Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมเทคนิคป้องกันลูกให้ห่างไกลจากโรคพยาธิ

Posted By Plook Parenting | 06 ต.ค. 64
4,658 Views

  Favorite

โรคพยาธิในเด็ก พบได้ค่อนข้างบ่อย เพราะเด็กโดยเฉพาะวัยเด็กเล็กเป็นวัยที่ค่อนข้างซุกซน มักหยิบของเข้าปาก อมนิ้ว หรือระหว่างวิ่งเล่นในสนามหญ้าก็เอามือจับหน้าจับตา ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนมีส่วนให้พยาธิเข้าสู่ร่างกายลูกได้ทั้งสิ้น

 

พยาธิ เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์และสัตว์ คอยแย่งอาหาร ดูดเลือด และมักจะทำให้เกิดอันตรายต่อคนหรือสัตว์ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่มันอาศัยอยู่ พยาธิมีมากมายหลายชนิดแตกต่างกันไป และสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลากหลายวิธี อาทิ ทางปาก ทางผิวหนัง หรือทางสายรกในครรภ์ เป็นต้น

 

ภาพ : Shutterstock

 

พยาธิที่มักพบบ่อยในเด็ก

1. พยาธิเข็มหมุด (พยาธิเส้นด้าย)

มักเข้าสู่ร่างกายของลูกผ่านทางปาก พบมากในเด็กเล็กหรือเด็กทารกที่ชอบเอาของเข้าปาก หรือเด็กที่ชอบอมนิ้ว อาการที่พบคือ ปวดท้อง คันที่บริเวณรูทวารหนักตอนกลางคืน เพราะพยาธิจะเข้าไปอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ และวางไข่บริเวณรูทวารหนัก

2. พยาธิปากขอ

เป็นพยาธิที่ชอนไชเข้าผิวหนังได้ พบมากในเด็กที่เดินเท้าเปล่าบนพื้นดินที่ไม่สะอาด หรือมีไข่พยาธิปนเปื้อน อาการที่พบคือ เห็นรอยชอนไชของพยาธิตามผิวหนังและอวัยวะต่าง ๆ มีอาการคันหรือผื่นขึ้นบริเวณที่พยาธิไชเข้าร่างกาย

3. พยาธิตัวตืด

เป็นพยาธิที่้เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์หรือผักสดที่ไม่สะอาด ปรุงไม่สุก แล้วมีการปนเปื้อนของไข่พยาธิตัวตืด ทำให้พยาธิเข้าสู่ร่างกายทางปาก และเข้าไปฟักตัวอยู่ภายในร่างกาย อาการที่พบคือ ปวดท้อง มวนท้อง คลื่นไส้ รับประทานอาหารเยอะขึ้นแต่น้ำหนักลดลง

4. พยาธิไส้เดือน

มักพบได้ในผักสด หรือน้ำที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ หรือเด็ก ๆ ที่เล่นตามพื้นดินที่ปนเปื้อนไข่พยาธิแล้วนำมือหยิบอาหารเข้าปากโดยไม่ล้างมือ อาการที่พบส่วนใหญ่ไม่รุนแรง อาจมีการไอเรื้อรัง หายใจถี่ คลื่นไส้ ท้องเสีย น้ำหนักลด เป็นต้น

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีป้องกัน

1. ล้างมือให้สะอาด

หลังจากกลับจากนอกบ้าน หรือการเล่น การทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรล้างมือลูกให้สะอาดทุกครั้ง โดยล้างน้ำเปล่าก่อน แล้วตามด้วยการถูสบู่ ควรถูให้ครบทุกซอกมุมของมือ จากนั้นเช็ดด้วยผ้าสะอาด แล้วจึงอนุญาตให้หยิบจับอาหาร ช่วยเตรียมอาหาร และใช้ห้องน้ำต่อจากนี้ได้

2. ล้างผักผลไม้ให้สะอาด

บางครั้งไข่พยาธิก็ปนเปื้อนมากับผักและผลไม้สด คุณพ่อคุณแม่ควรล้างผักผลไม้ให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร

3. ปรุงอาหารให้สุก

ไม่ควรรับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เพราะในอาหารเหล่านั้นอาจมีไข่พยาธิปนเปื้อนมาได้ ควรปรุงอาหารในแต่ละมื้อให้สุก และสะอาดในทุกขั้นตอน

4. ดื่มน้ำสะอาด

ในน้ำก็อาจมีไข่พยาธิปนเปื้อนอยู่เช่นกัน ควรให้ลูกดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการกรองหรือการต้มมาแล้วจะดีที่สุด

5. ดูแลรักษาบริเวณที่ลูกเล่นให้สะอาดอยู่เสมอ

เพราะเมื่อลูกเล่นของเล่นต่าง ๆ อาจมีการหยิบเข้าปากโดยที่ผู้ปกครองไม่เห็นได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความสะอาดบริเวณที่ลูกเล่น หรือของเล่นของลูกให้สะอาดอยู่เสมอ และทุกครั้งหลังเล่นเสร็จควรพาลูกไปล้างมือเพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจปนเปื้อนอยู่

6. สอนลูกเรื่องสุขอนามัยในการใช้ห้องน้ำ

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกใช้ห้องน้ำอย่างถูกสุขลักษณะตั้งแต่เล็ก ๆ ให้ลูกขับถ่ายเป็นที่เป็นเวลา และล้างมือทุกครั้งก่อนออกจากห้องน้ำ

 

วิธีการรักษา

เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกมีอาการผิดปกติ หรือสันนิษฐานว่ามีพยาธิอยู่ในร่างกายลูก ไม่ควรซื้อยาถ่ายพยาธิมากินเอง ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัย และหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

 

การรักษาสุขอนามัยของลูกและทุกคนในบ้านอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยให้ห่างไกลจากเหล่าพยาธิแล้ว ยังช่วยให้ห่างไกลจากเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อโควิด-19 ได้อีกด้วย

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow