นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ประชุมร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) 38 แห่ง โดยที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการผลิตครู เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึง มรภ.ให้เน้นการผลิตครูที่มีคุณภาพ และที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่องการปรับระบบการผลิตครูจากเดิม 5 ปี ลดเหลือเพียง 4 ปี ตามที่สภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เสนอ ซึ่งถือว่ายังไม่ได้ข้อสรุป แต่ที่ประชุมได้มีการอภิปรายข้อดี-ข้อเสียอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม หากดูจากกรณีศึกษาในต่างประเทศจะพบว่า เมื่อระบบไม่ลงตัวก็สามารถมีการผลิตหลายระบบได้ เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องมาวัดกันที่ผลผลิต
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีการนำเสนอผลการวิจัยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับการผลิตครูหลักสูตร 5 ปี ซึ่งพบว่ามีจุดอ่อนที่เน้นเนื้อหา ไม่ใช่สมรรถนะ เด็กต้องเสียเวลาเรียนเพิ่มขึ้น 1 ปี โดยมีผลวิจัยมาเทียบเคียงว่า เด็กที่จบหลักสูตร 5 ปี กับ 4 ปี มีคุณลักษณะไม่แตกต่างกัน และจากข้อมูลการผลิตครูพบว่า ในแต่ละปีมีการผลิตครูถึง 5 หมื่นคน โดยมีค่าใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อคนต่อปี ฉะนั้นหากเด็กต้องเรียนเพิ่มขึ้น 1 ปีในหลักสูตร 5 ปี ทั้งเด็กและรัฐจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มกว่า 8 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความคิดเห็นว่าการผลิตครูขึ้นอยู่กับกระบวนการ โดยยกตัวอย่างการผลิตครูตามโครงการคุรุทายาท ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตครูที่เข้มข้นโดยใช้ระยะเวลาเพียง 4 ปี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าคิดในการนำมาพิจารณาถึงกระบวนการผลิตครูที่ชัดเจนต่อไป
"ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าการปรับระบบการผลิตครูเหลือ 4 ปีนี้ ไม่ใช่ความต้องการหรือข้อเสนอของของผม แต่เป็นความต้องการของสภาคณบดีฯ ที่เสนอมาให้พิจารณา ดังนั้นเรื่องนี้กลุ่มวิชาชีพจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ใช่ รมว.ศธ.เป็นผู้ตัดสินใจ เพราะผมไม่มีสิทธิ์ ส่วนที่ตั้งเป้าว่าระบบการผลิตใหม่นี้จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไปนั้น ขอยืนยันว่าระบบการผลิตครูที่ได้รับการพัฒนาใหม่นี้จะทันใช้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน เพราะหากตกลงไม่ได้และต้องมี 2 ระบบ ก็จะต้องไม่ทำให้ผู้เรียนหลักสูตร 5 ปีและ 4 ปีได้รับผลกระทบ โดยที่ประชุมมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะจัดสัมมนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทปอ.มรภ. ส.ค.ศ.ท. และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุดต่อไป" รมว.ศธ.กล่าว.