Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ครูในอุดมคติของนักเรียน

Posted By Plook Teacher | 24 ก.ย. 61
72,441 Views

  Favorite

นายนรรัชต์  ฝันเชียร

ครู ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ พุทธศักราช 2556 ได้ระบุความหมายเอาไว้ว่า

        “ครู หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน”

 

        จากความหมายของครูในขั้นต้นนี้ เราจะสังเกตเห็นสิ่งสำคัญสองส่วน อันได้แก่ ส่วนแรกคือ การที่ครูเป็นวิชาชีพ และส่วนที่สองคือครูมีหน้าที่หลักด้านการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้กับผู้เรียน ทั้งสองส่วนนี้นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบอาชีพครูเลยก็ว่าได้

 

        อาชีพครูถือได้ว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูงตามกฎหมายอาชีพหนึ่ง ที่ที่จำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะเฉพาะในการทำงาน ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพครูได้นั้นจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพที่ออกโดยคุรุสภา ซึ่งเป็นองค์กรสภาวิชาชีพครูมีหน้าที่ในการกำกับดูแลสมาชิกในองค์กร เพื่อให้ครู เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีจิตวิญญาณ และดำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณวิชาชีพอันเหมาะสม สิ่งนี้ทำให้อาชีพครูผู้สอนในโรงเรียนใช่ว่าทุกคนจะสามารถเป็นได้ และแม้ว่าปัจจุบันจะมีการผ่อนปรนให้กับผู้ที่สนใจจะมาเป็นครูแต่ไม่ได้เรียนครูมาเฉพาะสามารถที่จะสมัครเข้าทำงานได้ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพตามที่กำหนดซึ่งเป็นการรักษามาตรฐานวิชาชีพอย่างหนึ่ง

        นอกจากนี้ เรื่องของการจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของครูก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในความหมายของคำว่า ครู เพราะในปัจจุบันบทบาทของครูในโรงเรียนจะเปลี่ยนแปลงไปตามทฤษฎีการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ที่เน้นให้ครูกลายเป็นผู้แนะนำและให้คำปรึกษามากกว่าการเป็นผู้ป้อนข้อมูลความรู้ให้เฉกเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งผลจากทฤษฎีนี้ ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการคิด เรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแม้ว่าระบบการศึกษาของไทยจากมีทิศทางการพัฒนาเช่นนี้ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังยกให้ครูเป็นตัวแปรสำคัญในส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนอยู่ดี ซึ่งครูมีคุณภาพ ก็มีแนวโน้มจะส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณภาพการไปด้วยและจากความคาดหวังนี้ ทำให้ครูเป็นที่จับตามองอย่างมากในการส่งเสริมการศึกษา และหนึ่งในความคาดหวังตรงนั้น คือความคาดหวังของผู้เรียนที่มีต่อครูผู้สอน

 

ภาพ : shutterstock.com

 

        ครูในอุดมคติของนักเรียนเป็นอย่างไร ก่อนที่เราจะตอบคำถามนี้ เราต้องมาดูที่ความหมายของครูในอุดมคติตามแนวคิดของนักการศึกษากันก่อน ซึ่ง เฮลซอง และวีคส์(Hessong and Weeks. 1987: 457-463) ได้แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับครูในอุดมคติเอาไว้ว่า จะต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

        1. มีความรอบรู้ (Being Knowledgeable)

        2. มีอารมณ์ขัน (Being Humorous)

        3. มีความยืดหยุ่นผ่อนปรน (Being Flexible)

        4. มีวิญญาณความเป็นครู(Being Upbeat)

        5. มีความซื่อสัตย์(Being Honest)

        6. มีความสามารถทำให้เข้าใจได้ชัดเจนและรวบรัด (Being Clear and Concise)

        7. เป็นคนเปิดเผย (Being Open)

        8. มีความอดทน (Being Patient)

        9. ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี(Being a Role Model)

        10. สามารถนำความรู้ทางทฤษฎีไปปฏิบัติได้(Being Able to Relate Theory to Practice)

        11. มีความเชื่อมั่นในตนเอง (Being Self-Confident)

