Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ขันติธรรม ธรรมะดับเพลิงทุกข์ พระนิพพานที่ไม่ใกลสุดเอื้อม โดยสมเด็จพระสังฆราช

Posted By มหัทธโน | 02 ก.พ. 65
7,338 Views

  Favorite

ขันติธรรม ธรรมะดับเพลิงทุกข์ พระนิพพานที่ไม่ใกลสุดเอื้อม

โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนหลักการแห่ง ‘ขันติธรรม’ เพื่อเป็นหลักเผยแผ่พระศาสนา และการดำรงตนของพุทธบริษัท

ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

แปลว่า ‘ขันติ เป็นเครื่องเผาผลาญบาปธรรมอย่างยิ่ง’

 

‘ขันติ’

หมายถึง ‘ความอดทนอดกลั้น’

มีลักษณะ คือความข่ม มีรส คือความอดทนต่อสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ

มีสภาพที่ปรากฏ คือความอดกลั้นหรือความไม่โกรธ

มีพื้นฐานคือความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

 

ทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกต่างมีสัญชาตญาณรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น และก็เป็นธรรมดาที่ทุกชีวิตจำต้องเผชิญความทุกข์โทมนัส สลับกับความสุขโสมนัส หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เสมอ จะหาบุคคลผู้มิต้องประสบกับ ‘โลกธรรม 8’ กล่าวคือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และทุกข์ ในโลกนี้ เป็นอันมิมีเลย

 

ผู้ตระหนักรู้ในความจริงเช่นนี้ จึงพึงสั่งสมบ่มเพาะกำลังแห่งขันติไว้สำหรับใช้ระงับยับยั้ง และต้านทานโลกธรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในท่ามกลางวิกฤติการณ์ ซึ่งรุมเร้าเข้าสู่บ้านเมืองและโลกของเราทุกวันนี้ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้รักษาร่างกายและจิตใจให้ยังคงความผาสุก สามารถอดทนอดกลั้นต่อทุกขเวทนาทางกาย ถ้อยคำจาบจ้วงล่วงเกิน คำติฉินนินทาว่าร้าย และความเสื่อมลาภเสื่อมยศ ซึ่งหลงยึดถือไว้ว่าเป็นตัวเราของเราเสียได้

 

อย่างน้อยแม้จะเจ็บใจเพียงใด แต่ก็ไม่เผลอแสดงอาการหุนหันพลันแล่นออกมาทางกายหรือทางวาจาจนเสียกิริยาอาการอันดี

บุคคลผู้สามารถดำรงขันติธรรม คือความอดทนอดกลั้นไว้ได้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้เสงี่ยมงดงาม ถือธรรมะเป็นใหญ่ กิเลสตัณหาไม่อาจทำอันตราย

เมื่อเป็นได้ดังนี้แล้ว ย่อมประสบความสงบร่มเย็น ระงับความดิ้นรนทะยานอยาก การที่สามารถดับเพลิงทุกข์เป็นคราวๆ ได้ เสมือนว่าได้ถึงพระนิพพานเป็นคราวๆ เป็นบทพิสูจน์ให้พุทธบริษัทรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า พระนิพพานมิใช่ธรรมะอันสุดเอื้อม

 

จากพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา 26 กุมภาพันธ์ 2564

โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

แหล่งข้อมูล
ข่าวในพระราชสำนัก
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow