ศธ.-สมศ.ร่วมมือกันเขย่าการประเมินคุณภาพสถานศึกษาใหม่ "ปลัด ศธ." เผยต่อไปไม่มีการประเมินภายในจากต้นสังกัด ให้สถานศึกษาเป็นผู้ประเมินตัวเองในกรอบมาตรฐานร่วม และจะมีการส่งคณะผู้ประเมินลงพื้นที่ตรวจสอบ หากมีจุดอ่อนจะทำแผนพัฒนาร่วมกับสถานศึกษา เปิดประชาพิจารณ์มาตรฐานประเมินใหม่เดือน ก.ค. คาดเริ่มประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ได้ ต.ค.นี้ พร้อมทั้งเริ่มจากสถานศึกษาที่สมัครใจ
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือร่วมกับผู้บริหารของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และคณะทำงานที่รับผิดชอบเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาจากทุกองค์กรหลักของ ศธ. ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการเชื่อมโยงการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก โดยในหลักการ การประกันคุณภาพการศึกษาต่อไปไม่เน้นเรื่องเอกสารหลักฐาน แต่เป็นการประเมินเชิงคุณภาพ โดยการพูดคุยและสังเกต และในการประเมินรอบต่อไป ที่ประชุมกำหนดว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ประเมินสถานศึกษาทุกแห่ง แต่จะแบ่งการประเมินออกเป็น 3 แบบ คือ 1.ดูจากเอกสาร 2.ลงพื้นที่สถานศึกษา ตรวจมาตรฐานบางเรื่อง และ 3.ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่ ซึ่งจากนี้ สมศ.จะส่งร่างกรอบมาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษาในทุกระดับชั้นตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงอุดมศึกษามาให้ ศธ.พิจารณายืนยัน เพื่อเห็นชอบเป็นกรอบมาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษาร่วมกัน และจากนั้น สมศ.ดำเนินการสร้างความเข้าใจ การรับรู้ให้กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งรูปแบบการประเมินและวิธีการประเมินใหม่ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะทำการอบรมผู้ทรงคุณวุฒิที่จะลงพื้นที่ประเมินสถานศึกษาอย่างเข้มข้น
ปลัด ศธ.อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ต่อไปนี้จะไม่มีมาตรฐานหรือการประกันคุณภาพภายในโดยต้นสังกัดอีกแล้ว แต่จะใช้เพียงมาตรฐานเดียวในการประเมิน ซึ่งสถานศึกษาก็ต้องมาดูว่าตัวเองจะต้องพัฒนาหรือทำอะไรให้เป็นไปตามมาตรฐานบ้าง และจะต้องเขียนรายงานการประเมินตัวเองส่งมาให้ต้นสังกัดพิจารณา จากนั้นต้นสังกัดพร้อมด้วย สมศ.จะจัดคณะผู้ประเมินลงพื้นที่สถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินของ สมศ. ผู้เชี่ยวชาญที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษาที่มาจากต้นสังกัด และกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา ทำหน้าที่ประเมินว่าสถานศึกษาว่าสามารถทำได้ตามมาตรฐานหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานก็จะมีการแนะนำในด้านต่างๆ และหากพบว่าสถานศึกษาใดมีจุดอ่อนที่จำเป็นต้องพัฒนา คณะผู้ประเมินก็จะร่วมทำแผนพัฒนากับสถานศึกษา และต้นสังกัดจะมีงบประมาณเพื่อพัฒนาให้ เพราะจากนี้การประเมินคุณภาพจะไม่ใช่การชี้ว่าสถานศึกษาเป็นอย่างไร แต่จะมุ่งพัฒนาสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยกรอบมาตรฐานก็จะออกมาให้ลักษณะกว้างๆ เพื่อให้แต่ละสถานศึกษาต้องนำกรอบมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า สำหรับองค์ประกอบของการประเมินรูปแบบใหม่ จะดูถึงคุณภาพของผู้เรียน คุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพการบริหาร และคุณภาพการประกัน เช่น คุณภาพการเรียนการสอนที่จะต้องสอดคล้องกับเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ ที่จะมีเรื่องวิธีการสอน การจัดและบริหารชั้นเรียน การพัฒนาตัวเอง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ สมศ.จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ทำประชาพิจารณ์ และเดือนสิงหาคมจะอบรมผู้เชี่ยวชาญที่จะลงพื้นที่ประเมิน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบที่ 4 ได้ประมาณเดือนตุลาคม ทั้งนี้ สถานศึกษาที่จะเข้ารับการประเมินตามกรอบมาตรฐานใหม่ในครั้งแรก จะมาจากความสมัครใจและมาจากทุกสังกัด.