        12. มีความสามารถพิเศษในศิลปะและวิทยาการหลาย ๆ ด้าน (Being Diversified)

        13. แต่งกายเรียบร้อย สะอาด สง่าผ่าเผย และมีสุขอนามัยส่วนตัวดี(Being Well Groomed and Having Good Personal Hygiene)

 

ภาพ : shutterstock.com

 

        ซึ่งจากคุณลักษณะที่ เฮลซอง และวีคส์ ได้หยิบยกมานั้นจะเห็นได้ว่า ครูที่ดีนั้น ต้องเป็นผู้มีทัศนคติที่ดีต่อผู้เรียน เป็นผู้รอบรู้ มีทักษะในการถ่ายทอด และต้องดำรงตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้เรียนด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย คราวนี้เรามีดูถึงครูในอุดมคติของนักเรียนกันบ้าง เรื่องนี้ขออ้างอิงจากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลในหัวข้อ “ครูแบบไหนที่เด็กต้องการ”ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ ความเห็นจากเด็กอนุบาล เด็กประถมศึกษา  เด็กมัธยมศึกษา และเด็กอาชีวะศึกษา ในเด็กอนุบาล ความต้องการของนักเรียนที่มีต่อครูส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของการแสดงออกของครูต่อผู้เรียน คือ อันดับแรก ชอบครูที่มีความใจดี ไม่ดุ รองลงมาคือ รักเด็ก และสวย น่ารัก พูดเพราะตามลำดับ ต่อมากในระดับประถมศึกษา ครูที่ไม่ดุ ไม่ตี ไม่บ่น ยังคงเป็นความต้องการอันดับแรก ถัดมา คือ นิสัยดี อารมดี ยิ้มแย้ม และท้ายที่สุดคือ การสอนดีและสอนสนุก ส่วนในระดับมัธยมศึกษานั้น เรื่องของการถ่ายทอดความรู้และการรับฟัง กลายเป็นเรื่องที่ผู้เรียนอยากได้จากครู โดย ครูที่ใจดี มีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ เป็นอันดับหนึ่ง สองเข้าใจง่าย ไม่เครียดเป็นอันดับสอง และเข้าใจเด็ก รับฟังความคิดเห็น ยุติธรรม มาเป็นอันดับสาม และท้ายที่สุดในเด็กอาชีวะศึกษา ที่มีความคล้ายคลึงกับเด็กมัธยมศึกษาค่อนข้างมาก คือ อันดับแรก เน้นครูที่ดีมีคุณธรรม สอนเก่ง มีความรู้ มีทักษะ เป็นอันดับสอง และเอาใจใส่เข้าใจรับฟัง เป็นอันดับสาม จากผลวิจัยนี้ เราสามารถสรุปคุณลักษณะของครูที่ในอุดมคติของนักเรียนได้ ดังนี้

        1. ใจดี ไม่ดุ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

        2. เอาใจใส่และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียน

        3. มีเหตุผล รักความยุติธรรม ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสิน

        4. มีความรู้ มีทักษะ สามารถถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้กับผู้เรียนได้อย่างดี เข้าใจง่าย และสนุกสนาน

        5. ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาไพเราะ เป็นแบบอย่างที่ดีกับผู้เรียน

        จะเห็นได้ว่าครูในอุดมคติของนักเรียนนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างจากคุณลักษณะที่นักการศึกษาตั้งไว้ หรือผิดแปลกไปจากจรรยาบรรณวิชาชีพครูเท่าไหร่นัก ดังนั้นการที่ครูสามารถปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณวิชาชีพได้นั้น ก็นับว่าเป็นการก้าวสู่การเป็นครูในอุดมคติของนักเรียนได้เช่นเดียวกัน และยังถือเป็นครูในอุดมคติที่ดีชาติอีกด้วย

 

อ้างอิงจาก

Hessong, R. F., & Thommas, H. W. (1987). Introduction to education. New York: Macmillan.

โพล : ครูแบบไหน? ที่เด็กไทยต้องการ สวนดุสิตโพล 15 มกราคม 2561

ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ พุทธศักราช 2556. (2556, 4 10). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 130 ตอนพิเศษที่ 130 ง. หน้า 73

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow