ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้สนใจทุกท่านในฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่องการเลื่อนเงินเดือน ซึ่งเดิมตาม พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งฯ พ.ศ.๒๕๔๗ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ได้กำหนดโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการครูฯ เป็นแบบขั้นเงินเดือน ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ พ.ศ.๒๕๔๗ ที่ได้กำหนดให้การรับและการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูฯเป็นแบบขั้นเงินเดือนด้วยเช่นกัน
ต่อมา พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นมา ได้ปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการครูฯให้เป็นโครงสร้างเงินเดือนแบบช่วงโดยกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำและขั้นสูงในแต่ละอันดับเงินเดือนไว้ ทำให้สามารถบริหารค่าตอบแทนโดยเลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละตามผลการปฏิบัติงานภายในวงเงินงบประมาณที่กำหนดได้ยืดหยุ่นขึ้นไม่มีข้อจำกัดการเลื่อนเงินเดือนตามขั้นที่กำหนดอัตราเงินเดือนไว้ก่อนล่วงหน้าซึ่งสอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.๒๕๕๑โดยมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.เงินเดือนเงินวิทยฐานะ ฯ(ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๕๔ได้กำหนดให้อัตราเงินเดือนข้าราชการครูฯเป็นไปตามบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงท้ายพระราชบัญญัติและตามมาตรา ๖ กำหนดว่า ในระหว่างที่ ก.ค.ศ. ยังมิได้ปรับอัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะฯให้สอดคล้องกับอัตราเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง ให้ข้าราชการครูฯได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะฯ ตามหลักเกณฑ์ฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่งในขณะนั้น การรับและการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูฯ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ พ.ศ.๒๕๔๗ ยังไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับระบบโครงสร้างเงินเดือนแบบช่วง โดยมาตรา ๗๓ ยังคงกำหนดให้ข้าราชกการครูฯเลื่อนขั้นเงินเดือนอยู่เช่นเดิม ก.ค.ศ. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ ฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๔ กำหนดให้ข้าราชการครูฯ เลื่อนขั้นเงินเดือนตามบัญชีเงินเดือนชั่วคราว และได้ดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูฯ ตามมาตรา ๗๓ ให้สอดคล้องกันตลอดมา แต่การดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ จนกระทั่ง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๘ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นมา และได้กำหนดมาตรการเร่งรัดไว้ในมาตรา ๕ ด้วยว่า ให้ข้าราชการครูฯ เลื่อนเงินเดือนตามบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูฯ ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ) ทั้งนี้ โดยตามมาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ. เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๘ ได้กำหนดว่า ในกรณีที่ ก.ค.ศ.ยังมิได้ปรับอัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ ฯ ของข้าราชการครูฯ เพื่อให้เข้าสู่อัตราตามบัญชีเงินเดือนแบบช่วงที่กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำสูงได้เป็นเหตุให้ยังคงต้องใช้บัญชีอัตราเงินเดือนแบบขั้นซึ่งทำให้ไม่เป็นการสอดคล้องกับอัตราเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงตามมาตรา ๕ ให้ข้าราชการครูฯ ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้รับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์ฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนดและโดยที่ในขณะนั้นยังมีความจำเป็นต้องใช้บัญชีอัตราเงินเดือนแบบขั้นต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าการปรับปรุงแก้ไขการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูฯ ตามมาตรา ๗๓ และกฎ ระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันจะแล้วเสร็จ ก.ค.ศ. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๘ กำหนดให้ข้าราชการครูฯ ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเลื่อนขั้นเงินเดือน โดยใช้บัญชีเงินเดือนชั่วคราว ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ ๐๒๐๖.๗/ว ๘ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ และกฎ ระเบียบ ฯ ที่เกี่ยวข้องมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมา เมื่อ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๑๖/๒๕๖๐ ข้อ ๗ กำหนดให้แก้ไขคำว่า “ขั้นเงินเดือน” ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูฯ เป็นคำว่า “เงินเดือน” ทุกแห่ง มีผลให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูฯ ตามมาตรา ๗๓ เปลี่ยนเป็นการเลื่อนเงินเดือนซึ่งสอดคล้องกับระบบเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงทำให้สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเร่งรัดตามมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๘ ได้ ก.ค.ศ. จึงเสนอ (ร่าง) กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูฯ พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) กฎ ก.ค.ศ. ดังกล่าวแล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ ๓๖/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๐ โดยขณะนี้ (ร่าง) กฎ ก.ค.ศ. ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับรายละเอียดและผลการดำเนินการเป็นประการใดจะได้นำมาบอกกล่าวกับท่านที่สนใจในโอกาสต่อไป
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.