ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ตลาดแรงงานมักจะหดตัวตาม บริษัทใหม่รับคนน้อยลง มีการแข่งขันสูงขึ้น และมีแนวโน้มเลิกจ้างมากกว่าจ้างเพิ่ม นั่นหมายความว่า การหางานใหม่อาจไม่ง่ายเหมือนก่อน และเราอาจต้องใช้เวลาว่างงานนานขึ้น หากไม่เตรียมตัวดีพอ
แต่ในขณะเดียวกัน หากงานที่เราทำอยู่ ทำให้เรารู้สึกหมดไฟ รายได้ไม่พอใช้ หรือไม่มีโอกาสเติบโต การเปลี่ยนงานก็อาจเป็นทางรอดที่คุ้มค่า หากเราประเมินอย่างรอบคอบ
ก่อนลาออกควรถามตัวเองว่า เรามีเงินสำรองพอใช้กี่เดือนหากยังหางานไม่ได้ ? โดยทั่วไปควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 3-6 เดือนของค่าใช้จ่ายประจำ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น หางานนานเกินคาด หรือเจองานใหม่ที่เงินเดือนน้อยกว่า
หากบริษัทเรามีแนวโน้มลดพนักงาน หยุดขึ้นเงินเดือน หรือมีข่าวการเงินไม่มั่นคง การเตรียมย้ายงานอาจเป็นเรื่องจำเป็น แต่ถ้าบริษัทเรายังมั่นคง รายได้พออยู่ได้ และมีโอกาสเติบโต ลองพิจารณา “อยู่ต่อเพื่อความมั่นคง” ไปก่อนในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง
ก่อนตัดสินใจลาออก ควรสำรวจว่า อุตสาหกรรมของเรายังเปิดรับพนักงานอยู่หรือไม่ ? ใช้แพลตฟอร์มอย่าง JobThai, JobsDB เพื่อดูว่าตำแหน่งที่สนใจมีความต้องการในตลาดแค่ไหน หากมีน้อย หรือมีการแข่งขันสูง อาจต้องเลื่อนแผนลาออกออกไปก่อน
หากเรายังไม่มีงานใหม่ หรือข้อเสนอที่มั่นคงจริง ๆ การลาออกทันทีอาจทำให้เราตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ลองวางแผน B ไว้ เช่น รับจ๊อบอิสระ พัฒนาทักษะใหม่ หรือหาแหล่งรายได้เสริมเพื่อรองรับระหว่างเปลี่ยนงาน
งานใหม่ที่เสนอตัวเลขรายได้ดีกว่า อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป ลองถามตัวเองว่า งานนี้พาเราไปสู่เป้าหมายระยะยาวได้ไหม ? ถ้ามีโอกาสเติบโตได้เรียนรู้ และอยู่ในสายอาชีพที่ยังมีอนาคต อาจเป็นการเสี่ยงที่คุ้มค่า
การเปลี่ยนงานในช่วงเศรษฐกิจไม่แน่นอน ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรเป็นการตัดสินใจที่มาพร้อมการวางแผน มีข้อมูล และประเมินตนเองอย่างรอบด้าน ยิ่งเรารู้จักตัวเองมากเท่าไร โอกาสพลาดก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น