจากปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ยังขาดคุณภาพไม่สามารถจัดการศึกษาได้ตามมาตรฐาน ระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษาผลิตกำลังคนไม่สอดคล้องตรงกับความต้องการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีบัณฑิตว่างงานจำนวนมากในแต่ละปี เหล่านี้เป็นตัวอย่างสภาพปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นระยะเวลายาวนานในระบบการศึกษาของประเทศ

 

             สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นนำสู่ประเด็นคำถามสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาที่พึงประสงค์ภายใต้สภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงของประเทศและสถานการณ์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตที่การศึกษาถูกคาดหวังให้ต้องทำบทบาทหน้าที่เป็นแหล่งผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการและสนับสนุนทิศทางการพัฒนาประเทศ เป็นที่พึ่งให้แก่ประเทศชาติและสังคมทางด้านการพัฒนากำลังคนอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฟินแลนด์ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา เป็นต้น

 

             การเสริมสร้างสมรรถนะและพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพจึงเป็นประเด็นสำคัญทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพและการทำงาน หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวนี้ อาทิ ประเทศฟินแลนด์ การศึกษามีเป้าหมายมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะที่สามารถรองรับกับโลกยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต ประเทศสวีเดน โรงเรียนมีการร่วมมือกับสถานประกอบการและสถาบันอุดมศึกษา จัดการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงาน การเลือกวิชา และอาชีพในอนาคต ให้แก่เด็กนักเรียน  

 

             ปัจจุบันแวดวงการศึกษาและวิชาการมีการให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child-centred Education) อันเป็นลักษณะของการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเป็นความสำคัญสูงสุดในกระบวนการเรียนการสอน เคารพผู้เรียนแต่ละบุคคลและความแตกต่างของผู้เรียน อาทิ การจัดบรรยากาศการเรียนการสอนให้ผู้เรียนค้นพบความรู้ด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งระหว่างผู้เรียนกับครูผู้สอนและระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง การให้ผู้เรียนเลือกทำโครงงานตามความถนัดและความสนใจ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีอิสระ เป็นต้น โดยครูผู้สอนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ของตนเองให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนการสอนดังกล่าว อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ครูผู้สอนโดยส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนตนเองไปเป็นผู้อำนวยความสะดวกทางด้านการเรียนรู้ เป็นต้น  

 

             แม้ว่าการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญดังกล่าวนี้จะมีความสำคัญ แต่การเตรียมผู้เรียนให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตที่ตลาดการแข่งขันคาดว่าจะมิได้ขึ้นอยู่กับแรงงานราคาถูกอีกต่อไป แต่จะขึ้นอยู่กับแรงงานที่มีสมรรถนะและศักยภาพตามที่ตลาดต้องการ การศึกษาในฐานะเป็นแหล่งสร้างกำลังคนที่สำคัญต้องเป็นเครื่องมือเปลี่ยนผ่านสมรรถนะกำลังคน พัฒนาตนเองสู่การเป็นการศึกษาที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child-centric Education) อันจะเป็นประโยชน์ช่วยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพอย่างเต็มที่ เป็นผู้เรียนที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์แท้จริง

 

             การศึกษาที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นการศึกษาที่มีกระบวนการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนรายบุคคล มุ่งเสริมสร้างสมรรถนะและส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นพบและได้รับการพัฒนาตรงตามศักยภาพของตนเองมากที่สุด ทั้งนี้การนำความคิดการศึกษาที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นศูนย์กลางดังกล่าวนี้มาใช้กับบริบทของประเทศไทยควรมีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดของห้องเรียนที่มีความเหมาะสม อันจะมีส่วนช่วยให้ครูผู้สอนรู้จักและสามารถพัฒนาผู้เรียนลงลึกเป็นรายบุคคลได้อย่างแท้จริง

 

             กล่าวโดยสรุปก็คือ การจัดการศึกษาของประเทศเราควรเป็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการสนองตอบความต้องการของตลาดแรงงานที่คาดว่าจะมีความเฉพาะเจาะจงและชัดเจนมากยิ่งขึ้นในอนาคต เป็นการศึกษาที่มีส่วนเสริมสร้างสมรรถนะ และช่วยให้ผู้เรียนค้นพบและได้รับการพัฒนาตรงตามศักยภาพของตนเองมากที่สุด อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อตัวผู้เรียนเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตที่ศักยภาพการแข่งขันของประเทศมิได้ขึ้นอยู่กับการมีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับการมีแรงงานที่มีสมรรถนะและศักยภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๕๑). ระบบการศึกษาของ ราชอาณาจักรสวีเดน. กรุงเทพฯ : วี.ที.ซี. คอมมิวนิเคชั่น. Darling, John. (1994). Child-Centred Education and Its Critics. London : Paul Chapman.

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • pimchanok pangsoy
  • 1 Followers
  • Follow